"ไทยจะถูกล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี" คุยกับ ปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ AI สัญชาติไทย

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

"ไทยจะถูกล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี" คุยกับ ปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ AI สัญชาติไทย

Date Time: 30 ธ.ค. 2566 21:29 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • Thairath Money พูดคุยกับ ‘บิ๊ก-ปริชญ์ รังสิมานนท์’ อดีตนักลงทุนกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ ที่มาร่วมก่อตั้ง Looloo Technology สตาร์ทอัพด้าน Deep Tech และ AI สัญชาติไทย เพื่อช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับทั้งองค์กร และประเทศไทยให้ทัดเทียมต่างชาติได้ ถึงความเสี่ยงจากการมาของ AI ต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต อะไรคือสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง

Latest


ปี 2023 ที่ผ่านมา Generative AI ถือเป็นเทคโนโลยีแห่งปีที่ทั่วทั้งโลกมีการพูดถึงกันมาก  ไม่ว่าจะทั้งในระดับบุคคล องค์กร ตลอดจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศ และแน่นอนว่า ปี 2024 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงเช่นกัน เพราะมันเป็นเทรนด์ของโลก ที่จะกลายเป็นภาคบังคับให้ทุกคนต้องยอมรับและปรับใช้ ถึงจะอยู่รอดได้ในโลกอนาคต

โดยสิ่งที่น่าจับตาไม่ได้เป็นเพียงความตื่นเต้นจากพัฒนาการเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่กลับเป็นมิติของผลกระทบ และการปรับตัว ที่ AI ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของผู้คนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ต่อมาคือ ตลาดแรงงาน และท้ายที่สุดทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อ ‘ศักยภาพการแข่งของประเทศ’ ในที่สุด 

Thairath Money พูดคุยกับ ‘บิ๊ก-ปริชญ์ รังสิมานนท์’ จากอดีตนักลงทุนกองทุนสำรองระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (Goverment of Singapore Investment Corporation) กลับมาประเทศไทย รวมตัวกับทาเลนต์ที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก จาก passion ที่มีต่อบ้านเกิด บวกกับ pain point ที่รอได้รับการแก้ไข จึงได้ร่วมก่อตั้ง Looloo Technology สตาร์ทอัพด้าน Deep Tech และ AI สัญชาติไทย เพื่อช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับทั้งองค์กร และประเทศไทยให้ทัดเทียมต่างชาติได้ 

ความเสี่ยงที่สุดจากพัฒนาการของเทคโนโลยี AI ที่นับวันมันยิ่งเก่งขึ้น มองว่าอะไรคือคนไทยต้องตระหนักและกังวลไปกับมัน?

สิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนไทยในทุกวันนี้ คือ ผมกลัวว่าคนไทยจะตกราง ที่บอกแบบนี้ให้ลองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ว่า ขณะที่ digital  transformation ต่างชาติก็พูดเป็น 10 ปีมาแล้ว ทุกวันนี้มี Open AI ทุกคนพูดถึง AI พอเราเริ่มคุยกับหลายๆ องค์กรในเมืองไทยปรากฏว่ายังอยู่ที่การเก็บ data อยู่เลย 

ดังนั้นถ้าให้มองผมไม่ได้กลัวเลยนะว่า AI จะครองโลกเพราะมันยังเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งมันจะมาหรือไม่มา ก็ไม่แน่ใจ แต่วันนี้สิ่งที่มาแล้ว ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ในขณะนี้เป็นช่วงการล่าอาณานิคม (colonization) ที่สมัยก่อนเหมือนอังกฤษหรือยุโรป ประเทศต่างๆ เข้าไปล่าอาณานิคมด้วยปืน ด้วยความสามารถทางเทคโนโลยี ในขณะที่อีกหลายประเทศ รวมถึงไทยเองตอนนั้นยังมีดาบอยู่เลย ฝรั่งจะมายึดเมืองเขามาด้วยปืนไม่กี่กระบอก แต่เราไม่ต้องไปกลัวสิ่งที่เป็นอำนาจของกระบอกปืน เพราะสิ่งที่ต้องกังวลคือ ขณะที่คนอื่นเขามีปืนกันหมดแล้ว แต่เราไม่มีอะไรเลย ผมว่าเราต้องกลัวตรงนี้มากกว่าว่า เราจะสู้กับต่างชาติอย่างไร globalization มันมา ที่ต่อให้แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องของภูมิรับศาสตร์ก็ตามแต่ ต่างชาติมาหมดแล้ว แต่ตอนนี้ปัญหาที่ผมกลัวเลยก็คือ  เมืองไทยไม่มีอะไรเลย 

