Bearhouse-Fastwork-Guss Damn Good เปิดแนวคิด 3 สไตล์เปลี่ยนแรงบันดาลใจสู่ธุรกิจของคน Next Gen

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Bearhouse-Fastwork-Guss Damn Good เปิดแนวคิด 3 สไตล์เปลี่ยนแรงบันดาลใจสู่ธุรกิจของคน Next Gen

Date Time: 1 ก.ย. 2567 08:00 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • “The Next-Gen Rising Stars” สรุปแนวคิดและแรงบันดาลใจในการปั้นธุรกิจจากมุมมองของนักธุรกิจ Next Gen จากแบรนด์ Bearhouse - Fastwork - Guss Damn Good สามธุรกิจสามสไตล์ที่ประสบความสำเร็จจากกลยุทธ์และแพสชันที่ไม่เหมือนใคร

Latest


ในงาน Bitkub Meetup ครั้งที่ 5 ที่ผ่านมาเป็นการเสวนาเรื่องราวที่เกี่ยวกับธุรกิจผ่านมุมมองของนักธุรกิจหลากหลาย Generations พร้อมรับฟังแนวคิดและแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

หนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจคือ  “The Next-Gen Rising Stars” ที่ได้รวมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กับ 3 ธุรกิจ โดยเปิดแนวคิด แรงบันดาลใจ และกลยุทธ์ของธุรกิจ 3 สไตล์ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จและกลายเป็นหนึ่งใน Front Row ของธุรกิจในประเทศไทย  ประกอบไปด้วย

  • กานต์ อรรถกร รัตนารมย์ และ ซารต์ ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช COO และ CEO จาก 21Sunpassion Company Limited เจ้าของแบรนด์ Bearhouse แฟรนไชส์ร้านชาไข่มุก และซันซุ เยลลี่ผลไม้
  • CK Cheong, CPA และ CEO ของ Fastwork แพลตฟอร์มสำหรับจ้างฟรีแลนซ์ทั่วประเทศไทย
  • ระริน ธรรมวัฒนะ และ นที จรัสสุริยงค์ Co-Founders ของ Guss Damn Good แบรนด์ไอศกรีมสุดยูนีคที่ทุกรสชาติต้องมีสตอรี่

Bearhouse: จากยูทูบเบอร์ สู่เจ้าของธุรกิจร้านชานมไข่มุก

จุดเริ่มต้นของ Bearhouse มาจากความชื่นชอบในชานมไข่มุก และมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ แล้วพบว่าอยากจะมีชาไข่มุกดีๆ ให้คนไทยได้ลองกิน จึงนำเงินที่ Monetized มาได้จากการเปิดช่องยูทูบ “Bearhug” ของกานต์และซารต์ ซึ่งเป็นช่องยูทูบที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีรายได้เกือบถึงหลักล้านในทุกๆ เดือน มาลงทุนเปิดกิจการร้านชานมไข่มุก

เริ่มแรกอยากที่จะดึงเอาแฟรนไชส์จากไต้หวันเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเงื่อนไขของทางแบรนด์ต้นทางทำให้ตัดสินใจคิดค้นสูตรเครื่องดื่มขึ้นมาเอง แทนการใช้แฟรนไชส์จากไต้หวัน และในระยะเวลา 6-7 เดือนก็สามารถคลอดแบรนด์ “Bearhouse” ออกมาได้ โดยมีสาขาแรกแถวสยาม

และใช้เวลาไม่นานในการโปรโมตแบรนด์ และปรับสูตรเครื่องดื่มให้เหมาะสม และติดตามคำแนะนำของลูกค้า ทำให้ Bearhouse กลายเป็นสินค้าติดตลาด ที่มีลูกค้ามารอต่อคิวซื้อของตั้งแต่เปิดร้าน

ในส่วนของซันซุ แบรนด์เยลลี่และขนมอีกแบรนด์จากค่าย 21Sunpassion ก็เป็นอีกแบรนด์ที่พัฒนามาพร้อม ๆ กับ Bearhouse ภายใต้แนวคิดอยากขายสินค้าที่ให้คนทั้งประเทศได้ลองกิน

แนวคิดจาก Bearhouse:

“เราเริ่มธุรกิจในวันที่เราอยู่ในจุดสูงสุด เราไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ธุรกิจหนึ่งของเราต่ำสุดก่อน ถึงจะคิดเริ่มต้นธุรกิจใหม่”

ปัจจุบัน Bearhouse มี 36 สาขา และแบรนด์ซันซุ มีสินค้าเป็นเยลลี่ และหมึกกรุบเป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุด ที่วางจำหน่ายแล้วในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ

Fastwork: แพลตฟอร์มของฟรีแลนซ์ ที่ครั้งหนึ่งเคย “เกือบล้ม” มาแล้ว

Fastwork คือ แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานในฟรีแลนซ์คนไทย ที่ให้บริการทุกอย่าง มีงานทุกประเภทไว้รองรับลูกค้า ภายใต้โมเดล Everything as a Service ที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตของคำว่าฟรีแลนซ์ มีบริการตั้งแต่ ดูดวง แพลนทริป ไปจนถึงงานครีเอทีฟ

Fastwork เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2018 มีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน ร่วมทุนกันกว่า 250 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านมาประมาณ 1 ปี ในช่วง 2019 ทุนจำนวนดังกล่าวถูกใช้ไปจนเกือบหมด ซึ่งตามแผน ธุรกิจจะระดมทุนได้อีกครั้งในปี 2020 แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ VC ไม่ร่วมลงทุน เพราะ VC หลายคนต้องการหาบริษัทที่มีกระแสเงินสด และบริษัทต้องใช้เงินของฟรีแลนซ์ในระบบมาหมุนแทน

ต่อมาในช่วงปี 2020 ทาง CK จึงได้รับเชิญให้เข้ามาทำภารกิจ คือ “ทำอย่างไรก็ได้ ให้ขายธุรกิจให้ได้” ตามแผนแรกคือ การเข้าไปคุยกับนักลงทุน แต่จากผลกระทบของโควิดทำให้เข้าหาได้เฉพาะนักลงทุนในประเทศ ด้วยการระดมทุนผ่านการให้ Convertible Note หรือหุ้นกู้แปลงสภาพกับนักลงทุน ที่จะสามารถแปลงหนี้ครั้งนี้เป็นหุ้นได้ในอนาคต

แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดที่แย่ลง องค์กรซบเซาลงเรื่อยๆ มีเพียงแค่พนักงานและ CK เท่านั้นที่ยังเข้าบริษัท จนปีในปี 2021 นักลงทุนขอคืนหุ้นกู้แปลงสภาพในรูปแบบของเงินทุน CK จึงตัดสินใจซื้อบริษัทตัวเองคืนด้วยเงิน 10 ล้านบาท พร้อมตกลงกับนักลงทุนจะจ่ายหนี้คืนในปีถัดๆ ไป จนปัจจุบัน CK กลายเป็นผู้ถือหุ้น Fastwork ทั้งหมด 100%

แนวคิดจาก CK:

“ในวันที่ไม่มีใครเชื่อเรา ในวันที่แม้ว่าธุรกิจจะล้มเหลว แต่ถ้าเรายังเชื่อ สิ่งนั้นคือ โอกาส”

ปัจจุบัน Fastwork ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย และกำลังขยายตลาดไปสู่เวียดนามในชื่อ “Fastlance”

Guss Damn Good: กับแนวคิด เปลี่ยน “เรื่องราว” เป็น “รสชาติไอศกรีม”

จุดเริ่มต้นของ Guss Damn Good ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ ระริน ธรรมวัฒนะ และ นที จรัสสุริยงค์ กำลังศึกษาอยู่ที่บอสตัน ในบอสตันแม้จะเป็นพื้นที่เมืองหนาว แต่ติด Top 10 ของคนที่รับประทานไอศกรีมเยอะที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ไอศกรีมในสไตล์บอสตันจะมีความแตกต่างจากไอศกรีมของไทยในอดีต โดยจะเน้นไปที่ความเป็น “Craft Ice Cream” ที่ใช้ส่วนผสมและวัตถุดิบอย่างดีในการทำไอศกรีม ที่แม้จะไม่ได้มีหน้าตาที่สวยงามแบบที่นิยมในประเทศไทย ณ ตอนนั้น แต่เป็นไอศกรีมที่มีความจริงจัง เข้าถึงรสชาติจริงๆ ของวัตถุดิบที่ใช้

บวกกับความเคยชินกับบรรยากาศร้านไอศกรีมของบอสตัน ที่แม้จะเป็นเมืองหนาว แต่คนก็เลือกที่จะออกมารับประทานไอศกรีม เพราะไอศกรีมคือสิ่งที่ทำให้คนที่นั่นคิดถึงฤดูร้อน อีกทั้ง ร้านไอศกรีมยังเป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ ที่ให้คนได้เข้ามาสื่อสาร และแลกเปลี่ยนกันและกัน

จนเกิดเป็นไอเดีย ทำไอศกรีมให้เป็นมากกว่าขนม และหลังจากกลับมาประเทศไทย ก็เลยคิดที่จะเปิดแบรนด์ Guss ออกแบบไอศกรีมผ่านเรื่องราว ซึ่งไอศกรีมทุกรสชาติของแบรนด์นี้จะต้องมีหลักการ “Story to Flavor” คือ ทุกรสชาติจะมีเรื่องราว และจากเรื่องราวคราฟต์มาเป็นความรู้สึก และจากความรู้สึกก็ออกมาเป็นรสชาติ

ด้วยเงินลงทุนของตัวเองเริ่มต้น 500,000 บาท และเรียนรู้ที่จะพัฒนารสสัมผัสของไอศกรีมด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ลงทุนเงินก้อนแรกไปกับเครื่องทำไอศกรีมที่ดีที่สุด และวัตถุดิบที่ดีที่สุด

สำหรับชื่อของ Guss Damn Good มีที่มาจาก 2 Guss(es) คือ 1) Focus อยากมีพื้นที่ร้านไอศกรีมให้คนที่มากินได้โฟกัสกับสิ่งที่จะทำ และ 2) Gut Feeling ที่ลูกค้าจะได้ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและสัญชาตญาณส่วนตัว และในส่วนของ Damn Good มาจากคำอุทานที่ว่า “ไอศกรีมนี้ดีมากๆ เลย”

แนวคิดจาก Guss Damn Good:

“สร้างธุรกิจด้วยสตอรี่ ทำทุกขั้นตอนให้มีความหมาย ตั้งแต่ชื่อไปถึงผลิตภัณฑ์”

ปัจจุบัน ร้าน Guss Damn Good มีทั้งหมด 16 สาขา และมีแบรนด์น้องใหม่ Balcony Cream Tea ร้านไอศกรีมในเครืออีก 1 สาขาเปิดไปเมื่อปี 2023

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