'ประพัฒน์ เสียงจันทร์' กับความท้าทายบทใหม่ในฐานะ ขุนพลของ 'แม็คยีนส์'

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

'ประพัฒน์ เสียงจันทร์' กับความท้าทายบทใหม่ในฐานะ ขุนพลของ 'แม็คยีนส์'

Date Time: 1 ก.ค. 2566 08:50 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ความท้าทายบทใหม่ของคีย์แมนคนสำคัญอย่าง "ประพัฒน์ เสียงจันทร์" ที่เบนเข็มจาก Esso (Thailand) มาจนถึง ไมเนอร์ ฟู้ด, Kerry Express จนกระทั่งล่าสุดคือ การเป็นขุนพลให้กับแม็คกรุ๊ป ที่ผ่านมาเขาเจออะไรมาบ้าง ประสบการณ์ได้มอบอะไรให้กับเขา และวันนี้จุดยืนเขาอยู่ตรงไหน ก้าวต่อไปในองค์กรแฟชั่นระดับตำนานจะเป็นอย่างไร?

Latest


หากจะกล่าวว่า “คน” คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร และนำพาความเปลี่ยนแปลงมาพัฒนาองค์กรให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้ก็ดูจะไม่ผิดเพี้ยนไปซะทีเดียว ดูอย่าง Jeff Bezos ที่แม้จะก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของ Amazon ไปแล้ว แต่ปัจจุบันเขาก็ยังคงเป็นเจ้าของบริษัท Blue Origin รวมถึง The Washington Post ด้วย และที่สำคัญเขาคือผู้นำที่มีแนวคิดแน่วแน่ จนนำพาองค์กรทะยานสู่ความสำเร็จ

หรือแม้กระทั่ง Sundar Pichai CEO ของ Google ที่รู้จักกล้าตัดสินใจ ยอมรับฟังเสียงของพนักงาน เป็นโค้ชที่ดีและผลักดันคนทำงานไปสู่ความสำเร็จ ทำให้ Google ก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของ ‘Web Browser’ และเป็น Google จนทุกวันนี้

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “คน” นี่แหละคือประตูบานแรกของทุกสิ่ง และดูเหมือนจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จและไปต่อได้ 

ดังแนวคิดที่ว่า การเติบโตแบบยั่งยืนประการสำคัญ คือ “การให้ความสำคัญกับคนและใจ” ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องมี “ขุนพล” และองค์ประกอบที่ดีนั่นเอง

ในครั้งนี้ Thairath Money จะพาไปพูดคุยกับ คุณประพัฒน์ เสียงจันทร์ หรือ แพทริก ประธานเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจและการขาย ของ บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ แม็คยีนส์ ที่เคยทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น Esso (Thailand), ไมเนอร์ ฟู้ด, Kerry Express จนกระทั่งล่าสุดคือ การเป็นขุนพลให้กับแม็คกรุ๊ป

โดย คุณประพัฒน์ เล่าว่า เรื่องของ “สินค้า” แม้จะเป็นเรื่องที่ใหม่ในความชำนาญของเขา แต่จากการที่เขาทำงานสายฟู้ดมากว่า 10 ปี รองลงมาคือโลจิสติกส์ที่ทำมากว่า 1.5 ปี ซึ่งถือเป็นบทบาทใหม่กับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้การบริการรูปแบบใหม่ แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นมากในการย้ายมาลงหลักปักฐานที่ ‘ธุรกิจแฟชั่น’ ซึ่งนับเป็นโปรดักต์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นในความท้าทายอันดับแรกคือ เรื่องของ ‘โปรดักต์’ ที่ขาย แต่เขามองว่ามันไม่เกินความสามารถของทุกคน 

Organizational Capability สิ่งที่จะต้องเจอแทบทุกองค์กร

ตรงจุดนี้สามารถเรียนรู้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ หรือหากช้ามากก็ประมาณ 1 เดือนครึ่งที่จะทำความรู้จักกับโปรดักต์ที่ตัวเองขายได้อย่างถ่องแท้ ซึ่งมองว่าตอนนี้เขาเองก็เรียกได้ว่ารู้จักสินค้าของ ‘แม็คยีนส์’ ได้อย่างสนิทสนม 

แต่หากให้พูดกันตรงๆ ความท้าทายที่แทบจะพบเจอเหมือนกันได้ทุกองค์กรนั่นคือ Organizational Capability หรือเรื่องของคนในองค์กร ซึ่งเขาไม่ได้ถูกจ้างมาเพื่อดูในเรื่องของยอดขายเพียงอย่างเดียว เพราะยอดขายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความเก่ง ความเชี่ยวชาญ ของคนในองค์กร ซึ่งตรงนี้เขามองว่าคือจุดที่ ‘ท้าทาย’ ที่สุดสำหรับเขา

ทั้งนี้หากแบ่งคนเก่งในมุมของประพัฒน์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยู่ที่ออฟฟิศ 2.คนที่เป็น PC ที่อยู่ที่ร้าน (พนักงานขาย) ซึ่งจะทำยังไงให้เขาขายได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่นั่นคือขายเรื่อง “การบริการ”

