ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ :โลกมีแต่สิ่งสมมติ มนุษย์สื่อสารด้วยนามธรรม แล้วทำไม Bitcoin ถึงมีมูลค่าไม่ได้

Business & Marketing

Executive Interviews

Tag

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ :โลกมีแต่สิ่งสมมติ มนุษย์สื่อสารด้วยนามธรรม แล้วทำไม Bitcoin ถึงมีมูลค่าไม่ได้

Date Time: 14 พ.ค. 2566 16:49 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และปัจจุบันเขายังทำสื่อการเรียนรู้ด้านคริปโต (Crypto Media Education) ชื่อว่า Bitcast เพื่อเผยแพร่ความรู้ ในเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้คนมีความเข้าใจและทำให้อนาคตของสังคมเกิดความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ในระยะยาว
  • การเข้ามาอยู่ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่สามารถที่จะหยุดเรียนรู้ได้เลย เพราะบางอย่างมันมากไปกว่าเรื่องเทคโนโลยี มันมีวิธีคิด มันมีปรัชญาแทรกอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งพอสมควร
  • แม้ว่า Bitcoin ไม่ได้ generate อะไรให้ แต่มันจะเป็นตัวเก็บมูลค่าที่แท้จริงให้กับเรา ถ้าเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนทองและที่ดิน ที่ซื้อแล้วสุดท้ายเราได้แค่ price appreciation ต่างจาก หุ้นตรงที่มีปันผล มี capital gain ซึ่งมันก็คือ price appreciation เพียงแต่ว่ามันจะมีสูตร มีวิธีคิดทางบัญชีมารับรองว่า fair price อยู่ที่เท่าไร
  • ในโลกของคริปโต มันมีความน่ากลัวตรงที่ว่า คนในโลกนี้จะอาศัยข่าวที่เขาอยากให้เรารู้เป็นตัวตัดสินใจ ตรงนี้จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง คริปโต Bitcoin ก็จะตามมาด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย บ้างก็เชื่อมั่น บ้างก็ยังมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ เพียงเพราะเลื่อนลอย หาเหตุและผลให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมาสักระยะจนกระทั่งได้เห็นจุดยืนในฐานะสินทรัพย์หนึ่งที่ลงทุนเป็นได้เรียบร้อย เพียงอนาคตก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าท้ายที่สุดจะหยุดที่จุดไหนกันแน่

Thairath Money มีโอกาสได้พูดคุยกับศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และปัจจุบันเขายังทำสื่อการเรียนรู้ด้านคริปโต (Crypto Media Education) ชื่อว่า Bitcast เพื่อเผยแพร่ความรู้ ในเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้คนมีความเข้าใจและทำให้อนาคตของสังคมเกิดความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ในระยะยาว และในบทความนี้ก็จะทำให้ทุกคนเข้าใจและมีมุมมองที่กว้างขึ้นก่อนที่คิดจะเข้ามาในโลกที่น่าตื่นเต้นตลอดเวลาของสินทรัพย์ดิจิทัล

ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า ศุภกฤษฎ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในวงการเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน ประกอบกับความสนใจด้านการลงทุน ทำให้เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการทำความรู้จักกับบิตคอยน์ผ่านการขุด (mining) ทำให้เข้าใจโครงสร้างมากขึ้น จึงได้เข้ามาศึกษาอย่างจริงจังในโลกของคริปโต ซึ่งทำให้ยิ่งเข้าใจเลยว่า

สิ่งที่รู้มาในอดีตใช้ไม่ได้เลย แม้ว่าจะพยายามนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงทุนในหุ้นมาปรับใช้ โดยหาเหตุผลมาตัดสินกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ทุกอย่างมันคนละเรื่องราว คนละวิธีคิด ถึงขั้นเรียกได้ว่าคนละโลกเลยก็ว่าได้ ทำให้ต้องกลับมาทบทวน แล้ววิเคราะห์ว่าจริงๆ แล้ว สิ่งนี้มันคือเรื่องใหม่ พฤติกรรมใหม่ ที่ไม่สามารถเอาประสบการณ์หรือความรู้ในอดีตมาตัดสินได้เลย

ดังนั้นการเข้ามาอยู่ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่สามารถที่จะหยุดเรียนรู้ได้เลย เพราะบางอย่างมันมากไปกว่าเรื่องเทคโนโลยี มันมีวิธีคิด มันมีปรัชญาแทรกอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งพอสมควร

โลกของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าไม่มีวันเข้าใจจริงหรือ

