“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ตีโจทย์ภารกิจปี 2567 Responsible Lending

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ตีโจทย์ภารกิจปี 2567 Responsible Lending

Date Time: 1 ม.ค. 2567 14:20 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Latest


เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีทิศทางอย่างไร เมื่อตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ จนปัจจุบันหากสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ระดับศักยภาพอยู่ตรงไหน หลายคนก็บอกว่า มันลดลงจาก 10 ปีที่ผ่านมา 


#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในประเด็นใหญ่ ทั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน และการร่วมพัฒนานวัตกรรมตอบรับกับโลกผันผวน มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


จำนวนแรงงานไม่โต ประสิทธิภาพของแรงงานต้องโต


ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ กะเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย พร้อมยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอลงเมื่อเทียบในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนแรงงาน และการลงทุนลดลง 


หากต้องการให้เศรษฐกิจโตในขณะจำนวนแรงงานลดลง ก็คือต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เพิ่มคุณภาพแรงงาน และเพิ่มการลงทุน ต้องลงทุนกับการพัฒนาการศึกษา แต่อย่างที่เห็นว่า คะแนน PISA ของเด็กไทยครั้งล่าสุด หรือถ้าจะรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มกำลังแรงงาน ก็จะมีผลข้างเคียง ดังนั้นเรื่องการเติบโตของแรงงานจึงต้องใช้เวลา 


ส่วนด้านการลงทุน การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ หรือเปิดให้มีโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ต้องมีการปลดล็อกตรงนี้ 


“ต้องมีการปลดล็อกกฎระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่มันไม่เอื้อให้ของใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะผมว่ามันยากที่รัฐบาลหรือใครจะนั่งบอกว่ามันต้องไปลงทุน ดังนั้นต้องสร้างโอกาส ต้องปล่อยให้กลไกทำงาน ให้คนเนี่ยลองอะไรใหม่ๆ เพราะอะไรที่มันโต มันก็จะไปได้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว


เดินหน้า Responsible Lending แก้หนี้ครัวเรือน


ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นอีกเรื่องที่ไม่อาจแก้ไขได้ภายในเร็ววัน และเป็นเรื่องค่อนข้างท้าทาย เพราะต้องรักษาสมดุลหลายอย่าง เพราะมันมีโจทย์ของคนเข้าถึงสินเชื่อ กับการเข้าถึงสินเชื่อเร็วเกินไป กับการดูแลเศรษฐกิจ คือสำหรับคนไม่มีปัญหา เราก็อยากให้คนเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อให้มีเงินทุน 


แต่ในช่วงโควิด เราก็จำเป็นต้องพักหนี้ ทั้งที่เราก็รู้ว่าหนี้ไม่ได้หายไป แต่ในสถานการณ์นั้นก็ต้องดูแลด้วยวิธีนั้น ต้องบาลานซ์การแก้ปัญหากับการป้องกันผลข้างเคียง


แต่สถานการณ์ตอนนี้ เมื่อโควิดคลี่คลาย สิ่งที่ ธปท.จะทำคือการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง 

เพราะลูกหนี้หลายคนติดอยู่ในกับดักหนี้ จ่ายดอกเบี้ยเยอะกว่าเงินต้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น การแก้ปัญหานี้ก็ต้องเริ่ม เพราะบางคนเป็นลูกหนี้มา 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น อีกเรื่องคือการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ 

ธปท.จึงมีเกณฑ์ 2 ต้อง และ 1 ห้าม คือ หนึ่ง ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ก่อนจะเป็นหนี้เสีย สอง ต้องปรับโครงสร้างหนี้เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้เสียแล้วอีกครั้ง และ 1 ห้าม คือ ห้ามขายหนี้เสียของลูกหนี้ไปบริหารที่อื่น ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ 


โดยมาตรการแก้ปัญหานี้ ธปท.เรียกว่าการทำสินเชื่อเป็นธรรม หรือ Responsible Lending แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็มีความท้าทาย เพราะ 30% หนี้ครัวเรือนไม่ได้เป็นหนี้ภายใต้สถาบันการเงินที่ ธปท.กำกับดูแล

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หนุน Responsible Innovation

ส่วนเรื่อง Virtual Bank ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เล่าว่า ทุกอย่างยัง on track หลักการของการทำสิ่งเหล่านี้คือ การเปิดให้มีของใหม่ มีผู้เล่นรายใหม่ การแข่งขันรูปแบบใหม่ และสร้างนวัตกรรม


ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 5 พันล้าน และให้ใบอนุญาตเพียง 3 รายนั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า ยอมรับว่าทุนสูงทำให้รายเล็กเข้ามายาก แต่ถ้าทุนต่ำไปก็มีข้อเสียเยอะกว่า เพราะในต่างประเทศเราก็เห็นว่าบางรายเปิดไปแล้วก็ไปไม่รอด ดังนั้นในฐานะผู้กำกับดูแล ธปท. ต้องทำให้มั่นใจว่าทุนของธุรกิจนี้มีเพียงพอ เพื่อดูแลผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น 


อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ธปท.ต้องการสนับสนุน Responsible Innovation สร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์ ไม่ใช่สร้างเพื่อสักว่าให้มีนวัตกรรมเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ธปท.ต้องกำกับแบบเหมาะสมกับความเสี่ยง คือเสี่ยงมากก็กำกับเข้ม เสี่ยงน้อยก็พยายามปล่อย แต่เราก็อยากทำให้มั่นใจว่าได้สร้างราวกั้น ดังนั้นเรื่องกำหนดทุนจดทะเบียนบริษัทไว้สูงก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนให้ 3 ใบอนุญาต ก็คาดว่าเป็นจำนวนที่พอเหมาะที่จะไม่เยอะจนสร้างปัญหา หรือสร้างผลกระทบได้

โลกผันผวนต้องสร้างภูมิ พร้อมรับทุกสถานการณ์

ตลอดการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ดร.เศรษฐพุฒิ บอกว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ก็ผ่านอะไรมาเยอะ เจอช็อกสารพัด ทั้งโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำราคาน้ำมันพุ่ง เงินเฟ้อพุ่งกระฉูด ส่งผลให้ดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวขึ้นในสปีดที่ไม่ได้เห็นกันมาก่อน และเป็นการขึ้นพร้อมกันในประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินต่างๆ 


นี่คือสิ่งที่เราผ่านมา ส่วนในระยะข้างหน้า โลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และมองว่าจะเจอช็อกอะไรอีกบ้าง หรือมาจากไหน หน้าที่ของผู้กำกับดูแลคือการสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องมีบัฟเฟอร์เพื่อรองรับความเสี่ยงเหล่านั้น


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money