การไม่ตัดสินใจคือการตัดสินใจที่แย่ที่สุด

เรื่องสุดท้ายที่ค่อนข้างจะท้าทายคือการทำ Profitability ให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านใหม่ การปิดร้านที่ไม่ Perform ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถสร้างกำไรให้กับองค์กรได้ จึงต้องมีการตัดสินใจที่รอบคอบทั้งการเปิดและการปิด ซึ่งมองว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่สำคัญ 

เคล็ดไม่ (ลับ) กับการตัดสินใจเลือกองค์กรตามสไตล์ประพัฒน์

ส่วนหลักการเลือกองค์กรในใจในสไตล์ของประพัฒน์ อย่างแรกเลยนั้นจะต้องเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือแม้จะดูเป็นคำใหญ่ แต่ในมุมของเขาคือต้องเป็นองค์กรที่เจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือคนที่อยู่ในองค์กร รู้สึกมีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ต้องเป็น Entrepreneur ที่รู้สึกว่าเขารันธุรกิจเอง และไม่ได้ปล่อยให้ทั้ง Branding และบริษัท ไม่เป็นระบบ ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นพื้นฐานการเลือกบริษัทของประพัฒน์ เพราะอย่าลืมว่าตัวคุณเองคือสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดดังนั้นองค์กรในใจจึงต้องถูกใจคุณเองเช่นกัน 

ซึ่งแม็คกรุ๊ปก็ถือได้ว่าตอบโจทย์และเข้าข่ายเกณฑ์เป็นอย่างดี โดยที่ Owner แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ยังคงดูแลกิจการ และสองแบรนด์จะต้องแข็งแกร่ง ทั้งหมดนี้คือจุดสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจลงเรือลำเดียวกับแม็คกรุ๊ปนั่นเอง

และเมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการโลดแล่นในสายงานหลากอุตสาหกรรมแน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งแนวคิด แนวทาง และคุณค่าของประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้กลายเป็นโรงเรียนสำหรับประพัฒน์ ซึ่งเขามองว่า

ในทุกๆ ที่ ตั้งแต่ Esso ก็นับเป็นโรงเรียนที่สอนเขาได้ดีมาก ตั้งแต่การทำ Control คือ ในเรื่องของการตรวจสอบความผิดพลาดของการทำงาน ตรวจสอบการทุจริต ซึ่งหมายความว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทสูญเสีย Esso จะให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงในพื้นที่สาธารณะ อาจจะระเบิด รั่วไหลได้ ดังนั้นจะต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรๆ จากที่นี่ไปมากเลยทีเดียว 

สร้างคนไม่ใช่แค่ recruit หรือ reward แต่ต้อง recognize ให้ถูกจุด

ส่วนไมเนอร์ฟู้ดตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ตั้งแต่เรื่องของการวางกลยุทธ์องค์กร ที่เขาได้มาจากที่นี่ อีกทั้งการทำ Customer service ก็จะมี Core value ที่เรียกว่า 100% Customer Satisfaction คือการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า รวมถึงการสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทุกอย่างจะต้องทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ 100% และเรื่องของ Operation excellent โดยที่การปฏิบัติการต้องเป็นเลิศในทุกๆ มิติ ทั้งแต่เรื่องของพนักงาน การแต่งกาย การใช้คำพูด อาหาร ที่เป็นการวางเส้นทางตั้งแต่การรับสินค้าจากหลังร้านมาจนถึงหน้าบ้าน จนกระทั่งเข้าปากลูกค้า ซึ่งจะต้องเพอร์เฟกต์และดีที่สุด และเรื่องสุดท้ายคือ การทำงานต้องมีผลลัพธ์ ที่ชัดเจนที่สุด 

ดังนั้นด้วยเรื่องราวบวกกับประสบการณ์ที่ผ่านมาได้กลายเป็นจุดแข็งที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็น “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ในทุกวันนี้และสามารถนำไปใช้ต่อได้ในองค์กรอื่นๆ

ดังนั้นเมื่อถามถึงแม็คยีนส์ เขาเล่าว่า ตอนนี้อยากจะนำสิ่งต่างๆ ที่ได้จากไมเนอร์ฟู้ด รวมถึงองค์กรต่างๆ มาใช้กับทางแม็คกรุ๊ป ซึ่งจะทำให้องค์กรไปต่อได้ในเส้นทางที่จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

ทุกองค์กรล้วนท้าทายหมด แต่จะคนละแบบ

และตรงจุดนี้เองเมื่อถามถึงความท้าทายของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแม็คยีนส์ในครั้งนี้เขาบอกว่า ทุกที่มันท้าทายหมด แต่มันท้าทายคนละแบบ ซึ่งในธุรกิจเสื้อผ้า เมื่อได้เข้ามาสู่วงจรนี้แล้วพบว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก เพราะอยู่ๆ ก็จะมี End of season sale ที่ป้ายสีแดงถูกติดเรียงรายทั่วพื้นที่ห้าง ทำให้ “ราคา” กลายเป็นตัวหนึ่งที่จะต้อง Drive ผู้บริโภคให้เข้ามาเช่นเดียวกัน จึงนับเป็นความใหม่ของเขาเช่นกัน เพราะในอุตสาหกรรมอาหารไม่ได้มีราคาเป็นตัวแข่งขันที่ดุเดือดเช่นนี้ แต่จะเป็นแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น สำหรับแบรนด์แต่ละแบรนด์

แต่ครั้งนี้ทั้งห้างกลับมีป้ายสีแดงลดราคากระหน่ำที่ทุกแบรนด์นำมาชูเป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าเกือบทุกแบรนด์ ดังนั้นเรื่องราคาเป็นเรื่องที่จะต้องวางแผนให้ดีว่าเส้นทางของเราจะเป็นไปในทิศทางใด ในขณะที่ลดราคาเรายังคงต้องได้กำไรด้วยเช่นกัน จึงถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก

ก้าวต่อไปของแม็คกรุ๊ป จากวินเทจแบรนด์สู่การเป็นแบรนด์ที่ Young (ยัง) อยู่

ในส่วนของการดำเนินงานของแม็คกรุ๊ปนั้น เขาอยากที่จะได้ฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่าแม็คกรุ๊ปค่อนข้างเป็นวินเทจแบรนด์ เมื่อเทียบกับสายฟู้ดอย่างเช่น เบอร์เกอร์คิง ที่อยู่ในตลาดมานานถึง 60 ปี และแม็คยีนส์เองก็อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 48 ปี จึงถือได้ว่ามีอายุประมาณหนึ่ง ฉะนั้นเราจะทำยังไงให้แบรนด์ Young อยู่ ซึ่ง Young ในที่นี้หมายความว่า เป็นแบรนด์สำหรับทุกคน ทุกยุค ทุกสมัย ไม่ใช่แก่ไปตามวัยของผู้สวมใส่ และ Key Takeaway ข้อสำคัญหลักๆ ต่อไปของเราคือการ ขยายฐานลูกค้า กลุ่มคนที่กว้างมากขึ้นโดยมี Gen Z และ Y รวมอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็น way ต่อไปของแม็ค 

ส่วนเรื่องที่สองคือ เราจะทำเสื้อผ้าให้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกไซต์ ทุกเชื้อชาติ ทุก Gender สิ่งเหล่านี้คือ “เสน่ห์และกลยุทธ์” ของแม็คยีนส์ในวันนี้และอนาคต 

ในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้าของประพัฒน์ และแม็คยีนส์ กับการปั้น ‘คน’ ให้แข็งแรงขึ้น

ส่วนในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า เขามองว่าการดำเนินงานจะคล้ายๆ กัน โดยนำความท้าทายมาเป็นแผนการดำเนินงานในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ฉะนั้นความท้าทายแน่ๆ คือเรื่องของการสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องสุดท้าย แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะหากไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้นั้น การดำเนินงานที่ผ่านมาก็ไร้ซึ่งความหมาย ฉะนั้นจะต้องสร้างความมั่นคงและความแข็งแกร่งให้กับผู้ถือหุ้นที่ลงทุนในแม็คกรุ๊ป 

สองเรื่องของจุดขาย Outlet ต่างๆ ช็อปต่างๆ ที่เปิดจะต้องได้ผลกำไรและได้ลูกค้าที่ถูกต้องตามกฎ ตามประเภทของบริษัท และที่สำคัญที่สุดคือสินค้า และท้ายที่สุดคือการสร้างคนในแม็คกรุ๊ปที่จะต้องเป็นทีมที่เก่งที่สุดในตลาด 

ส่วนเรื่องของ Partnership ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ 1.พาร์ตเนอร์ชิปในการเปิดสาขา ปัจจุบันที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น ปตท., กลุ่มเซ็นทรัล, โลตัส, บิ๊กซี, โรบินสัน ที่เป็นพาร์ตเนอร์ใหญ่ แต่ในอนาคตอาจจะมีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ และผลักดันพาร์ตเนอร์เก่าให้แข็งแรงขึ้น เพราะมองว่าพาร์ตเนอร์คือส่วนสำคัญที่จะช่วยขยายจุดขาย 

2.Collaboration คือ การเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ต่างๆ หรือกับสินค้า ประเภทธุรกิจอื่น เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับ Portfolio ของบริษัท เพื่อให้แบรนด์แม็คแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งมองว่าภายใน 3-5 ปีจะได้เห็นภาพนี้เยอะขึ้นอย่างแน่นอน 

สุดท้ายนี้เขาได้ทิ้งแนวคิดที่น่าสนใจไว้ว่า "ความท้าทายใน 3-5 ปีข้างหน้า คือการนำ Data และ AI มาใช้ในการดีไซน์ การจัดแพตเทิร์นของผู้บริโภค อีกทั้งเรื่องของการขาย เพื่อให้ธุรกิจรันได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนออกมาจากคีย์แมนคนสำคัญอย่าง “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เขาก็ยังคงเป็นขุนพลที่เลื่องชื่อได้อยู่ดี...


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