ปีที่แล้วเป็นปีที่อเมริกา ยุโรป ลงทุนใน Generative AI เยอะมาก  ขณะที่เมืองไทยส่วนใหญ่ยังมีความสับสนอยู่ว่าจะเอาไปใช้กับองค์กรอย่างไร มี data ที่จะเอาไปพัฒนามันต่อหรือไม่ เพราะฉะนั้นผมว่า level ของ competitive ที่ AI สามารถสร้างให้กับองค์กรมันเยอะมาก แต่ถ้าเรา adopt ยิ่งช้า ความเสี่ยงที่จะตามไม่ทันคู่แข่งมันเยอะมาก  

“พัฒนาการของ AI ในอนาคตเรื่องของผลกระทบต่อมนุษยชาติมันน่ากลัวก็จริง แต่ ณ ตอนนี้ที่น่ากลัวมากกว่าคือ เราตามคนอื่นไม่ทัน แล้วมันก็จะมีการตกราง หรือว่าอย่างที่สอง คือ กระโดดลงไปโดยที่ยังไม่รู้อะไรเลย”

สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่ฝรั่งเข้ามากินรวบอาณานิคมของเทคโนโลยี และมันไม่ใช่แค่เหมือนช่วง Facebook Google มาครองไทยอันนั้นก็น่ากลัวแล้ว แต่ในยุคของ AI มันกลับเป็นการที่บริษัทต่างชาติมาเมืองไทย มันเหมือนกับตอนนี้เขามาสู้ด้วยปืน มีอาวุธอย่างที่ดี  มาสู้กับคนไทยที่ยังใช้ลางสังหรณ์ หรือ gut feeling อยู่ ดังนั้นในยุคต่อจากนี้การแข่งขันมันไม่ได้เหมือนเดิม เพราะถ้าแข่งกับคนที่เขารู้ โอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุน เทียบกับการใช้ลางสังหรณ์ ผมมองว่านี่คือความน่ากลัว และจะทำให้แพ้บริษัทในหลายๆ ที่ นอกจากนี้อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ภาค SME ของไทย ที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มใช้ data เลย ผมว่า AI คือ ทุกคนอยากทำ แต่บริษัทเล็กยังไม่ได้ทำ ความสามารถในการแข่งขันก็จะยิ่งห่างออกไปอีก 

AI เข้ามาเปลี่ยนภาพตลาดแรงงาน คนอาจจะตกงานเพิ่มขึ้นขนาดไหน มีมุมมองกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง?

ผมมองว่า ปัญหาเรื่องของการเอา AI มาแทนแล้วคนตกงานมันกระทบอยู่แล้ว แต่เท่าที่สังเกตในเมืองไทยทุกวันนี้ ยังไม่ได้เห็นชัดในเรื่องของการเอา AI ใช้ แล้วเลย์ออฟ แต่จะเป็นการย้ายบทบาทของการทำงานมากกว่า แต่ผมมองถึงความเสี่ยงที่มากกว่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไทยต้องเริ่ม reskill  ตัวเองด้วย ตรงนี้สำคัญมาก 

