เปิดตำนาน “Chaumet” เครื่องประดับจักรพรรดินโปเลียน สู่จิวเวลรี่แบรนด์แรกที่ได้ออกแบบเหรียญโอลิมปิก

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดตำนาน “Chaumet” เครื่องประดับจักรพรรดินโปเลียน สู่จิวเวลรี่แบรนด์แรกที่ได้ออกแบบเหรียญโอลิมปิก

Date Time: 5 ส.ค. 2567 09:48 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • Thairath Money คอลัมน์ BrandStory ครั้งนี้ หยิบเรื่องราวของ Chaumet แบรนด์จิวเวลรี่แบรนด์แรกที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบ ‘เหรียญโอลิมปิก 2024’ ที่มีความพิเศษกว่าปีไหนๆ เพราะ นี่คือเหรียญรางวัลที่มีชิ้นส่วนหอไอเฟล เปิดตำนานความงดงามชั้นสูงแบบฉบับอาร์ตเดโคที่ทำให้ Chaumet กลายเป็นแบรนด์จิวเวลรี่ที่บันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างยาวนานยุคต่อยุค

Latest


นี่คือแบรนด์เครื่องประดับหรูที่มีต้นกำเนิดจากปารีส ประเทศฝรั่งเศส นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1780 เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่แบรนด์ยังคงเอกลักษณ์ความงามเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ . จากช่างทำเครื่องประดับคู่ใจของ ‘พระนางมารี อองตัวเน็ต’ สู่มรดกราชวงศ์ที่รอดชีวิตจากการปฏิวัติ กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รังสรรค์มงกุฎประจำราชสำนักแห่ง ‘จักรพรรดินโปเลียนผู้ยิ่งใหญ่’

คงไม่มีใครนำเสนอ ‘ความเป็นชาติฝรั่งเศส’ ผ่านความเป็นแบรนด์ได้ดีเท่ากับ ‘โชเมต์’ Chaumet และนั่นยังทำให้แบรนด์ในตำนานอย่าง Chaumet ได้รับเลือกเป็นผู้ออกแบบ Medal หรือ ‘เหรียญรางวัลนักกีฬา’ แม้ว่าเครือ LVMH จะมีแบรนด์เครื่องประดับหรูในเครืออีกมากมาย 

ให้กำเนิดโดย มารี อองตัวเน็ต มีชื่อเสียงโดย นโปเลียน

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นปี 1750 ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 Marie-Antoinette Nitot ผู้ชื่นชอบในอัญมณีและเครื่องประดับได้ก่อตั้ง House of Nitot โดยขณะนั้น Ange-Joseph Aubert ช่างทำอัญมณีคนโปรดของพระนางที่อยู่ในเฮาส์ก็ได้ก่อตั้ง Maison ของตนเอง ที่ต่อมาใช้ชื่อว่า ‘Chaumet’ ในปี 1780 เพื่อให้บริการแก่ขุนนางและคนร่ำรวยในปารีส โดดเด่นเรื่องการทำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เข็มกลัด ดาบ และมงกุฎของจักรพรรดิ 

หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส François Regnault Nitot เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจจากพ่อในรัชสมัยของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต และได้ออกแบบ ‘Coronation Sword’ ดาบราชาภิเษก ซึ่งประดับด้วยเพชรรีเจนต์ที่มีชื่อเสียง กล่าวกันว่า เขามีอิทธิพลต่อรสนิยมของชนชั้นสูงทั่วยุโรป และสร้างฐานลูกค้าที่โดดเด่นภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี เพราะนโปเลียนผู้ให้ความสำคัญกับการแต่งองค์ทรงเครื่อง นอกจากนี้โจเซฟีนยังหลงใหลในเครื่องประดับมาก ทำให้ราชวงศ์ฝรั่งเศสโดดเด่นมากในการผลักดันอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ในขณะนั้น 

ในยุคนี้เราจึงได้เห็นเครื่องประดับทั้งสวยงามและซับซ้อนที่ออกแบบเฉพาะสำหรับโจเซฟีนจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเธอคือลูกค้ารายใหญ่คนแรกของเมซงและยังเป็นที่มาของคอลฯ ในปัจจุบันอย่าง Joséphine Collection,  Bee My Love collection และ Liens Collection คอลฯ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวความรักระหว่างโจเซฟีนและนโปเลียน

หลังสิ้นสุดยุคนโปเลียน กิจการถูกส่งต่อให้กับรุ่นต่อมา (Jules ลูกชายของเขาดูแลร่วมกับ Jean Baptiste Fossin หัวหน้านักอัญมณี) อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งสาธารณรัฐที่สองในปี 1848 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องประดับในฝรั่งเศส ทำให้ Chaumet จำเป็นต้องย้ายธุรกิจมายังลอนดอนเพื่อหาตลาดใหม่ ก่อนที่กิจการทั้งหมดก็ตกเป็นของนักทำเครื่องเงินชาวฝรั่งเศส Jean-Valentin Morel ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในอังกฤษในขณะนั้น 

โดยกิจการถูกส่งต่อให้กับ Joseph Chaumet ที่ได้แต่งงานกับ Marie Morel และทำให้ House of Chaumet ก้าวขึ้นสู่การเป็นเครื่องประดับที่บ่งบอกรสนิยมของชนชั้นสูงทั่วอังกฤษ  

ความงามแบบฝรั่งเศสที่เหนือกาลเวลา 

Chaumet ผลิตเครื่องประดับให้กับคนดังและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มานานยุคต่อยุค โดยมีชื่อเสียงเป็นพิเศษในการทำ ‘มงกุฎ’ (Tiaras) ให้กับราชวงศ์ยุโรปมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 หลายชิ้นงานปรากฏอยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น พิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่หนึ่ง พิธีราชาภิเษกสมรสของควีนวิกตอเรีย 

นอกจากนี้ Chaumet ยังถูกจดจำในวงการนาฬิกา ที่ได้ออกแบบนาฬิกาข้อมือแบบกำไลให้กับเจ้าหญิงออกัสต้าเอมิลี่แห่งบาวาเรีย และยูจีน บุตรชายของโจเซฟีน ว่ากันว่านาฬิกาเรือนนี้สร้างขึ้นในปี 1811 และได้รับการยกย่องว่าเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนาฬิกาแบบสร้อยข้อมือผู้หญิงที่แพร่หลายในราชสำนักในทศวรรษต่อๆ มาอีกด้วย  

อย่างภาพที่หลายคนอาจจะเคยเห็นของ Napoleon Bonaparte และ Joséphine de Beauharnais จักพรรดินี ทั้งสองสวมใส่มงกุฎที่สร้างสรรค์โดย Chaumet โดยตลอดศตวรรษที่ 20 Chaumet ยังทำหน้าที่เป็นจิวเวลรี่เชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตอีกด้วย 

ต่อเนื่องกว่าสองศตวรรษ Chaumet ได้รับการยอมรับทั้งด้านความเชี่ยวชาญด้านอัญมณีศาสตร์และงานฝีมือที่เป็นเลิศ (Craftsmanship) การคงไว้ซึ่งความรู้แบบดั้งเดิมและความงามแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติและแรงบันดาลใจทางศิลปะ ความสมมาตรของรูปทรง ออกมาเป็นเอกลักษณ์ของกลิ่นอายอาร์ตเดโคและเอ็มไพร์คลาสสิกกว่าสองร้อยปี ซึ่งได้รับการรีดีไซน์ทำให้ทันสมัยอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน  

Chaumet ยังเป็นแบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงที่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรม ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความงามเหนือกาลเวลาของเครื่องประดับฝรั่งเศสคลาสสิกได้อย่างงดงาม

ยุคพลิกผันของ Chaumet จากจิวเวลรี่ราชวงศ์ สู่จิวเวลรี่แห่ง LVMH  

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 Jacques และ Pierre Chaumet สองพี่น้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินหลังบริหารการเงินของกิจการที่ผิดพลาด ขณะที่ต้องเผชิญกับการขาลงของธุรกิจซื้อขายเพชรทั่วโลก ทำให้พวกเขาถูกตัดสินข้อหาฉ้อโกงเงินและล้มละลายในท้ายที่สุด 

ต่อมาในปี 1987 กลุ่มทุน Investcorp เข้าซื้อกิจการ Chaumet ซึ่งได้ Breguet แบรนด์นาฬิการะดับไฮเอนด์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Chaumet ไปด้วย ไม่นานนักก็เข้าสู่ยุคควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมลักชัวรี่แบรนด์ ในปี 1999 ขณะที่ LVMH กำลังเข้าซื้อ TAG Heuer และ Swatch Group ก็เข้าซื้อ Groupe Horloger Breguet จาก Investcorp ต่อเนื่องด้วย Chaumet, Ebel และ Zenith ตามลำดับ 

ปัจจุบัน Chaumet ผลิตเครื่องประดับหลากหลาย เช่น สร้อยคอ กำไล ต่างหู แหวน รวมถึงนาฬิกา ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนดังทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์นาฬิกาและเครื่องประดับ ซึ่งรวมถึง Tiffany & Co., Zenith, Bvlgari, FRED, Repossi, TAG Heuer และ Hublot พร้อมด้วยแฟชั่นและแบรนด์หรูอีกกว่าร้อยบริษัท 

ออกแบบเหรียญรางวัลประหนึ่งเครื่องประดับชั้นสูง

Chaumet ใช้เทคนิคดั้งเดิมหลอมรวม ‘เอกลักษณ์อันโดดเด่นที่สุดของเมือง’ สู่ ‘รูปทรงกลม’ สำหรับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ชูจุดเด่น รูปทรงหกเหลี่ยม (Hexagon), แสงสะท้อน (Radiance) และเทคนิคการฝัง (Gem-setting) โดยมีแนวคิดหลักในการออกแบบจากสถานที่อันทรงคุณค่าของฝรั่งเศสและปารีส ผสานกับ ‘เหรียญรางวัล’ วัตถุทรงคุณค่าที่สุดของนักกีฬา 

