ทัศน์ลักษณ์-ชัญญา พานิชตระกูล ทายาทฮาตาริรุ่น 3 ลงมือทำ ส่งต่อ Happiness in Wind สู่ลมหายใจลูกค้า

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทัศน์ลักษณ์-ชัญญา พานิชตระกูล ทายาทฮาตาริรุ่น 3 ลงมือทำ ส่งต่อ Happiness in Wind สู่ลมหายใจลูกค้า

Date Time: 26 ต.ค. 2567 05:01 น.

Summary

  • Business on My Way สัปดาห์นี้จึงเป็นเรื่องราวของ ทัศน์ลักษณ์-ชัญญา พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการวิจัยและพัฒนา และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานขายและการตลาด (ตามลำดับ) ของฮาตาริ อิเลคทริค ในฐานะหลานตาของเจ้าสัวจุน

Latest

ไลน์แมนเปิดศึกแพลตฟอร์มขนส่ง

เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2533 ปัจจุบัน บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด เจ้าของแบรนด์พัดลมสัญชาติไทย 1,000% มีอายุย่างเข้า 34 ปีเต็ม และกำลังอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่มือผู้บริหารทายาทรุ่นที่ 3 ของ “จุน วนวิทย์” มหาเศรษฐีใจบุญวัย 87 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้ง

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาของ Business on My Way เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของความสำเร็จใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ของบุคคลที่ล้วนริเริ่มก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง

หากนั่น...คือสิ่งที่ควรค่าแก่การนำมาเล่าต่อ เพื่อสร้างการรับรู้ แรงบันดาลใจให้กับคนทั่วไปแล้ว การสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จยิ่งอยู่แล้ว ให้สามารถเจริญก้าวหน้าสืบไป ก็น่าจะเป็นเรื่องราวที่ถูกนำมาเล่าขานด้วยเช่นกัน เพราะแรงกดดันและความท้าทายในการรักษาความสำเร็จในโลกธุรกิจยุคใหม่ เป็นเรื่องโหดหิน บางครั้งยากกว่าการเริ่มต้นใหม่ด้วยซ้ำ

Business on My Way สัปดาห์นี้จึงเป็นเรื่องราวของ ทัศน์ลักษณ์-ชัญญา พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการวิจัยและพัฒนา และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานขายและการตลาด (ตามลำดับ) ของฮาตาริ อิเลคทริค ในฐานะหลานตาของเจ้าสัวจุน โดยมีหลานปู่ วรันธร วนวิทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 นั่งร่วมบริหารด้วย

ทัศน์ลักษณ์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เต็มตัวราว 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ย้อนกลับไป 5 ปีก่อน เธอเคยมีส่วนร่วมในโครงการรีแบรนด์ “ฮาตาริ” มาแล้ว แต่ขณะนั้นจะยังไม่ได้เข้ามาทำงานกับฮาตาริเต็มตัว

คุณจอยซ์-ทัศน์ลักษณ์ เล่าถึงไอเดียรีแบรนด์ฮาตาริว่า เกิดขึ้นจากการสังเกตพฤติกรรมตัวเองที่เปลี่ยนไป จากที่ชอบดูโทรทัศน์ ก็กลายเป็นแทบไม่เปิดโทรทัศน์ เสพข้อมูลข่าวสารบนมือถือแทน นับประสาอะไรกับเด็กรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า ที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

“พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักรู้และทำความเข้าใจ แม้ว่าฮาตาริจะยังไม่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจน และเรายังครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในประเทศไทยอยู่”

จึงอาจพูดได้ว่าฮาตาริ “ไหวตัวทัน” เริ่มมีการปรับโฉมแบรนด์ทีละเล็ก ทีละน้อยให้มีรูปลักษณ์ทันสมัย ใส่ความโค้งมนเข้ามาในโลโก้และสินค้า ลดเหลี่ยมมุมลง เพราะฮาตาริไม่อยากเป็นยักษ์ใหญ่-อายุเยอะที่ปรับตัวไม่ทันกับการแข่งขัน ขาดจุดยึดโยงกับผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เป็นคนเจน Y และเจน Z ซึ่งมองหาสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ ความเป็นตัวตน ไม่ใช่แค่สินค้าอึด ถึก ทน ราคาสมเหตุผล ซึ่งเป็นจุดแข็งของฮาตาริ

“การทำธุรกิจยุคนี้ จอยซ์มองว่าการหยุดนิ่งคือตาย จอยซ์แค่ไม่อยากให้ใครเข้ามาแทนที่ของเรา”

นอกจากดีไซน์ทันสมัย เป็นมิตรมากขึ้นแล้ว พัดลมฮาตาริยังเพิ่มสีสันสดใส แถมด้วยเครื่อง AC Motor ใหม่ที่พัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับบริษัทเยอรมัน ทำให้ลมแรง ประหยัดไฟขึ้น โดยจะทยอยใช้ทดแทนมอเตอร์รุ่นเก่าให้ครบทุกรุ่นสินค้า ซึ่งมีอยู่ 70 SKU

จากความพยายามปรับโฉมพัฒนาสินค้าดังกล่าว คุณจัสมิน-ชัญญา เสริมว่า หลังรีแบรนด์ ปรับโฉมผลิตภัณฑ์ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้สอดคล้องกับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น การเข้าร่วมงานบางกอก ดีไซน์ วีก 2024 เป็นปีแรก พบว่าแบรนด์ฮาตาริเริ่มเป็นที่รับรู้ของคนอายุ 30 ปีลงไป เช่น Gen Z, กลุ่มมิลเลนเนียล

ความไม่หยุดนิ่งดังกล่าว ยังสะท้อนผ่านการเปิดตัวผลิตภัณฑ์พัดลมรูปแบบใหม่ เช่น พัดลมพกพา (Handheld Fan) และล่าสุดพัดลมกล่องหมุนเวียนอากาศ (WindBox) ดีไซน์ทรงเหลี่ยมกะทัดรัด ด้วยคุณสมบัติกระจายลมรอบด้านเพื่อให้อากาศในห้องถ่ายเทได้ดี เมื่อเปิดแอร์จะช่วยให้ห้องเย็นขึ้น เจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อาศัยในคอนโดมิเนียม หอพัก

เมื่อถามถึงความท้าทายและแรงกดดันที่ต้องเข้ามาต่อยอดความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว คุณจอยซ์อธิบายว่า เป็นสิ่งที่คิดอยู่ตลอดเวลา ถามตัวเองอยู่เสมอ เพราะคนรุ่นคุณตา คุณพ่อ คุณแม่ ทำไว้ได้ดีเยี่ยม

“ทุกวันนี้จอยซ์จึงต้องทุ่มเท ทำงานหนัก ส่วนตัวเนื่องจากประสบการณ์ยังน้อย จอยซ์จะตัดสินใจในเรื่องที่มีข้อมูล ตัวเลขที่พิสูจน์ ยืนยันได้เสมอ จะไม่ใช้อารมณ์ ความรู้สึกเด็ดขาด”

“ส่วนหลักในการทำงาน จอยซ์ยึดคำสอนของคุณพ่อ-คุณแม่ (วิทยา-ศิริวรรณ พานิชตระกูล) ที่ให้ “ลงมือทำ” มุ่งมั่นทำให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยพูด”

ทุกวันนี้คุณจอยซ์จึงมักจะเก็บงำแผนงานของฮาตาริหรือสิ่งที่จะทำในอนาคตทั้งใกล้และไกลเอาไว้กับตัว เพราะอยากทำให้สำเร็จก่อน

แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ เธอยอมแบ่งปันว่า นอกจากไม่อยากให้ใครมาแทนที่ฮาตาริในหัวใจของคนไทยแล้ว ยังอยากให้ฮาตาริไปไกลขึ้นในตลาดต่างประเทศ จากปัจจุบันที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและตะวันออกกลาง

นอกจากนั้น ฮาตาริยังจะไม่เป็นเพียง “ความสุขจากแรงลม” (Happiness in Wind) เช่นเดิม แต่จะยกระดับขึ้นเป็น “ความสุขที่ได้จากอากาศ” ผ่านการขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าให้ครบ 6 เพศแห่งพัดลม ครอบคลุมพัดลมตามบ้าน, พัดลมติดผนัง, พัดลมอุตสาหกรรม, พัดลมระบายอากาศ, พัดลมไอน้ำ และเครื่องฟอกอากาศ.

เลดี้แจน

คลิกอ่านคอลัมน์ "Business On My Way" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