ศุภกฤษฎ์ ให้มุมมองว่า ต้องบอกว่าไม่ได้ลิมิตที่คนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง ข้อจำกัดของการเข้ามาในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลมันมีทุกช่วงอายุ ยกตัวอย่างเช่นคนที่เคยชินกับระบบแบบดั้งเดิม ก็จะมีวิธีคิดในอีกแบบที่ทำให้ปิดกั้นในตัวเทคโนโลยีไปเลย เพราะว่าอาจจะมีความรู้สึกว่ามันไม่ make sense มันไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีหลักการอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วมันแค่คนละหลักการเท่านั้นเอง

ส่วนคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็จะมีความรู้สึกว่าตัวเองอยากจะรวยเร็วอยากจะประสบความสำเร็จเร็ว โดยที่ไม่ได้มีความอดทนและวินัยมากเพียงพอ ซึ่งมันหาได้ยากจริงๆ สำหรับคนที่จะประสบความสำเร็จโดยขาดวินัย ขาดความอดทน เราเห็นคนอื่นเขาทำได้ แต่เราอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าเบื้องหลังจริงๆ เขาต้องมีวินัยขนาดไหน มีความอดทนขนาดไหนกว่าที่จะขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว พี่ว่ามันมีความท้าทายที่หลากหลายมาก แล้วแต่ละคน แต่ละวัยก็จะมีข้อจำกัด ที่ปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้ามาอยู่ในโอกาสตรงนี้ แตกต่างกันไปตามอายุและประสบการณ์

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผู้ก่อตั้ง Bitcast สื่อการเรียนรู้ด้านคริปโต (Crypto Media Education)
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผู้ก่อตั้ง Bitcast สื่อการเรียนรู้ด้านคริปโต (Crypto Media Education)

คนส่วนใหญ่มักจะมอง คริปโต Bitcoin ไร้ประโยชน์ แต่จริงๆ สาระสำคัญของสิ่งเหล่านี้อยู่ตรงไหน

ศุภกฤษฎ์ ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ว่า มีหลายคนมาถามเหมือนกันว่าสาระจริงๆ มันอยู่ตรงไหน ต้องบอกแบบนี้ว่า จริง ๆ แล้วมนุษย์เรา เวลาที่จะตัดสินอะไรมันจะตัดสินจากประสบการณ์ และความรู้ที่ตัวเองมีมาในอดีต ซึ่งไม่ได้ผิด เพียงแต่ว่าในโลกนี้มันไม่ได้มีเรื่องที่ถูกเรื่องเดียวแล้วเรื่องอื่นผิดหมด จริงๆ บางทีมันมีถูกกับถูก ขึ้นอยู่กับเราจะเลือกอย่างไรก็เท่านั้น

แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงมองแล้วมันดูไร้สาระ อย่างแรกเลย คือ สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ในความเป็นจริงมนุษย์จะมีความรู้สึกว่า สิ่งที่จับต้องได้มันคือของจริง อะไรที่มันจับต้องไม่ได้ มันคือของเลื่อนลอย แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่จับต้องได้มันเป็นแค่สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่ทำให้สมองเราจดจำหรือใช้ในการสื่อสาร เรื่องมันมีแค่นั้น เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์สื่อสารกันด้วยนามธรรมล้วนๆ

อย่างเช่น เครื่องหมายที่เราจับต้องได้ จริงๆ มันก็คือ การกระตุ้นให้สมองเราสื่อสารกับคนอื่นได้ว่า สิ่งนี้มีค่า สิ่งนี้ไม่มีค่า สิ่งนี้มีความหมายอย่างไร มันมีแค่นั้น เพียงแต่พอในยุคใหม่ คนใช้วิธีการสื่อสารแบบที่จับต้องไม่ได้ โดยไปใช้สัญลักษณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือสื่อสาร แต่คนกลับไม่เชื่อ

ดังนั้นเวลาเวลามีคนมาถามว่ามันเรื่องสมมติทำไมถึงไปเชื่อ เราก็จะถามเขากลับว่า ในโลกของมนุษย์มันมีเรื่องไหนที่ไม่สมมติบ้าง จริงๆ เราสมมติขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นเหมือนโปรโตคอลในการสื่อสารเท่านั้นเอง

คิดง่ายๆ ว่า เวลาเราไปต่างประเทศ แล้วนำเงินของประเทศอื่นไปใช้ ก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รับการยอมรับ นั่นคือโปรโตคอลหรือสัญลักษณ์ไม่ได้โกลบอล ไม่ได้รับการยอมรับในที่ตรงนั้น ในโลกของคริปโตก็เช่นกันโปรโตคอลนี้มันเริ่มเซตขึ้นมา มันเริ่มมีกลุ่มคนที่ยอมรับสัญลักษณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้นในการใช้ของเขา มันก็จะเกิดการยอมรับกันขึ้นในกลุ่มคนแบบนั้น ดังนั้นที่ยืนของมัน มีเรียบร้อยแล้ว ถ้าพิสูจน์กันก็คือในช่วงตั้งแต่ปี 2008 จนมาถึงปัจจุบัน ถ้ามันไม่มีการยอมรับเกิดขึ้นเลย มันจะต้องหายไปแล้ว แต่ปัจจุบันมันยังอยู่ ซึ่งก็พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่าตัวเทคโนโลยีมันตอบโจทย์

แต่ก็ต้องบอกอย่างนึงว่า ณ ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ ยังมองว่ามันก็ยังอยู่ในช่วงพิสูจน์ตัวเองอยู่ ดังนั้นอย่าไปตัดสินมันว่ามันคือข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว เพราะข้อเท็จจริงอันนี้มันจะเกิดจากการที่คนยอมรับกันจำนวนมาก เพียงแต่ว่าตอนนี้เราแค่เห็นว่าสภาพของมันไม่น่าจะตายแล้ว เพียงแต่ว่ามันจะโตไปอีกหรือว่าอยู่แค่นี้ หรือว่าสุดท้ายมันจะค่อยๆ ลดความสำคัญหรือบทบาทลง ในอนาคตเราบอกไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องที่เราเองต้องตระหนักในตัวเองด้วยว่า แล้วถ้าในอนาคตมันเกิดได้รับการยอมรับ เราจะปล่อยโอกาสที่มีตอนนี้ไปหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องส่วนบุคคล บางคนก็ยอมรับไม่ได้กับความเสี่ยงนี้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การที่เราจะเลือกเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ให้เรากลับมาดูบุคลิกของเราว่าเหมาะกับมันไหม เราเข้าใจมันอย่างจริงจังไหม เพราะการเลือกซื้อเลือกลงทุนอะไรก็แล้วแต่ที่เราไม่เข้าใจ มันคือความเสี่ยง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจมันให้ดีก่อน แล้วรู้สึกว่าเชื่อมันจริงๆ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ

สร้างความมั่งคั่งจากสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างไรบ้าง

ศุภกฤษฎ์ กล่าวว่า ในช่วงแรกที่เข้ามาลงทุนในคริปโต เขาใช้วิธีคิดเหมือนการลงทุนในหุ้น แต่อย่างที่บอกว่าเอาเข้าจริงมันคนละโลก แต่มันจะมีบ้างบางโปรเจกต์ บางเหรียญที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่ดีกรีความเสี่ยงมันสูงกว่ามาก ซึ่งต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก

ส่วนตัวที่เป็นอิสระ ไม่เหมือนใครเลย มีอยู่แค่ตัวเดียวคือ Bitcoin ที่แม้ว่ามันไม่ได้ generate อะไรให้ แต่มันจะเป็นตัวเก็บมูลค่าที่แท้จริงให้กับเรา ถ้าเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนทองและที่ดิน ที่ซื้อแล้วสุดท้ายเราได้แค่ การเพิ่มขึ้นของราคา (price appreciation) ซึ่งมันจะต่างจาก หุ้นตรงที่มีปันผล มันมี ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (capital gain) ซึ่งมันก็คือ price appreciation เพียงแต่ว่ามันจะมีสูตร มีวิธีคิดทางบัญชีมารับรองว่าราคาเหมาะสม (fair price) อยู่ที่เท่าไร

ส่วนคนที่ไม่ชอบคริปโต ก็เพราะ fair price มันอยู่ตรงไหน อันนี้มันคือปัญหาที่คนส่วนใหญ่ที่คุ้นชินกับการลงทุนไม่โอเคกับคอนเซปต์เหล่านี้ เพราะรู้สึกว่าซื้อราคานี้จะรู้ได้อย่างไรว่ามันยุติธรรมหรือไม่

แต่จริงๆ แล้วหลักคิดของสิ่งเหล่านี้มันคนละวิธีกัน ฝั่งคริปโตก็จะเป็น ตลาดเสรี (free market) ล้วนๆ ดังนั้น fair price มันคือราคาที่ตลาดบอก ถ้าตลาดอยากได้มันก็ขึ้น ตลาดไม่อยากได้มันก็ลง แต่อีกฝั่งนึงมันจะมีเรื่องของการควบคุมอะไรบางอย่างที่ทำให้ราคามันอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม

ดังนั้นส่วนตัวจึงมองว่าถ้า Bitcoin ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ ก็จะไม่มาลงทุน เพราะถ้าย้อนไปดูประวัติที่ผ่านมา (track record) ลองดูกราฟที่เป็นลอการึทึม เราจะเห็นมันอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น แล้วมันก็แทบจะเป็นลักษณะเดียวกันกับสินทรัพย์ประเภทอื่น แล้วคนรุ่นใหม่ยอมรับมากขึ้น

มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า Wealth Transfer ความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น ความหมายคือว่า คนที่เคยเชื่อมั่นในทองอาจจะเริ่มหายไปตามกาลเวลา wealth มันจะถูกส่งจากรุ่นหนึ่งมาอีกรุ่นหนึ่ง ลองคิดดูว่าคนรุ่นใหม่จะถือทองหรือ Bitcoin อีก 5-10 ปี อย่างไรตลาดมันก็ยังโตต่อไปได้

จากประวัติศาสตร์มันก็โตขึ้นเรื่อยๆ แต่มีข้อแม้ คือ ต้องมั่นใจในสินทรัพย์ และ ระยะเวลาในการลงทุน (time horizon) ที่ยาวพอ เพราะถ้า time horizon ของคุณสั้น คุณจะอยู่ในกราฟที่มันขึ้นๆ ลงๆ (fluctuate) 80-90% แต่ถ้า time horizon ของคุณยาวมากกำไรของคุณมันเป็น 1,000-10,000% ถ้ากล้าที่จะถือมันไว้ 5-10 ปี

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผู้ก่อตั้ง Bitcast สื่อการเรียนรู้ด้านคริปโต (Crypto Media Education)
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ผู้ก่อตั้ง Bitcast สื่อการเรียนรู้ด้านคริปโต (Crypto Media Education)

ความรู้สึกของคนลงทุนมักแปรผันไปตามข่าว แนะนำอย่างไรดี

ศุภกฤษฎ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมักตัดสินใจจากภาพใหญ่ ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นรายวันมันไม่ได้กระทบ หรือมีผลกับสินทรัพย์ที่เราถือในระยะยาวก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก อย่างที่บอกถ้า time horizon ยาว มันจะมีความสบายใจในการลงทุนมาก มันเหมือนกับการที่เราซื้อหุ้น ที่เราต่างก็รู้ว่า ราคามันไม่ใช่ทุกเรื่องของหุ้น เพราะมันเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเรารู้ว่างบการเงินของเขาดี ธุรกิจยังมีกำไร ลูกค้ายังมีต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าคนแพนิกอะไรบางอย่างแล้วราคามันร่วง มันก็ไม่จำเป็นจะต้องขาย

แต่ต้องบอกว่าในโลกของคริปโต มันมีความน่ากลัวตรงที่ว่า คนในโลกนี้จะอาศัยข่าวที่เขาอยากให้เรารู้เป็นตัวตัดสินใจ ตรงนี้จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วเราเลือกที่จะหาข่าวได้เอง ยกตัวอย่างเช่น Bitcoin ที่มองว่ามันค่อนข้างโปร่งใสที่สุดแล้ว ซึ่งจริงๆ เหรียญอื่นๆ มันก็มี แต่มันยังมีบางมุมที่มีคนคุมเหรียญอยู่ที่เราไม่สามารถที่จะรู้ใจเขาได้เลย

แต่สำหรับ Bitcoin มันเป็นการกระจายศูนย์ (Decentralize) มันบาลานซ์แล้วสามารถตรวจสอบกันเองได้ คนที่เป็น node คนที่เป็นนักขุด นักพัฒนา ถูกสร้างขึ้นมาให้บาลานซ์กันเอง เพราะฉะนั้นเวลาเราดู ก็จะดูภาพใหญ่ของตรงนี้ เราดูอัตราของปริมาณ node ว่ามันเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าลองนึกสภาพว่าปริมาณ node มันเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบในมุมธุรกิจมันเหมือนสาขาของร้านที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของ network wallet address เพิ่มขึ้น transfer volume เพิ่มขึ้น transaction เพิ่มขึ้น เหล่านี้มันคือข้อมูลที่เราหาได้เอง ไม่ต้องขอใครหรือรอให้ใครสรุปให้ด้วย

ซึ่งมันเป็นการเปิดโลกอีกแบบหนึ่ง แล้วมันมีความเรียลไทม์ที่ไม่จำเป็นต้องไปรอรอบปิดบัญชีรายไตรมาส ข้อมูลทุกอย่างมันอยู่ on chain เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยตัวเอง

ส่วนใหญ่ด้วยความที่ว่ามันอยู่บนบล็อกเชน ดังนั้นเราควรที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงจากบล็อกเชน เพราะมันไม่โกหกเรา อีกทั้งยังมีหลักในการดูโปรเจกต์คริปโตว่ามันเดินอยู่หรือไม่เดินอยู่ ให้ดูว่าชุมชนนั้นๆ ได้ให้การสนับสนุนกันมากขนาดไหน มันก็คล้ายๆ กับประเทศๆ หนึ่ง ที่มันอยู้ในรูปแบบ virtual ยิ่งคนสนับสนุนมากเท่าไรแสดงว่าคน migrate เข้ามาในประเทศนี้มากขึ้น มันกลายเป็นประเทศที่มีแกนกลางในการใช้เครื่องหมายเดียวกันในการที่เราจะคุยและสื่อสารกัน

อัตราของคนที่สนับสนุนมันมีมากขึ้นเรื่อยๆในการที่มีคนถือ ก็แสดงว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองในนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งชุมชนสนับสนุนกันมากน้อยขนาดไหน เราดูจาก network ซึ่งมันก็จะกลายเป็น network effect ที่เมื่อคนหนึ่งใช้ อีกคนหนึ่งรับมัน ก็มีการบอกต่อ มีประสบการณ์ในการใช้ และเทคโนโลยีมันก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้สามารถดูได้จากกลุ่มนักพัฒนา ซึ่งดูง่ายๆ เลยคือไปดูที่ Github มันเป็นที่คนที่เป็นนักพัฒนา ไปเผยแพร่ source code ขึ้นไปบนนั้น แล้วเราดูว่ามันมีคนที่เขียนโปรแกรมขึ้นไปบนนี้หรือไม่ มีการ improve proposal ในนั้นหรือไม่ ถ้ามี bug ขึ้นมา มี bug fix แล้วมีคนแก้ไหม

เรื่องพวกนี้เราสามารถดูได้หมดเลย ซึ่งทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้หยุดนิ่ง มันมีชีวิต มันเติบโตอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไปซื้อหรือลงทุนในสิ่งที่มันตายแล้ว มันไม่เคลื่อนไหว ไม่มีชีวิตแล้ว ดังนั้นมันไม่โตแล้ว แต่ถ้ามันโตมันจะมาจากพื้นฐานที่มาจากการปั่น เอาพวกวาฬ (นักลงทุนรายใหญ่ในโลกคริปโต) เอาเงินมาหยอดให้กราฟมันเขียวขึ้น รายย่อยก็เฮโลเข้ามา แต่ถ้าเราดู พื้นฐานของพวกนี้ จะเห็นภาพเลยว่ากิจกรรมที่มันเกิดขึ้น network มันมีคนใช้มากขนาดไหน effect จากที่มันมีการพัฒนาแล้วมีการส่งต่อกัน แล้วมันมีคนเข้ามาใน network มากขึ้นขนาดไหน

ซึ่งถ้าพูดในแง่ของเทคโนโลยีมันเหมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็น Value Infrastructure ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานของมูลค่า แต่ก่อนในยุคของอินเทอร์เน็ตมันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของ information คือ ข้อมูล มายุคนี้มันยกระดับขึ้นมา ถ้าเราเปรียบเทียบเหมือนถนน สร้างขึ้นมาแล้วไม่มีรถวิ่งมันไม่เวิร์ก แต่ถ้ามันมีถนนขึ้นมาแล้วรถมันวิ่งกันเยอะ แล้วเราไปตั้งร้านค้าอยู่บนถนนที่มีรถวิ่งผ่านไปผ่านมา exposure มันก็เยอะตาม เหล่านี้เป็น key หนึ่งที่ ตั้งแต่มีโอกาสเข้ามาในโลกของคริปโต เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรายังไม่รู้หรอกว่ารูปร่างหน้าตาและการยอมรับในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราย้อนกลับไปในอดีต รุ่นคุณปู่คุณย่าเขาเชื่อในการเอาเงินฝากใส่ไหฝังดินมากกว่าการฝากธนาคารด้วยซ้ำ

ยุคสมัยมันเปลี่ยน mindset ของคนมันเปลี่ยน พอยุคพ่อแม่ คือเชื่อธนาคารไปแล้ว เพราะเขาเกิดมาก็ได้ใช้ธนาคารแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารดีหรือไม่ดีนะ แต่แค่จะบอกว่า บริบททางสังคมเปลี่ยน เครื่องมือที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมย่อมเปลี่ยนตามก็เท่านั้นเอง


Author

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)
Leading efforts to deliver content on the Digital Economy and the Future of Money.