“ทุกวันนี้หลายคนพูดถึง AI ในเชิงว่ามันดี มันเจ๋ง แต่ถ้าถามว่ามีสักกี่คนที่ได้ลองฝึกใช้มันมาช่วยยกประสิทธิภาพการทำงานอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เห็นประโยชน์ของมันชัดขนาดนี้  ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าตกใจมาก เพราะในอนาคตถ้าเกิดมีการนำ AI มาใช้สักพัก ต้องบอกว่าถ้ายังไม่เริ่มปรับตัว เหนื่อยแน่นอน มันก็มีความเสี่ยงเรื่องการแทนที่แรงงานอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกัน” 

ในเมื่อการนำ AI มาใช้มันพิสูจน์ให้เห็นผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นชัดเจนขนาดนี้ แล้วคนที่ยังไม่ได้ reskill เขาจะทำอย่างไร ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นโจทย์ และอีกปัญหาที่สำคัญ คือ ภาษาอังกฤษ ที่คนไทยจะต้องรีบ upskill ด้วย 

ดังนั้นในช่วงเวลานี้การ upskill เป็นสิ่งสำคัญ มันเหมือนกับว่าทุกวันนี้คนที่มีความรู้อยู่ในองค์กรมา 10 ปีอาจจะมีความรู้น้อยกว่าคนที่เขาใช้ ChatGPT ถาม knowledge management ขององค์กรเป็น ซึ่งคุณอาจจะรู้น้อยกว่าเขาก็ได้ เพราะการเสิร์ช การถามคำถาม การเข้าถึงข้อมูลมันง่ายขึ้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่ต้อง reskill ตัวเอง  

ในปี 2024 มองว่าเราจะได้เห็น AI จะเข้ามามีบทบาทกับการทำงานในองค์กรอย่างไรบ้าง?

ปี 2024 เราจะได้เห็นการใช้งาน และ use case ที่ชัดเจนของ Generative AI มากขึ้น เพราะอย่างในปี 2023 ที่ผ่านมาได้ Generative AI มีการพูดถึงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่หลายบริษัทต่างมีความกระตือรือร้นที่จะนำมาใช้เป็นพิเศษ เพราะมันเป็นอะไรที่เมื่อเอามาใช้แล้ว improve productivity ได้จริง

เทียบกับสมัยก่อนที่เรามีการใช้เครื่องคิดเลขในการคิดคำนวณ สุดท้ายมันก็จะเริ่มมี Excel เข้ามา มี Lotus เข้ามา วิวัฒนาการในการใช้งานมันก็จะเป็นไปในลักษณะแบบนั้น 

ในปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการพูดถึงกันค่อนข้างมาก แต่มันมีคนส่วนน้อยมากที่ได้ทดลองใช้ แต่ปีหน้ามองว่าจะเป็นปีที่คนจะเริ่มเอามาใช้จริงมากขึ้น ผมมองว่าจะเริ่มเห็นในแชตบอทมาก และ call center มากขึ้นก่อน และอีกอัน คือ  data ในองค์กรโดยเฉพาะ dashboard ผู้บริหาร 

จากเมื่อก่อน เมื่อผู้บริหารต้องการกราฟอะไรสักอย่าง ต้องไปขอให้ฝ่าย IT  สร้างมาให้ ซึ่งใช้ระยะเวลาหลายวันกว่าที่จะได้มานั่งประชุม มานั่งถกไอเดีย แต่ ณ วันนี้ไม่ต้องแล้ว ถาม Generative AI ไปเลย โดยที่ไม่ต้องรอให้ฝ่าย IT ทำกราฟมาให้ สามารถเข้าถึง Data ขององค์กรได้เลย จะเห็นการ deployment Generative AI มากขึ้น  และเมื่อองค์กรมีการ empower เรื่อง data ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือ making decision ของผู้บริหารที่เร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ฝากทิ้งท้าย ประเทศไทยจะต้องปรับตัวในด้านใดอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะไม่ตกราง และมีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมประเทศอื่นได้?

