Data Center ประตูลงทุนระดับแสนล้าน ดันไทยสู่ดิจิทัลฮับ จุดยุทธศาสตร์ใหม่อินโดจีน

Business & Marketing

Executive Interviews

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

Data Center ประตูลงทุนระดับแสนล้าน ดันไทยสู่ดิจิทัลฮับ จุดยุทธศาสตร์ใหม่อินโดจีน

Date Time: 6 ก.ย. 2566 09:25 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเราอยู่ใน ‘ยุคดิจิทัล’ เต็มรูปแบบ กิจวัตรประจำวันของเราอยู่บนโลกออนไลน์ถูกยกระดับและผูกโยงกับเทคโนโลยี เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยี่สิบสี่ชั่วโมง เกิดวัฎจักรการบริโภค ‘ข้อมูล’ จำนวนมหาศาล ชนิดที่ว่าเครื่องจักรที่คอยบริหารข้อมูลและขับเคลื่อน ‘โลกดิจิทัล’ นี้จะไม่สามารถหยุดพักได้อีกตลอดไป ขณะเดียวกันนั้น ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ก็ค่อยๆ กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนประเทศ

Latest


Thairath Money พูดคุยกับ ‘ซุป’ ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสที เทเลมีเดีย โกล บอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) ถึงเส้นทางการเดินทางของ ‘ข้อมูล’ ที่กล่าวได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ของธุรกิจในยุคดิจิทัลนั้น เบื้องหลังถูกเก็บไว้ที่ไหน ทำไมธุรกิจทั้งผู้เล่นไทยและต่างประเทศกระโดดเข้ามาลงทุนสร้าง ‘ศูนย์ข้อมูล’ หรือ ‘Data Center’ ซึ่งถือได้ว่าเป็น หัวใจ ที่จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

ศุภรัฒศ์ เริ่มต้นเล่าถึง เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย ‘Data’ หรือในที่นี้ คือ ข้อมูลดิจิทัลทุกรูปแบบ ซึ่งเดินทางไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดหลักของทุกธุรกิจ ทรัพยากรหลักที่ทำให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง รัฐบาลทั่วโลกกำหนดแผนแม่บทเพื่อสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีรองรับ Data Economy อย่างบ้านเราที่ Digital Economy ก็ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติเช่นเดียวกัน 

“ปัจจุบันหลายคนรู้แล้วว่าข้อมูลกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ และที่มาของข้อมูลเหล่านั้นล้วนมาจากทุกๆ มิติในชีวีติประจำวันของเรา ประเทศไทยมีการบริโภคข้อมูลสูงมาก ครั้งหนึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเป็นอันดับหนึ่งของโลก เมื่อดีมานด์ด้านข้อมูลเพิ่มขึ้น ซัพพลายด้านข้อมูลก็ค่อยๆ เติบโตเช่นเดียวกัน”

อุตสาหกรรม Data Center ไทยโตกว่าทั่วโลกสองเท่าและกำลังจะกลายเป็น 'น่านน้ำที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจดิจิทัล'

สองปีที่ผ่านมานี้ผู้เล่นระดับโลกแห่เข้ามาสร้าง Data Center จำนวนมากในประเทศไทย สอดคล้องในทิศทางเดียวกับแนวโน้มของโลก เดิมที Data จากต่างประเทศที่วิ่งมาจากทุกทิศทางจะวิ่งไปที่สิงคโปร์ ทำให้ศูนย์ข้อมูลระดับโลกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ในภูมิภาคอินโดจีน เป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพ (Alternative Location)โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรม Data Center ทั่วโลกเติบโต 12.4% แต่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตกว่าเป็นสองเท่าอยู่ที่ 24.6%  

“แน่นอนว่าการสร้างศูนย์ข้อมูลแต่ละแห่งตามมาด้วยการลงทุนจำนวนมหาศาลตามมา ชนิดที่ว่าเพียงบริษัทเดียวจะเกิดการลงทุนสร้างกว่าหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 500 เมกะวัตต์และตามมาด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่าสองแสนล้านบาทภายใน 3-5 ปีนี้” 

ศุภรัฒศ์ อธิบายการพิจารณาไซส์ธุรกิจที่จะวัดกันที่จำนวนไฟที่ใช้โอเปอเรท สำหรับประเทศไทยในตอนนี้รวมธุรกิจ Data Center ที่ดำเนินกิจการทั้งหมดอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ ซึ่งหากเปรียบเทียบการใช้กำลังไฟฟ้าให้เห็นภาพ 1 เมกะวัตต์ เท่ากับที่อยู่อาศัยประมาณ 1,000 ครัวเรือน เฉลี่ยแล้วมีสมาชิกครอบครัวละ 5 คน 1 เมกะวัตต์ครอบคลุมประชากรราว 5,000 คน หาก Data Center ใช้พลังงาน 40 เมกะวัตต์ นั่นหมายถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เทียบเท่ากับการใช้งานของประชากรราว 200,000 คนเลยทีเดียว 

