ข้อมูลจากการศึกษาร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลก หรือ WHO และกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเพราะประชากรสุขภาพไม่ดีปีละประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท
โดยความสูญเสียมูลค่ามหาศาลนี้ แบ่งเป็นการสูญเสียเนื่องจากสุขภาพไม่ดีจนต้องหยุดทำงาน 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 2 แสนล้านบาท เป็นการสูญเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล ประชากรไทยบางส่วนต้องออกจากตลาดแรงงานก่อนเวลาอันควร เนื่องจากสุขภาพไม่ดี และเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ
เป็นข้อมูลที่ ‘ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หยิบยกมาบอกเล่าและกล่าวว่า หลังวัยเกษียณใครๆ คงคิดว่า เขาจะนั่งกินนอนกินพักผ่อน แต่นั่นไม่ใช่วิถีของนักวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี)
ในวัยเกษียณ ดร.ศุภวุฒิ ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายอย่างมาก เพราะอยากมีแรงวิ่งถึงวัย 80 ปี หลังจากที่ในวัย 50 ปีกว่าๆ ทำงานหนัก สุขภาพทรุดโทรม และเริ่มศึกษาเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพอย่างจริงจังก่อนเกษียณไม่กี่ปี
“ผมรู้ว่า การออกกำลังกายมีค่ามาก มีประโยชน์มาก และดูแลเรื่องการกินการอยู่มากขึ้น คือต้องกินไม่อร่อย ต้องลดความสำคัญของอาหารอร่อยลงให้อยู่ต่ำที่สุด แล้วดันเรื่องการออกกำลังกาย การรักษาสุขภาพให้มากขึ้น รวมถึงพยายามหาความรู้เรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันไปเร็วมาก”
“ผมเกษียณแล้ว คนอาจนึกว่า ผมจะอยู่สบายๆ นั่งๆ นอนๆ แต่นั่งๆ นอนๆ นี่แหละเรียบร้อย ตายเร็วแน่นอน เพราะเซลล์ไขมันเบากว่า มันก็แฮปปี้ และมันลดยาก ถ้าคุณหยุดออกกำลังกาย หยุดเคลื่อนไหว เซลล์พวกนี้ก็ทำงาน ส่วนเซลล์กล้ามเนื้อมีต้นทุนการผลิต และการรักษาเซลล์นี้ก็ยากกว่า ต้องใช้พลังงานเยอะกว่า ถ้าคุณหยุดออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะรีบหดตัวเลย ส่วนไขมันก็พอกพูน”
นั่นเพราะว่า ร่างกายของมนุษย์มีวัฏจักรหมุนไปตามเซลล์ ซึ่งวัฏจักรนั้นก็คือระบบย่อยอาหาร มีงานวิจัยบอกว่า มันจะปิดทำงานตั้งแต่ 6 โมงเย็น นั่นหมายความว่า ร่างกายไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กินข้าวต้มรอบดึก 5 ทุ่ม แล้วการทำอย่างนั้นจึงเป็นการฝืนธรรมชาติ และทำให้เกิดปัญหาใหญ่สุดของโลกในเวลานี้คือ คนน้ำหนักเกิน คนอเมริกาน้ำหนักเกิน คนยุโรปน้ำหนักเกินประมาณ 75% หรือแม้แต่คนไทย เดินมา 3 คนจะพบคนน้ำหนักเกิน 1 คน
ดังนั้นคำแนะนำจาก ดร.ศุภวุฒิ คือ ชีวิตนี้ต้องหลีกเลี่ยง 4 โรค ได้แก่ โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง, โรคอัลไซเมอร์ และโรคเบาหวาน
