สส.เท้ง คนเทคฯ บนถนนสายการเมือง ใช้เทคโนโลยีกระจายอำนาจรัฐ

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สส.เท้ง คนเทคฯ บนถนนสายการเมือง ใช้เทคโนโลยีกระจายอำนาจรัฐ

Date Time: 5 ส.ค. 2566 16:07 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • สส.เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ อดีตผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี สู่บทบาทในสนามการเมืองกับความตั้งใจในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการนำเสนอและสนับสนุนนโยบายภาครัฐ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศไทยในทุกด้านที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน

เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ อดีตผู้บริหาร ผู้บริหาร แอ๊บโซลูท เมเนจเม้นท์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทด้านเทคโนโลยีสัญชาติไทย เริ่มก้าวสู่สนามการเมืองเมื่อ ปี 2562 ด้วยบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต บางแค ของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนถูกยุบ และเปลี่ยนผ่านสู่พรรคก้าวไกล

อีกทั้งเขามีหน้าที่เป็นแกนนำคนสำคัญในการดูแลงานด้านเทคโนโลยีทั้งหมด โดยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูล และดิจิทัล ต่อมาหลังการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เข้ามารับใช้ประชาชนอีกครั้ง ซึ่งในบทความนี้เราจะเรียกเขาว่า ‘สส.เท้ง’

หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาประมาณ 1 วัน ด้วยความไฟแรงของคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ผ่านการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แม้ว่าขณะนั้นยังเป็นว่าที่ สส. อยู่ก็ตาม เขาก็ได้เริ่มทำงานในทันทีทันใด ด้วยการเปิด ‘ก้าว Geek คอมมูนิตี้’ พื้นที่ใน Discord ที่เป็นการรวมทั้งบุคลากรระดับหัวกะทิ ตลอดจนคนธรรมดาที่มีความสนใจในด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี ร่วมเสนอไอเดีย Digitize ประเทศ รวมถึงจัดทีมอาสาสมัครเข้าร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มในการติดตามความคืบหน้าของทั้ง 300 นโยบายที่พรรคก้าวไกลเคยได้หาเสียงเอาไว้ก่อนช่วงเลือกตั้ง 

แน่นอนว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ใช้วิธีการซับซ้อนให้ดูยิ่งใหญ่อะไร แต่สิ่งนี้ได้สร้างอิมแพคกับผู้คนมหาศาล จนเกิดการพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ในเวลาต่อมา เพราะสามารถเข้าถึงประชาชน และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในแบบที่ไม่ค่อยเห็นในการทำงานสเกลใหญ่ระดับภาครัฐของประเทศนี้มาก่อน 

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

Thairath Money พูดคุยกับ สส.เท้ง ในรายการ Digital Frontiers ถึงการเกิดขึ้นของก้าว Geek และแนวทางการนำไอเดียจากการนำเสนอของประชาชนมาต่อยอด ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อีกนับแสนนับล้าน 

สส.เท้ง ให้มุมมองว่า เทคโนโลยีที่ดีสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ผ่านการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมนโยบายภาครัฐ ทั้งในเรื่องการจัดการปัญหาประชาชน และสร้างความโปร่งใส ลดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง

ซึ่งจริงๆ แล้วเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้คนแต่อย่างใด เพราะสามารถที่จะประยุกต์ เข้ากับนโยบายภาครัฐได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสาธารณสุข การศึกษา หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม ล้วนต้องการเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำงานทั้งนั้น

“ทำอย่างไรอำนาจถึงจะอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด” แพสชั่นที่ผลักดันให้เขาเข้ามาทำงานการเมืองด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยกระจายอำนาจรัฐสู่ประชาชน

‘ก้าว Geek คอมมูนิตี้’  ใช้เทคโนโลยีเพิ่มช่องทางเข้าถึงประชาชน

เมื่อถามถึงที่มาของการก่อตั้ง ‘ก้าว Geek’ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรูปแบบบัญชี Discord (แพลตฟอร์มสื่อสารที่ทำได้ทั้งพิมพ์แชต วิดีโอคอล และไลฟ์สตรีม) สส.เท้ง เล่าว่า จริงๆ คอมมูนิตี้นี้เป็นกลุ่มที่ตั้งมานานแล้ว ตอนนี้ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องดิจิทัลอย่างเดียว แต่มีทั้งสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา การปราบทุจริต 

ซึ่งหากได้มีบทบาททำหน้าที่รัฐบาล ความตั้งใจของเขา คือ ต้องการผลักดันให้ก้าว Geek ได้เป็นเหมือน ครม. (คณะรัฐมนตรี) ออนไลน์ ที่เป็นหนึ่งในช่องสื่อสารกับประชาชนได้ง่ายๆ โดยที่ผ่านมามีปัญหาประชาชนเข้าไม่ถึงภาครัฐ สส.เท้ง มองว่า การตั้งคอมมูนิตี้เช่นนี้ใน Discord จะเป็นหนึ่งในวิธีการเชื่อมภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน ซึ่งหลายๆ อย่างภาครัฐอาจทำได้ไม่ดีเท่าเอกชน สิ่งที่เราต้องการคือ เอกชนต้องการอะไร ภาครัฐช่วย Facilitate (อำนวยความสะดวก) ลดข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย และช่วยส่งเสริมเท่านั้นเอง  