สิ่งสำคัญมากๆ ที่ผมอยากฝาก คือ ประเด็นเรื่องการศึกษา จากที่เห็นข่าวเรื่องคะแนน PISA ของประเทศไทยที่ออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ตรงนี้น่าเป็นห่วง การศึกษาต้องเริ่มเปลี่ยนแล้ว ยกตัวอย่างการมาของ ChatGPT เรื่องของการศึกษา ไม่ใช่ว่าจะต้องมาให้เด็กนั่งทำข้อสอบเพื่อตอบ แต่ ณ ตอนนี้ที่โลกมันเปลี่ยนไปแบบนี้ จะต้องเป็นการถามคำถามอย่างไรให้คอมพิวเตอร์ตอบได้  แม้ว่าปัญหาแต่ก่อน คือ การค้นหาข้อมูล แต่ตอนนี้คือการถามคำถามที่ใช่ เพราะฉะนั้น การศึกษาทุกอย่างต้องเริ่มปรับเปลี่ยนหมดแล้ว 

นอกจากนี้อีกปัญหาสำคัญของไทยคือ ประเทศเราขาดแคลนทาเลนต์ ก่อนหน้านี้ช่วงที่ก่อตั้ง Looloo โชคดีที่บริษัทเราได้ทาเลนต์ ซึ่งเป็นคนไทยที่เดิมทำงานอยู่ที่อเมริกา ยุโรป พอเกิดโควิดเลยอยากกลับประเทศ จึงได้มารวมตัวกัน แต่ ณ วันนี้ มันหมดยุคนั้นไปแล้ว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน 

คนไทยมีความสามารถเยอะ แต่ talent pool ในฝั่งดิจิทัลมันเล็กมาก ตรงนี้เราจะมาช่วยเทรน หรือออกแบบหลักสูตรอย่างไร หรือแม้กระทั่งวีซ่า เราจะทำให้คนต่างชาติเขามาอยู่เมืองไทยได้ง่ายขึ้นอย่างไร หรือการลงทุนจะดีขึ้นอย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ 

จึงย้อนกลับไปที่ เรื่องการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความเป็นไปของโลกอนาคต เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ แน่นอนว่า reskill สำคัญมาก มันเหมือนกับอยู่ใน agenda ที่ทุกคนต้องพูด แต่ execution มันอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่อยากเห็น ที่จะทำเป็นโรดแม็ปออกมา ว่าจะพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร  หากปล่อยเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่า 5 ปีต่อมา คะแนน PISA ของไทยลดลงกว่าเดิม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องตื่นแล้วว่า ทุกวันนี้ทุกคนใช้ปืน แต่เรายังใช้มือสู้รบ วันนี้เรายอมไม่ได้แล้ว

“เทคโนโลยีมันดีอย่างหนึ่งที่ผมชอบ เพราะว่าเราไม่ได้แพ้ใคร AI มันแพ้อยู่อย่างเดียวคือ มันสมอง ซึ่งคนไทยมี ถ้าเราจะไปสู้ต่างชาติ เหมือนแบบเราอยากจะเป็นเหมืองทอง เราอยากทำอะไรยิ่งใหญ่ อย่าง Automotive ตรงนี้ใช้เงินมหาศาล เมืองไทยไม่มีเงิน แต่เรามีสมอง ผมชอบ AI เพราะเราเปิดให้คนเก่งเข้ามาทำงาน เพราะฉะนั้นถ้าเราผลักดันคนมาตรงนี้ บอกเลยว่าเราไม่ได้แพ้ต่างชาติ มันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องสมองแล้วว่า ถ้าเราใส่ความคิดสร้างสรรค์ ป้อนข้อมูล ว่าสามารถสร้างอะไรได้ แล้วเพิ่มศักยภาพให้เขา ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกเล็กน้อยในการเทรนคน ผมว่าประเทศไทยไปได้ไกลทางด้านเทคโนโลยี” 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