ในมุมนักลงทุนมองธุรกิจ Data Center มีความเสถียรภาพสูงและเป็นธุรกิจที่จะมีตอบแทนผลดำเนินงานในระยะยาว ไม่ต้องกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโลก ภัยธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งสถานการณ์การเมืองที่ไม่ชัดเจน เราทุกคนล้วนบริโภคและใช้งานข้อมูลดิจิทัลอย่างไม่ขาดสายในภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้น Data Center จะกลายเป็นน่านน้ำสำคัญสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ และทำให้ประเทศมีรายได้ต่อเนื่อง  

ศุภรัฒศ์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้ธุรกิจไทยเติบโตเพื่อล้อไปกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมเรือธงของเรา เราสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวกันอย่างคับคั่ง 

“หากเปรียบเทียบกับยุคนี้ที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล Data เปรียบเสมือนนักท่องเที่ยว เครื่องบินเปรียบเสมือนผู้ให้บริการคลาวด์ Data Center จะเปรียบเสมือนสนามบินที่เป็นทางผ่านสำคัญ ทำหน้าที่รองรับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามา ยิ่งมีการบริโภคแลกเปลี่ยนของ Data เพิ่มขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันก็จะเติบโต สนามบินจำเป็นต้องขยายพื้นที่ให้เครื่องบินลงจอดได้ เช่นเดียวกันกับธุรกิจ Data Center ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง”  

เพราะข้อมูลไม่ได้ลอยอยู่บนอากาศ เราจึงต้องสร้างบ้านที่ปลอดภัยให้กับข้อมูล

หากพูดถึง เส้นทางการเดินทางของข้อมูล เดิมทีเราจะได้ยินว่า “ข้อมูลถูกเก็บไว้บนคลาวด์” แต่อันที่จริงเป็นเพียงคำพูดทางการตลาดที่ล้อไปการจัดสรรระบบเครือข่ายข้อมูลที่ไร้ขอบเขต ยกตัวอย่าง เมื่อเราใช้สมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถ่ายรูป ระบบจะรับข้อมูลเข้าสู่ซอฟต์แวร์เครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ วิ่งผ่านสายเคเบิลใต้ดินที่เชื่อมเข้ากับอุปกรณ์เน็ตเวิร์กที่คอยควบคุมการทำงานของระบบเครือข่ายนั้น ๆ เคเบิลเหล่านั้นก็จะเชื่อมเข้ามาใน Data Center หรือที่ธุรกิจจะเรียก ห้องสถานที่เก็บอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ (Data Hall) ที่เปรียบเสมือน หอบังคับบัญชาสนามบิน คอยทำหน้าที่ดูแลทำงานแบบองค์รวมให้ได้ไม่ติดขัดนั่นเอง  

วางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้พร้อมเพื่อรองรับโอกาสใหม่ของประเทศ

ศุภรัฒศ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจดิจิทัล ต้องทำธุรกิจดิจิทัลที่สอดคล้องกับจุดเด่นของประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่า Data Center จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุตสาหกรรมพลังงานทุกมิติ กล่าวคือ ธุรกิจ Data Center เป็นธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้ามหาศาล พอมีการลงทุนระดับแสนล้านเข้ามา แน่นอนว่าจะมีการใช้ไฟเพิ่มขึ้นมหาศาล 

สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การหมุนเวียนของเงินลงทุนในภาคพลังงานซึ่งสอดคล้องไปกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านพลังงาน Energy Economy จะขนานคู่ไปกับการเติบโตของเทคโนโลยี เช่น การสร้างระบบหมุนเวียนพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนเพื่อทำให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและไม่ทำร้ายโลก เป็นต้น

นอกจากนี้ในมุมของผู้บริหารมองว่า Data Center สร้างโอกาสใหม่ให้กับคนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งระบบความปลอดภัย Standard Operation มาตรฐานเทคโนโลยีทั้งหมดจำเป็นต้องมีประสบการณ์และทักษะเฉพาะด้าน สร้างรายได้สำหรับสายงานที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นโอกาสให้คนมีอีกสายอาชีพหนึ่งในประเทศไทย  

ธุรกิจ Data Center ถูกมองว่าเป็น 'Critical Infrastructure' หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประเทศ เท่ากับ สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิงหรือโรงพยาบาล ถ้า Data Center ปิดหรือเกิดปัญหาขึ้น ธุรกิจ สมาร์ทโฟน สัญญาณอินเทอร์เน็ต ระบบที่ทุกคนกำลังใช้งานอยู่จะไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ Data Center จำเป็นต้องมีต้นทุนสูง เพราะ มาตรฐานความปลอดภัยในการโอเปอเรทธุรกิจนั้นสูงมาก ศุภรัฒศ์ กล่าวปิดท้าย 

“อุตสาหกรรมข้อมูลจะกลายเป็นกลยุทธ์ของรัฐบาลทั่วโลก เศรษฐกิจบนโครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้จะสร้างรายได้และดึงดูดการลงทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับประเทศไทยหลังจากนี้”  


  


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory