โมเดลธุรกิจ OnlyFans โซเชียลแพลตฟอร์มรายได้หลักแสนล้าน ที่ไม่ได้ขายแค่คอนเทนต์อย่างว่า

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โมเดลธุรกิจ OnlyFans โซเชียลแพลตฟอร์มรายได้หลักแสนล้าน ที่ไม่ได้ขายแค่คอนเทนต์อย่างว่า

Date Time: 23 ก.ย. 2567 15:28 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • เปิดเบื้องหลังคอนเซปต์ธุรกิจสไตล์ OnlyFans โซเชียลแพลตฟอร์มที่สามารถทำรายได้หลักแสนล้าน ด้วยการดัน Creator Economy ให้ครีเอเตอร์เข้ามาสร้างคอนเทนต์และทำรายได้ โดยเปิดกว้างด้านเนื้อหา และเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ตั้งราคาได้เอง ซึ่งโมเดลนี้ก็ทำให้ OnlyFans ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

Latest


ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้นทุกวัน ด้วยจำนวนของผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มากขึ้น บวกกับอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มทำให้เราเห็นรูปแบบของคอนเทนต์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง และหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คงหนีไม่พ้น “OnlyFans” ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่าง เปิดพื้นที่ให้ครีเอเตอร์สร้างรายได้ จนกลายเป็นรูปแบบธุรกิจที่ทำกำไรได้มหาศาลในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี

และในบทความนี้ Thairath Money คอลัมน์ How to Make Money จะพาไปเปิดเบื้องหลังโมเดลทำเงินแบบฉบับ OnlyFans ว่าทำยังไงถึงประสบความสำเร็จ จากการเป็นตัวกลางให้คนอื่นมาเผยแพร่คอนเทนต์

คอนเซปต์เบื้องหลัง กว่าจะมาเป็น OnlyFans

ย้อนกลับไปในปี 2016 มีนักธุรกิจชาวบริติชคนหนึ่งชื่อว่า Tim Stokely ที่มีความสนใจในการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อนำเสนอและทำรายได้จากคอนเทนต์ ซึ่งก่อนจะมาเป็น OnlyFans ทาง Stokely เคยทำแพลตฟอร์มมาแล้วหลายตัว เริ่มต้นที่แพลตฟอร์มแรก “GlamGirls” ที่จะให้เหล่านางแบบสาวมาทำคอนเทนต์วิดีโอ โดยผู้ชมที่สนใจก็จะส่งของขวัญหรือเงินให้ในแพลตฟอร์ม แต่ปรากฏว่าแพลตฟอร์มนี้กลับไม่ได้สร้างผลดีให้ตามที่หวัง

จนต่อมา Stokely ได้ลองเปลี่ยนรูปแบบมาทำโมเดล Subscription ภายใต้แพลตฟอร์มใหม่ “Customs4U” โดยนางแบบเจ้าของคอนเทนต์จะสามารถกำหนดราคาในการ Subscribe ได้ แต่โมเดลนี้ก็ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

Stokely จึงมาพัฒนาไอเดียต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “121with” มีความเป็นมาร์เก็ตเพลสมากขึ้น เพราะได้เปิดให้ทุกคนที่สนใจสร้างคอนเทนต์เพื่อการโฆษณา ตั้งแต่ช่างประปาไปจนถึงเจ้าของอสังหา เข้ามาขายของในรูปแบบเสียงและวิดีโอ

และจากความล้มเหลวและความสำเร็จจากทั้ง 3 แพลตฟอร์ม ทำให้ Stokely เข้าใจภาพความสัมพันธ์ของครีเอเตอร์และแฟนคลับมากขึ้น จนเกิดเป็นไอเดียสร้าง “OnlyFans” และเปิดตัวออกมาในปี 2016 ซึ่งในช่วงเริ่มต้น จะเป็นในรูปแบบที่ให้ครีเอเตอร์มาสร้างคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ และจะเปิดให้แฟนคลับเข้ามา Subscribe หรือสนับสนุนคอนเทนต์ ซึ่งคอนเทนต์บน OnlyFans ก็มีหลากหลายแตกต่างกันไปตั้งแต่ ดนตรี ศิลปะ บันเทิง ฟิตเนส ทำอาหาร ไลฟ์สไตล์ และการศึกษา

แต่สิ่งที่ทำให้ OnlyFans แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น คือ หากแฟนคลับไม่ต้องการที่จะจ่ายเงิน ก็จะมีคอนเทนต์แบบฟรีให้รับชม แต่หากต้องการความเอ็กซ์คลูซีฟก็จะสามารถเลือกระดับในการชำระเงินได้ ตามที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ตั้งราคาไว้ และอีกความพิเศษหนึ่งคือ OnlyFans เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างไม่จำกัดรูปแบบคอนเทนต์ ซึ่งรวมไปถึง “คอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่” ที่ทำให้ชื่อแพลตฟอร์มนี้กลายเป็นภาพจำของใครหลายคนว่าเป็นพื้นที่สำหรับเนื้อหาทางเพศ 18+

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของคอนเทนต์ผู้ใหญ่ เริ่มต้นในช่วงที่ Leonid Radvinsky นักธุรกิจสัญชาติยูเครน-อเมริกัน ผู้ที่มีความสนใจด้านเทคโนโลยีและเคยมีเบื้องหลังในธุรกิจความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่ เจ้าของ MyFreeCams เว็บไซต์เว็บแคมที่ใหญ่ที่สุดในคอมมูนิตี้ไลฟ์สด ได้เข้ามาซื้อหุ้น OnlyFans กว่า 75% ในปี 2018 ส่งผลให้แพลตฟอร์มเปิดกว้างในเนื้อหามากขึ้น จนปัจจุบันเป็นคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ไปกว่า 80%

และหลังจากการเข้าถือหุ้นของ Radvinsky ก็เป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ส่งผลให้การผลิตคอนเทนต์บน OnlyFans มีมากขึ้น จนดันมูลค่าบริษัทจากหลักล้านดอลลาร์ไปสู่หลักหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น

โมเดลธุรกิจฉบับ OnlyFans

OnlyFans นับว่าเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่ผู้พัฒนาตั้งใจออกแบบให้เกิด Creator Economy หรือพื้นที่ที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์เข้ามาหารายได้ได้จริง ด้วยการเปิดให้ผู้ชม Subscription คอนเทนต์ของครีเอเตอร์ที่สนใจ โดยไม่จำกัดขอบเขตของคอนเทนต์ว่าต้องเป็นแบบใด และไม่จำกัดเนื้อหาทางเพศเหมือนโซเชียลมีเดียอื่น ๆ

โดย OnlyFans ได้เปิดให้ใช้งานผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยรูปแบบการ Subscribe จะเปิดให้เลือกระดับราคาได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ 66% ของครีเอเตอร์จะตั้งราคาที่ 5-15 ดอลลาร์สหรัฐ และ 82% จะตั้งราคาที่ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ และด้วยการตั้งราคาที่ไม่สูงมากนี้ ส่งผลให้แพลตฟอร์มนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งก็ช่วยผลักดันให้ครีเอเตอร์มีรายได้มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากรูปแบบโมเดล Subscription บน OnlyFans แฟน ๆ ยังสามารถแชทคุยแบบส่วนตัวได้โดยตรงกับครีเอเตอร์ โดยฟีเจอร์นี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้แฟน ๆ สามารถร้องขอคอนเทนต์ที่พิเศษมากยิ่งขึ้นจากครีเอเตอร์ได้ แต่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไปอีก

ยอดเงินที่แฟน ๆ จ่ายให้กับครีเอเตอร์จะเข้ากระเป๋าเจ้าของคอนเทนต์ 80% ในขณะที่แพลตฟอร์ม OnlyFans จะหักค่าธรรมเนียมที่ 20% แต่ถึงแม้จะมีการหักค่าธรรมเนียม โมเดลนี้ก็ยังสามารถทำเงินได้มหาศาลให้กับครีเอเตอร์ได้ จากข้อมูลที่เผยแพร่บน LinkedIn ของ Laura Lewis ชี้ว่า

  • ครีเอเตอร์บน OnlyFans ทำเงินได้เฉลี่ยเดือนละ 160-180 ดอลลาร์สหรัฐ
  • แต่ส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์มยังทำเงินได้น้อยกว่าที่คิด โดยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 100-150 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ในขณะที่ครีเอเตอร์บางคนสามารถทำเงินได้ในปริมาณที่มาก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 143,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถึง 5.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
  • จากการสำรวจยังพบอีกว่า ครีเอเตอร์กว่า 1,500 รายทำเงินไปแล้วกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน OnlyFans มีครีเอเตอร์อยู่บนแพลตฟอร์มประมาณ 4.12 ล้านราย ซึ่งก็มีคนดังและเซเลบริตี้ในวงการต่าง ๆ เข้ามาเป็นครีเอเตอร์ อย่างเช่น Cardi B (นักร้อง), Bella Thorne (นักแสดง), Tyga (นักร้อง) เป็นต้น และจากสถิติของปี 2023 พบว่า มีแฟนคลับที่ลงทะเบียนเข้าใช้งานอยู่ที่ 500,000 รายต่อวัน หรือโตขึ้นประมาณ 70% ต่อเดือนเลยทีเดียว

วิธีทำเงินของ OnlyFans

แพลตฟอร์ม OnlyFans สามารถทำรายได้จาก 2 ช่องทางคือ

  • เก็บค่าธรรมเนียมจากครีเอเตอร์: ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า OnlyFans จะมีการหักค่าธรรมเนียมจากครีเอเตอร์ที่ 20% ในทุก ๆ การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม ซึ่งนอกจากจะเป็นเงินจากการ Subscription รายเดือนแล้ว ยังมีคอนเทนต์แบบ Pay-per-view หรือจ่ายเมื่อรับชม และผู้ชมยังสามารถให้ทิปกับครีเอเตอร์ได้อีกด้วย ซึ่งทุกอย่างจะถูกหักไปให้แพลตฟอร์มที่ 20% ทุกครั้ง

  • เปิดขายของแบบ e-Commerce: นอกจากแพลตฟอร์มโซเชียลแล้ว OnlyFans ยังเปิดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ OnlyFans โดยจะมีสินค้า 3 กลุ่ม คือ เสื้อผ้า เครื่องประดับ และสินค้าภายในบ้าน พร้อมส่งทั่วโลกด้วยแท็กสินค้า OFMerch เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

รายได้ของ OnlyFans ภายใต้บริษัทแม่ Fenix International แตะหลักพันล้านในปี 2020 หรือใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังก่อตั้ง และจากข้อมูลบน Statista พบว่า นับจากปี 2019 แพลตฟอร์ม OnlyFans สามารถทำรายได้จากทั่วโลกเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ดังนี้

  • ปี 2019 มีรายได้ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,895 ล้านบาท
  • ปี 2020 มีรายได้ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 72,503 ล้านบาท
  • ปี 2021 มีรายได้ 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 158,188 ล้านบาท
  • ปี 2022 มีรายได้ 5,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 182,961 ล้านบาท
  • ปี 2023 มีรายได้ 6,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 218,564 ล้านบาท*

ซึ่งนั่นหมายความว่า ในปี 2023 ครีเอเตอร์ทั้งหมดของ OnlyFans ทำรายได้รวมที่ราว 5,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว นอกจากนี้ในปี 2023 นับถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน OnlyFans มีกำไรก่อนหักภาษีที่ 658 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม OnlyFans ก็ยังคงมีความท้าทายในการทำธุรกิจ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของเนื้อหาที่มุ่งไปด้านความบันเทิงเพื่อผู้ใหญ่แล้ว ยังพบว่า ครีเอเตอร์หน้าใหม่บน OnlyFans ที่ยังมีแฟนคลับน้อยอยู่ ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากแพลตฟอร์ม อีกทั้งปัจจุบันมีคู่แข่งหน้าใหม่เกิดขึ้น ทำให้ครีเอเตอร์เริ่มขยับขยายไปสู่แพลตฟอร์มอื่น อย่างเช่น FanCentro, LoyalFans, MYM Fans ที่เริ่มให้บริการคอนเทนต์เช่นเดียวกับ OnlyFans แล้ว

*อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 23 กันยายน 2567

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