พาณิชย์เปิดไทม์ไลน์เจรจา FTA ตั้งเป้าปิดดีลเร็วดันมูลค่าการค้าไทยโตยั่งยืน

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาณิชย์เปิดไทม์ไลน์เจรจา FTA ตั้งเป้าปิดดีลเร็วดันมูลค่าการค้าไทยโตยั่งยืน

Date Time: 8 มิ.ย. 2566 08:53 น.

Summary

  • กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนเจรจา FTA ใหม่ๆ ตั้งเป้าปิดดีลปี 68 พร้อมอัปเกรดฉบับเก่าให้ทันสมัย และศึกษาความเป็นไปได้ทำกรอบใหม่ๆในอนาคตตามที่เอกชนเสนอ หวังดันสัดส่วนมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA ให้ได้ถึง 80% ในปี 2570

Latest

คุยกับสองผู้บริหาร FutureTales Labs อีกด้านของความเจริญ "AI เทคโนโลยีแลกชีวิต" ตัวการทำร้ายโลก?

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนเจรจา FTA ใหม่ๆ ตั้งเป้าปิดดีลปี 68 พร้อมอัปเกรดฉบับเก่าให้ทันสมัย และศึกษาความเป็นไปได้ทำกรอบใหม่ๆในอนาคตตามที่เอกชนเสนอ หวังดันสัดส่วนมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA ให้ได้ถึง 80% ในปี 2570

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ว่า ภายในปี 2570 ที่จะถึงนี้ กรมมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ได้เป็น 80% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก จากปี 2565 ที่มูลค่าการค้าไทยกับคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ รวม 14 ฉบับ อยู่ที่ 359,542.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 60.9% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลกที่ 590,258.5 ล้านเหรียญฯ

เปิดไทม์ไลน์เจรจา FTA ใหม่ๆ

ทั้งนี้ การทำ FTA จะเพิ่มเสน่ห์ของไทยในสายตานักลงทุนต่างประเทศ ทำให้ไทยน่าเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าแล้วใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ส่งออกไปประเทศคู่ FTA ของไทย ช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการ ช่วยลดต้นทุนด้านภาษี เพราะคู่ FTA ลดและยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเกือบทั้งหมดแล้ว อีกทั้ง ยังช่วยขจัดปัญหา อุปสรรคด้านการค้า การลงทุน เพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุน ส่งผลให้การค้า การลงทุนระหว่างกันคล่องตัว และเกิดมูลค่าการค้า การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนในอนาคต

ดังนั้น ช่วงปี 2565-66 กระทรวงพาณิชย์จึงประกาศเปิดการเจรจา FTA กับประเทศ และกลุ่มประเทศใหม่ๆ ได้แก่ ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA สมาชิก คือ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์), ไทย-สหภาพยุโรป (EU 27 ประเทศ), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอาเซียน-แคนาดา เพื่อขยายโอกาส และเพิ่มมูลค่าทางการค้า การลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย

สำหรับกลุ่ม EFTA การเจรจารอบแรกเริ่มในเดือน มิ.ย.2565 และทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าหมายเจรจาให้จบภายใน 2 ปี หรือปี 2567 ส่วน EU นัดเจรจารอบแรกเดือน ก.ย.2566 ตั้งเป้าหมายเจรจาให้จบใน 2 ปี หรือปี 2568 ขณะที่ UAE เจรจารอบแรกแล้วเมื่อวันที่ 16-18 พ.ค.66 ตั้งเป้าหมายเจรจาให้จบใน 6 เดือน หรือปี 2566 ส่วนอาเซียน-แคนาดา เจรจารอบแรกเดือนก.ย.2565 ตั้งเป้าหมายให้จบใน 2 ปี หรือปี 2567 นอกจากนี้ จะเจรจา FTA ที่ยังค้างให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งไทย-ศรีลังกา ที่เริ่มเจรจาปี 2561 ตั้งเป้าหมายปิดดีลปี 2567 รวมถึงไทย-ตุรกี และไทย-ปากีสถาน

“ทุกกรอบเจรจา หลังเจรจาจบแล้วจะเผยแพร่ผลการเจรจา และเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบก่อนที่ไทยจะให้สัตยาบัน และความตกลงมีผลใช้บังคับ กระบวนการนี้ใช้เวลาอย่างช้า 6 เดือน”

อัปเกรดฉบับเดิมให้ทันสมัยทันโลก

นางอรมน กล่าวอีกว่า นอกจากเจรจา FTA ใหม่ๆ แล้ว กรมยังจะยกระดับ (อัปเกรด) FTA เดิมในกรอบอาเซียน และอาเซียน+1 (ประเทศคู่ FTA) ที่บังคับใช้มาหลายปี ให้ทันสมัย สอดคล้องกับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, อาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-เกาหลีใต้

ขณะเดียวกัน ได้ว่างจ้างสถาบันวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ และผลดี ผลเสียของการทำ FTA ไทยกับประเทศใหม่ๆในอนาคตตามที่เอกชนเสนอ เช่น อิสราเอล, ภูฏาน, เกาหลีใต้, กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู), กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน ยูเออี กาตาร์ และบาห์เรน), สหภาพศุลกากรแห่งแอฟริกาตอนใต้ (SACU แอฟริกาใต้ บอตสวานา เลโซโท สวาซิแลนด์ และนามิเบีย), ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย)

“นอกจากว่าจ้างสถาบันวิจัยศึกษาแล้ว กรมยังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย หากทำเสร็จจะนำผลดำเนินการทั้ง 2 ส่วนเสนอ รมว.พาณิชย์คนใหม่พิจารณา ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบต่อไป”

นอกจากนี้ จะจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเร็วขึ้น และปูทางไปสู่การทำ FTA จากก่อนหน้านี้ 2 ฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ร่วมกันแล้ว รวมถึงออสเตรเลียที่แม้ไทยมี FTA และสินค้าส่วนใหญ่ลดภาษีเป็น 0% แล้ว แต่ยังมีบางสินค้าที่น่าจะเปิดเสรีเพิ่มได้อีก

ดันตั้งกองทุน FTA ลดผลกระทบ

นางอรมน กล่าวว่า FTA ที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมการเจรจาอย่างมาก คือ FTA ที่เจรจากับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น EU เพราะเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานการเปิดเสรีในระดับสูง และมีประเด็นอ่อนไหวที่น่าเป็นห่วงหลายประเด็น ซึ่งต้องหารือทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ เจรจาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้การทำ FTA จะได้ประโยชน์ แต่ก็มีบางกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ กระทรวงพาณิชย์จึงจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และลดผลกระทบ ล่าสุด อยู่ระหว่างยกร่างพ.ร.บ.กองทุน FTA คาดจะเสร็จเร็วๆนี้ และเข้าสู่กระบวนการออกเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

โดยเงินกองทุนที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบนั้น ส่วนหนึ่งจะขอจัดสรรจากเงินงบประมาณของรัฐบาล กำหนดทุนประเดิมไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และส่วนอื่นๆอาจเอามาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากทั้งนำเข้าและส่งออกภายใต้ FTA หรืออาจรับบริจาคเป็นการทั่วไปเข้ากองทุน คาดว่าการยกร่างจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ และเข้าสู่กระบวนการออกเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

“การเจรา FTA ทีมเจรจาที่ประกอบด้วยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเจรจาต่อรองอย่างรอบคอบที่สุด ยึดผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศเป็นหลัก โดยก่อนการเจรจาจะหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนด้วย”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