ศูนย์กลางของเหรียญที่เราเห็นชิ้นส่วนรูปทรงหกเหลี่ยม คือ ชิ้นส่วนที่ตัดออกมาจากชิ้นเหล็กแท้ๆ ของหอไอเฟล ‘Dame de Fer’ สีเทาดั้งเดิม เพื่อต้องการจะนำเสนอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของปารีส ที่ไม่ว่าใครเมื่อเห็นแล้วก็จะนึกถึง ซึ่งชิ้นส่วนดังกล่าวถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1887-1889 และได้รับการอนุรักษ์ไว้ระหว่างการบูรณะโดยบริษัท Eiffel Tower Operating

รูปทรงหกเหลี่ยม คือ รูปร่างทางภูมิศาสตร์ของเมืองปารีส (Geographical shape) เชื่อมโยงถึงถนนสายหลักของปารีสที่บรรจบกันที่ทางแยกที่ประตูชัย ‘Arc De Triomphe’ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์กลางของเมือง คล้ายกับถนนสายหลักของปารีสที่บรรจบกันที่ทางแยกที่ประตูชัย เพื่อระลึกถึงการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในครั้งนี้ 

โดย Chaumet ใช้เทคนิคการฝังแบบกริฟต์ ‘Griffe Setting' ในการฝังชิ้นส่วนหอไอเฟลหกเหลี่ยมไว้ที่ศูนย์กลางของเหรียญ ซึ่ง Chaumet ใช้ในเครื่องประดับชั้นสูง เพื่อระลึกถึงลวดลายการตอกตะปูแบบ ‘Clous de Paris’ ซึ่งเป็นกรรมวิธีในการยึดมุมที่พบในนาฬิกาและเครื่องประดับชั้นดีของฝรั่งเศส รวมถึงลวดลายหมุดย้ำบนหอไอเฟลด้วย  

รอยจีบเหลี่ยมที่แผ่ขยายจากศูนย์กลางของเหรียญ ถูกออกแบบมาให้สะท้อนแสงอย่างไม่สมมาตร เพื่อทำให้เหรียญดูนูนขึ้นและเปล่งประกายเหมือนกับแสงอาทิตย์สีทอง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองหลวงที่มีความหมายว่า เมืองแห่งแสง 'City of Light' สะท้อนถึงแสงที่เจิดจ้าของประเทศฝรั่งเศสขณะที่การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น นอกจากนี้ยังสื่อความหมายถึงความสามารถและความแข็งแกร่งของนักกีฬา

ความแตกต่างระหว่างเหรียญทั้งสองประเภท ด้านหน้าเหรียญโอลิมปิกจะเป็นรูป Nike ‘เทพเจ้าแห่งชัยชนะของกรีก’ มาใช้เพื่อระลึกถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เอเธนส์ ประเทศกรีซในปี 2004

ปรากฏตัวอยู่เบื้องหน้า Acropolis และ Panathenaic Stadium สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกในปี 1896 เพื่อสื่อถึงการยกย่องโอลิมปิกโบราณในกรีซ และการแข่งขันสมัยใหม่ที่จัดขั้นครั้งแรกในฝรั่งเศส รวมถึงการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1924 

สำหรับเหรียญพาราริมปิกจะเป็นลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากมุมวอร์มวิวที่มองจากเชิงหอไอเฟลขึ้นไป ซึ่งเป็นมุมมองที่ชาวปารีสและนักท่องเที่ยวคุ้นเคยเป็นอย่างดี สำหรับด้านหลังของเหรียญจะถูกสลักข้อความ ‘Paris 2024’ ด้วยอักษรเบรลล์สากลล้อมรอบฐานของหอไอเฟล เพื่อระลึกถึง Louis Braille ผู้คิดค้นภาษาฝรั่งเศส 

นอกจากนี้ริบบิ้นของเหรียญโอลิมปิกจะเป็นสีน้ำเงินเข้ม ขณะที่ริบบิ้นเหรียญพาราลิมปิกจะเป็นสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นการผสมผสานสีสองชั้นแรกที่ทาไว้บนหอไอเฟล นั่นก็คือสี Venice red และ สี Red-brown

"เพราะเรื่องราวของ Chaumet และ Paris เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวโดยสมบูรณ์"

อ่านมาถึงจุดนี้ไม่แปลกใจที่ LVMH ในฐานะ Creative Partner จัดการแข่งขันภายใต้คอนเซปต์ใหญ่อย่าง ‘The Art of Crafting Dreams’ จะเลือก Chaumet ในฐานะผู้ถ่ายทอดความชำนาญด้านเครื่องประดับชั้นสูงตามแบบฉบับของปารีสผ่าน ‘เหรียญรางวัล The Gold-Silver-Bronze of Paris 2024’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โอลิมปิกขั้นสูงสุด ที่มอบให้เพื่อยกย่องผลงานอันยอดเยี่ยมสำหรับนักกีฬาทุกคน

อ้างอิง Chaumet, New York TimesOympics 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์