“ต้องฟังเสียงประชาชนเยอะๆ ประเทศไทยจะไปได้ไกล เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของรัฐบาล คือ การช่วยเหลือประชาชน และมี Common Sense ก็พอ” 

นอกจากนี้ สส.เท้ง ยังเล่าถึงตัวอย่างการทำงานของผู้ที่เป็นโรลโมเดลให้เขา อย่าง ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ที่ใช้ Blog ในการสื่อสารกับประชาชนในฐานะรัฐมนตรี ทำให้ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการดีลหลังม่าน เป็นข้อดีที่ทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เห็นทิศทางและเห็นถึงความโปร่งใส ตรงไปตรงมาของนโยบายซึ่งกระทบกับทุกภาคส่วน

ขณะที่ทาง สส.เท้งเอง เมื่อมีการเขียน Journal ลงไปจะมีคนติดต่อเข้ามา และมีโอกาสเข้าไปพูดคุยได้รอบด้านมากยิ่งขึ้น เป็นข้อดีของการเขียน Journal เล่าเรื่อง และนอกจากจะมีคอนเทนต์ที่เขียนขึ้นมาเองแล้ว ก็ยังมีคนที่สนใจในประเด็นต่างๆ เข้ามาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นด้วย   

เทคโนโลยี สู่ความหวังยกระดับชีวิตคน 

หากจะยกตัวอย่างเพื่อฉายภาพโอกาสจากเทคโนโลยีให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น สส.เท้งได้เล่าให้เราฟังถึงกรณีศึกษาของการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับชีวิตประชาชน เริ่มตั้งแต่ปัญหา PM 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ในไต้หวันเองมีการจัดการปัญหานี้ด้วยการใช้เซนเซอร์ในการหาจุดเริ่มของฝุ่น ทำให้ภาครัฐมีข้อมูลเพื่อไปบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยังมีกรณีของไฟส่องสว่างที่ภาครัฐสามารถติดเซนเซอร์เพื่อมอนิเตอร์เสาไฟที่เสียเพื่อให้การไฟฟ้าเข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงที ตลอดจนทำแดชบอร์ดให้ประชาชนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และยังมีโมเดลต้นแบบบนถนนรัชดา ด้วยการนำเซนเซอร์ไปติดตามท่อระบายน้ำริมถนนเพื่อดูท่อตัน และทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการลอกท่อได้อย่างถูกจุด

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

นอกจากนี้ สส.เท้งยังได้เสนอไอเดียในการใช้เทคโนโลยีบริหารงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น 

รัฐโปร่งใส ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การทำงานของรัฐสามารถตรวจสอบได้ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มจากการแปลงงบประมาณสามล้านล้านที่อยู่ในรูปแบบกระดาษเป็นไฟล์ Excel เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณา และสามารถทราบการกระจุกตัวของงบประมาณซึ่งจะช่วยให้เห็นความผิดปกติชัดเจนขึ้นในกรณีการทุจริต

Smart City ในทุกพื้นที่ของไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำสำเร็จไปแล้วในเรื่องน้ำประปาสะอาดด้วยอุปกรณ์เติมสารเคมีอัตโนมัติ ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยติดสมาร์ทมิเตอร์กว่า 1,400 หัว ทำให้เจ้าหน้าที่เทศบาลไม่ต้องจดมิเตอร์เอง เพราะมีระบบ e-Service ส่งบิลค่าน้ำประปาทางไลน์ และยังจ่ายออนไลน์ได้อีกด้วย และในส่วนของงบประมาณจากเดิมที่รัฐส่วนกลางให้เงินท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด การทำงานของภาครับควรจะมีแผนที่จะเปลี่ยนรูปแบบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับท้องถิ่นใหม่ โดยให้เงินท้องถิ่นไปติด Smart Censor, Smart Device ทำให้ทั้งเทศบาลมี IoT ไปบริหารจัดการคุณภาพชีวิตประชาชน และยังช่วยสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งก็คือเหล่าสตาร์ทอัพ หรือ Solution Provider ที่จะได้งานจากภาครัฐ

ขณะเดียวกัน สส.เท้ง ยังได้พูดถึงเรื่อง Digital ID เพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมกับภาครัฐพร้อมช่วยแก้ปัญหาสินบนจากวัฒนธรรมยัดเงินให้งานเดิน และ Data Exchange ในระบบสาธารณสุขเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยทั้งประเทศ โดยรัฐฯ ควรออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานข้อมูลกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน 

อย่างไรก็ตามตัวอย่างต่างๆ ที่ได้ยกมานี้ จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะต้องมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ก่อนหน้านี้ได้ถูกจัดเป็นกระทรวงหางแถว หากวัดเกรดจากงบประมาณที่ได้รับ แต่ถ้าวัดเกรดจากศักยภาพในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนถือว่าสำคัญไม่น้อย โดยสส.เท้งให้มุมมองว่า “ผมว่ากระทรวงดิจิทัลคือ A+++ เพราะเรารู้กันดีว่าโลกยุคนี้เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ทำให้รัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือประชาชนมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นขนาดไหน”

สามารถติดตาม Digital Frontiers รายการที่จะพาไปเปิดโลกธุรกิจและเทคโนโลยี ที่จะทำให้เข้าใจและเตรียมพร้อมก้าวสู่โลกใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ทาง Thairath Money ทุกช่องทาง 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์