พร้อมบอกทริกเล็กๆ สำหรับคนต้องการควบคุมน้ำหนักให้เริ่มต้นที่ จับว่าเวลากินอาหารกี่นาที ก็ออกกำลังกายตามจำนวนนั้น สมมติวันหนึ่งกินอาหาร 1 ชั่วโมงครึ่ง ก็ต้องออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงครึ่งเป็นอย่างน้อย ซึ่งถ้าเทียบกับยุคดึกดำบรรพ์ คนยุคนั้นกิน 1 ชั่วโมง เดินวันละประมาณ 4-5 ชั่วโมงด้วยซ้ำ
สิ่งสำคัญ ต้องนึกเสมอว่า อาหารยิ่งอร่อยจากกระบวนการปรุงแต่งเป็น process food ยิ่งมีความเข้มข้นของแคลอรี แต่อาหารไม่อร่อย ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม แต่มีกากอาหาร จะแคลอรีน้อย ดังนั้นต้องรับประทาน process food ให้น้อย ทาน natural food ให้เยอะขึ้น และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นี่คือยาวิเศษที่ดีที่สุด ดีกว่ายาอื่นๆ ทั้งหมดที่มีในโลกปัจจุบัน และมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยัน
“เช่นที่ผมวิ่ง การวิ่งไม่ได้ทำให้ขาแข็งแรงอย่างเดียว แต่ทำให้เส้นเลือดทุกเส้นในร่างกายขยายตัว มีความยืดหยุ่นและเวลาที่เราวิ่ง เราใช้สมองด้วย สมองจะทำให้ร่างกายสมดุล มีงานวิจัยเยอะมากบอกว่า การวิ่งจะทำให้การพิการตอนแก่ลดลง การวิ่งจะเกิดคาร์ดิโอ ทำให้หัวใจเต้นเร็วสัก 120-130 ครั้งต่อนาที ส่วนการเวตเทรนนิ่ง สำหรับคนสูงอายุจะทำให้รักษากล้ามเนื้อได้ เพราะกล้ามเนื้อปกติจะหดหายลงประมาณ 3% อีกข้อคือนอนหลับให้ดีทุกคืน นอนให้ตรงเวลา และงานวิจัยบอกชัดว่า ถ้าในวัย 30-40-50 ปี ไม่ดูแลสุขภาพ น้ำตาลก็ขึ้น น้ำหนักก็ขึ้น ปวดเอว ไม่สบายบ่อย หรือถ้าคุณนอนไม่ดีตอนแก่คุณอาจเป็นอัลไซเมอร์ได้ เป็นต้น”
ดร.ศุภวุฒิ แบ่งปันแนวคิดการสร้างสุขภาพว่า เป็นเรื่องเดียวกัน คือเริ่มจากตั้งเป้าหมาย วางแนวทางไปสู่เป้าหมาย เขาบอกว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องเดียวกับการลงทุน
“ถามว่า 10 ปีสุดท้ายของชีวิตคุณอยากทำอะไร วันนี้ คุณต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสิ่งนั้น ถ้าอยากสุขภาพดี วันนี้ต้องเริ่มทันที อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะร่างกายจะไหลลง ถ้าไม่ทำมันจะถอยกลับ”
“ส่วนตัวผม ผมอยากให้ตอนอายุ 80 ผมยังวิ่งได้ ดังนั้นวันนี้ผมจึงต้องวิ่งและวิ่งเยอะ เพื่อสร้าง reserve (ทุนสำรอง) เอาไว้ในวัย 80 ปี”
พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เมื่อปี 2560 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งสรุปว่า ถ้าวิ่ง 1 ชั่วโมง จะมีอายุยืนขึ้น 7 ชั่วโมง ถ้าคนทั่วไปวิ่งเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง วิ่งต่อเนื่อง 40 ปี จะมีอายุยืน 2.8 ปี หมายความว่า ไม่ตายเพราะโรคอะไรเลย เมื่อเทียบกับคนไม่วิ่ง จะมีอายุยืนขึ้น 2.8 ปี แล้วถ้าเอา 2.8 ตั้งหารด้วย 40 คุณก็ return 7%
“นักลงทุนจะรู้กันว่า ถ้าซื้อพันธบัตร หรือบอนด์ ได้ผลตอบแทน 5% ก็ดีใจจะแย่แล้ว แต่นี่ลงทุนวิ่งได้ return 7% ทำไมผมจะไม่ลงทุนอันนี้ นี่คือการใช้แนวคิดคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนจากการออกกำลังกาย คือวิ่ง เห็นชัดว่าได้ return 7%”
“มองสองด้านหากตอนนั้น มี wealth มีเงินหมื่นล้านบาท แต่สุขภาพไม่ดี แต่ถ้าต้องนอนพะงาบๆ อยู่โรงพยาบาล มันไม่มีประโยชน์ wealth ที่มีมันแทบไม่มีค่าไม่มีประโยชน์กับคุณเลย”
หรือยิ่งอายุมากแล้ว มีความสามารถทำงานได้ เงินเก็บที่มีก็ยังสามารถนำไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น เพื่อให้ได้ return สูงขึ้น เพราะเรามีกระแสเงินสด (cash flow) จากการทำงานหลังวัยเกษียณ และทำให้พอร์ตโตกว่า ผลตอบแทนดีกว่าคนที่ต้องซื้อแต่บอนด์ที่ได้ผลตอบแทนเพียง 3-4% เพราะรับความเสี่ยงได้ไม่มาก
โดยถ้าคำนวณแล้ว คนที่ยังทำงานได้หลังวัยเกษียณ และยังลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ พอวัย 70 ปีกว่า จะมีเงินก้อนเหลือ ทั้งจาก cash flow ที่เข้ามาจากการทำงานต่อและลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ต่างจากคนเกษียณที่สุขภาพไม่ดีทำงานต่อไม่ได้ และต้องลงทุนแต่บอนด์รับผลตอบแทนไม่สูง บางทีพออายุ 70 ปีกว่า เงินในพอร์ตก็หดหายไปตามเวลา
“นี่แหละคือความสำคัญของการดูแลสุขภาพให้ดี เพราะในวัยที่อายุเพิ่มขึ้น คุณจะมีศักยภาพรักษา wealth ของคุณตอนแก่” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ดร.ศุภวุฒิ บอกว่า สิ่งที่ท้าทายประเทศไทยในปัจจุบันมี 2 เรื่อง คือ คุณภาพการศึกษาของเด็ก และการดูแลผู้สูงอายุ
เพราะโดยหลักการคนแก่วัย 60-70 ปีอย่างตนต้องทิ้งมรดกทางเศรษฐกิจให้คนรุ่นต่อไปเพื่อให้คนรุ่นต่อไปทำมาหากินได้ คนรุ่นก่อนจึงต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระบบการศึกษาให้คนรุ่นใหม่สามารถเพิ่มผลิตภาพ หรือ productivity ในวันที่ประชากรรุ่นใหม่ลดลง และสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย เพราะยิ่งคนรุ่นใหม่มีน้อย การมี productivity ยิ่งต้องสูง
เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ก็ลดลงไปเรื่อยๆ การสร้างคุณภาพการศึกษาให้คนรุ่นใหม่ต้องดีและเป็นมรดกที่ต้องทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไป ส่วนคนสูงวัย ก็ต้องรู้ตัวว่ามีหน้าที่ดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี เพื่อให้ลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลในช่วงบั้นปลายชีวิต ดังนั้นคนวัยเกษียณจึงไม่ใช่นั่งกินนอนกิน แต่ต้องทำงานและดูแลสุขภาพให้ดี ซึ่งต้องทำด้วยตนเอง จะ subcontract หรือถ่ายโอนไปให้หมอหรือเภสัชกรไม่ได้
“ตอนบั้นปลายชีวิต ประมาณ 2-3 ปีสุดท้ายของชีวิต คนส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 30-40% ของค่าใช้จ่ายที่ใช้มาทั้งชีวิต เพราะตอนแก่ถ้าป่วยจะเจ็บหนัก ค่ารักษาพยาบาลก็จะแพง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมวันนี้ในวัย 30-40-50 ปีคุณจึงต้องดูแลสุขภาพ ดูแลเรื่องการกิน การออกกำลังกาย การนอนหลับให้ดี” ดร.ศุภวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย