คุยกับสองผู้ก่อตั้ง MEB คนเทคที่ปั้นธุรกิจ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ สู่ E-Book ระดับมหาชน

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คุยกับสองผู้ก่อตั้ง MEB คนเทคที่ปั้นธุรกิจ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ สู่ E-Book ระดับมหาชน

Date Time: 1 มี.ค. 2566 16:03 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • Thairath Money ได้พูดคุยกับ ไช้-รวิวร มะหะสิทธิ์ และ โก๋-กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม สองผู้ก่อตั้งบริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB (Mobile E-books) และ ReadAwrite ผู้ให้บริการ E-book แบบครบวงจรอันดับหนึ่งของไทย ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องยอมรับว่า สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในทุกอณูของการดำเนินธุรกิจ จนเห็นผลลัพธ์ที่สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

Latest


เทคโนโลยี เข้าทดแทนให้บางอย่างหายไป ในขณะเดียวกันก็สร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้นธุรกิจต่างต้องนำไปปรับใช้ เพื่อปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ในบทความนี้ Thairath Money ได้พูดคุยกับ ไช้-รวิวร มะหะสิทธิ์ และ โก๋-กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม สองผู้ก่อตั้งบริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB (Mobile E-books) และ ReadAwrite ผู้ให้บริการ E-book แบบครบวงจรอันดับหนึ่งของไทย ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องยอมรับว่า สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในทุกอณูของการดำเนินธุรกิจ จนเห็นผลลัพธ์ที่สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

MEB ก่อตั้งขึ้นโดย สองเด็กคณะวิศวะที่รักการอ่าน ชื่นชอบในหนังสือ มาสู่การเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ และได้เห็นเพนพอยท์ของธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดหน้ากระดาษ การพิสูจน์ตัวอักษรที่ต้องทำซ้ำๆ พื้นที่จัดเก็บ และอีกมากมายที่วงการหนังสือต้องเผชิญ จึงพยายามแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยการเขียนโปรแกรมมาช่วย นำมาสู่การตัดสินใจสร้าง MEB ซึ่งเป็นการสร้างธุรกิจที่มาพร้อมกับโอกาสของเทคโนโลยี ทั้งการเปิดตัวของ iPad อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น ดังนั้น การทำธุรกิจ E-Book จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งเพนพอยท์ของธุรกิจเดิม และยังคงอยู่ใกล้ชิดหนังสือต่อไปได้

กิตติพงษ์ กล่าวว่า นักอ่านส่วนใหญ่มักมีหนังสือกองเป็นหมื่นเล่มที่บ้าน เราพัฒนา MEB ด้วยแนวคิดง่ายๆ ว่า ถ้ายกห้องสมุดไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตจะหน้าตาอย่างไร รวมถึงจะทำอย่างไร จึงจะสามารถสนับสนุนนักเขียนนักอ่านได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ธุรกิจของเราต้องอยู่รอดไปด้วย เรามีพื้นฐานเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ดังนั้นแนวคิดเราก็ไม่ต่างจากนักเขียน เรามีส่วนผสมทั้งความเป็นนักอ่าน สำนักพิมพ์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ จึงทำให้เรามีข้อได้เปรียบมากกว่าคนที่มองอยู่ไกลๆ


จากธุรกิจขนาดเล็ก และมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มเซ็นทรัล เข้ามาลงทุน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?


กิตติพงษ์ เล่าว่า การเข้ามาของกลุ่มเซ็นทรัล เป็นการสนับสนุนในเรื่องเชื่อมต่อกับสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายรายย่อยอื่นๆ รวมถึงช่วยเตรียมระบบ Internal Control อย่างระบบบัญชีการจัดการทรัพยากรบุคคลให้กับ MEB เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ตอนนั้น

เพราะเพนพอยท์ที่เราต้องเผชิญก่อนหน้านั้น คือ การติดต่อสำนักพิมพ์ใหญ่เพื่อให้ส่งหนังสือมายังแพลตฟอร์ม ตอนนั้นเราเป็นโนบอดี้ ขณะนั้น ตลาด E-Book ยังเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากเท่าปัจจุบัน ตรงนี้ทำให้รู้ว่าธุรกิจ E-Book ต้องการความน่าเชื่อถือ

รวิวร กล่าวเสริมว่า การเข้ามาของบริษัทใหญ่ อาจจะมีผลต่อความรู้สึกกับคนภายนอก คนมองว่าเราจะเปลี่ยนนโยบาย จะบีบคู่ค้าของเรามากขึ้นหรือไม่ แต่สำหรับภายในของ MEB เอง ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ เพราะเป็นการลงทุนที่ชัดเจนว่า ต้องการถือหุ้นที่แบ่งรายได้แบบปกติ ไม่มีส่งต่อข้อมูลลูกค้าหรือพฤติกรรมคนอ่าน เขาไม่ได้มาลงทุนเพื่อจะเอาข้อมูล เราแยกส่วนกัน ซึ่งเป็นนโยบายเราตั้งแต่ต้นที่จะไม่ยุ่งและปกป้องข้อมูลลูกค้า พฤติกรรมการใช้งานลูกค้าเก็บเพื่อพัฒนาระบบงานและบริการของลูกค้ารายนั้นๆให้ดีขึ้น ไม่ได้ให้องค์กรภายนอกมาใช้ประโยชน์

สำหรับคนเทคที่มาทำธุรกิจ ส่งผลให้ MEB มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไรบ้าง?

กิตติพงษ์ กล่าวว่า กำไรขั้นต้นของธุรกิจทุกคนก็เหมือนๆ กัน แต่สุดท้ายการที่กำไรสุทธิของเราสูงกว่า มาจากการวางระบบที่ดี อะไรที่เขียนโปรแกรมได้ เขียนโปรแกรมช่วย อะไรที่ออโตเมทได้ก็ทำ ที่ต้องเอาผลมาสอบทานซ้ำๆ เรื่องนี้เป็นเหมือนกับดีเอ็นเอของ MEB เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม MEB สเกลได้เร็วกว่าระบบบริษัทใหญ่ๆ เดิมที MEB ออกแบบระบบเพื่อแก้เพนพอยท์ธุรกิจหนังสืออยู่แล้ว ตลาดหนังสือเป็นตลาดที่มีซัพพลายเออร์มากราย พอเราเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจหนังสือว่ามีข้อคำนึงอะไร เราออกแบบระบบมาตั้งแต่แรกเริ่ม

รวิวร เล่าต่อว่า เราเป็นบริษัท Core IT อยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไรเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ เราอยู่ในยุคที่มันมีระบบคลาวด์เซอร์วิส ช่วยเราได้เยอะมาก ตั้งแต่เริ่มต้นจนขยายธุรกิจ คลาวด์จะสามารถจ่ายเท่าที่คุณใช้ ช่วงไหนที่ลูกค้าเยอะ มีอีเวนต์ใหญ่ เราสเกลขึ้นมา พออีเวนต์จบเราสเกลลง ช่วยคุมต้นทุนได้ตรงกับการใช้งานจริง ลูกค้าจากทั่วโลก เขาเข้าใช้งานได้รวดเร็ว ทำให้เราได้เปรียบเรื่องความมั่นคงด้วย หากมีสงครามหรือเหตุการณ์อะไรที่กระทบการทำงานของระบบ มันต้องแข็งแกร่งระดับนั้น

มีมุมมองกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บล็อกเชน จะเปลี่ยนภาพอุตสาหกรรม และมีผลกับธุรกิจอย่างไร?

รวิวร กล่าวว่า สำหรับ MEB เราทำ E-Book ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการอ่าน ถ้าเราติดอยู่ในกรอบเดิมว่า เราจะทำเป็นเล่มเท่านั้น ฉันจะขายเป็นเล่มเท่านั้น จะไม่ขายที่อื่น มันก็จะมีทางไปต่อเพื่อให้สำนักพิมพ์ นักเขียน มาเจอนักอ่านได้ ถ้าเราเริ่มตั้งกำแพงเมื่อไร มันก็จะไปต่อไม่ได้

เราผ่านยุคเปลี่ยนผ่านมาแล้ว ครั้งหนึ่งในธุรกิจถ่ายภาพจากฟิล์มขาวดำที่พัฒนาไปสู่ กล้องดิจิทัลความละเอียดสูง ทุกวันนี้เรามีกล้องคุณภาพสูงในมือถือ ครั้งที่สองธุรกิจแผ่นเสียง เทปคาสเซต ซีดี ดีวีดี และทุกวันนี้เพลงอยู่ในอินเทอร์เน็ต และครั้งที่สาม ธุรกิจหนังสือ จากหนังสือโรเนียลเล่มหนาๆ สู่หนังสือที่บนอยู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้คอนเทนต์การอ่านยาวๆ ไม่หายไป

“เราไม่ควรยึดเอาเทคโนโลยีเป็นจุดตั้งต้น ควรมองว่าธุรกิจของเราหรือสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าธุรกิจต้องการเทคโนโลยีนั้นหรือไม่ แล้วสิ่งนั้นให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือเพียงใด ไม่ใช่เราจะทำบล็อกเชนเราก็เลยต้องหาอะไรที่มาเข้ากับบล็อกเชนแล้วมาทำ เป้าหมายคือทำธุรกิจ ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีเป็นเป้าหมาย สมมติเราบอกว่า เราจะทำ E-book บนบล็อกเชน คำถามคือผู้บริโภคได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้น ถ้าคุณหาคำตอบนั้นชัดเจนไม่ได้ นั่นไม่ใช่เทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับคุณ”

กิตติพงษ์ กล่าวเสริมว่า เรียกว่าบางธุรกิจก็มีเทคโนโลยีที่เหมาะกับธุรกิจนั้นๆ ต้องคิดว่าถ้าเอามาใช้แล้วจะดีกว่าการใช้สิ่งเดิมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเราเอาผลไปหาโจทย์ มันผิดด้านไปหมด

คนไทยอ่านเยอะแค่ไหน ทิศทางการเติบโตของ MEB หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?

รวิวร กล่าวว่า จริงๆ คนไทยอ่านเยอะ พฤติกรรมการอ่านบนออนไลน์มากขึ้น ทุกวันนี้เราอ่านเฟซบุ๊กกันทุกวัน อ่านกันจนครบหน้าฟีด ยิ่งเวลามีดราม่า เพื่อนส่งลิงก์ดราม่านี่อ่านจนความเห็นสุดท้าย

ในมิติตัวเลข คนไทยที่อ่าน E-Book เทียบกับประชากรทั้งหมด อยู่ที่ 9% จีน ญี่ปุ่น อเมริกา อยู่ที่ 30-40% อัตราการอ่าน E-Book กับหนังสือจริงของไทยอยู่ที่ไม่เกิน 20% จะเห็นว่า ไทยยังมีช่องว่างให้เติบโตได้ เทรนด์จะเติบโตไปทิศทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เร็วช้าบอกไม่ได้ แต่รู้ว่าไม่มีถอย กลุ่มนักอ่านของ MEB มีอายุ 20-45 ปี ReadAwrite กลุ่มนักอ่านมีอายุตั้งแต่ 15 ปี เป็นต้นไป จากสถิติชื่นชอบหมวดหมู่นิยายและวรรณกรรมมากที่สุด รายได้ส่วนใหญ่มาจากคอนเทนต์ด้านบันเทิง ซึ่งไม่ต่างจากต่างประเทศ เด็กรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนต่างๆ ของพวกนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“หนึ่งในเป้าหมายของ MEB คือ พาคนไทยอ่านหนังสือ ทุกวันนี้ดูหนัง มี Netflix Disney+ ฟังเพลง มี Spotify Joox ถ้าไม่เอาหนังสือมาไว้บนแพลตฟอร์มตอนนี้ หนังสือเล่มอาจตกขบวนได้ ดังนั้น เทคโนโลยีการอ่านจะพาวงการหนังสือไปต่อได้”

ปัจจุบัน MEB ร่วมกับสำนักพิมพ์แล้วกว่า 600 เจ้า จัดจำหน่าย E-Book แล้วสามแสนเล่ม
ReadWrite แพลตฟอร์มที่สร้างเพื่อเชื่อมโยงคอมมูนิตี้ ดึงดูดนักเขียนเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานได้มากมาย กลายเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิตสำหรับวัยรุ่นที่รักการอ่าน และล่าสุดเพิ่งระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เสร็จสิ้น โดยมีแผนการเพิ่มหมวดหมู่หนังสือและนิยาย-วรรณกรรมดีๆ จากต่างประเทศ ขยับขยายแพลตฟอร์มไปยังระดับภูมิภาค พร้อมพาผลงานนักเขียนไทยโกอินเตอร์อีกด้วย

อนึ่ง ผลการดำเนินงานในปี 2565 ของ MEB มีรายได้รวม 1,725.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 269.12 ล้านบาท หรือ 18.48% เทียบกับปีก่อน กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 330.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.58 ล้านบาท หรือ 20.22% เทียบกับปีก่อน และได้สร้างสถิติสูงสุดใหม่ โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30.04% ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้า


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