“บินไทย” ขายหุ้นเพิ่มทุนปลายปีนี้ “ปิยสวัสดิ์” มั่นใจล้างหนี้ 1.2 แสนล้านจบใน 12 ปี

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“บินไทย” ขายหุ้นเพิ่มทุนปลายปีนี้ “ปิยสวัสดิ์” มั่นใจล้างหนี้ 1.2 แสนล้านจบใน 12 ปี

Date Time: 27 ก.พ. 2567 05:07 น.

Summary

  • การบินไทยจะแปลงหนี้เป็นทุน และขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จในปลายปี 67 จากนั้นจะออกจากแผนฟื้นฟูและกลับเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 68 ตามแผน

Latest

ปิดฉาก Tupperware ตำนานกล่องเก็บอาหาร ขวัญใจมนุษย์แม่ ไปต่อไม่ไหว เตรียมยื่นขอล้มละลาย

การบินไทยเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู มั่นใจปลายปีนี้ แปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนสำเร็จ ส่วนหนี้กว่า 1.2 แสนล้านบาท เคลียร์จบใน 12 ปี เดินหน้าจัดหาเครื่องบิน 80 ลำตามแผน ตั้งเป้าหมายมีเครื่องบิน 154 ลำในปี 76 เสริมแกร่งธุรกิจ และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการว่า การบินไทยจะแปลงหนี้เป็นทุน และขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จในปลายปี 67 จากนั้นจะออกจากแผนฟื้นฟูและกลับเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 68 ตามแผน สำหรับการแปลงหนี้ทุน กำหนดราคาขายหุ้น หุ้นละ 2.54 บาท หรือเป็นเงินราว 55,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย ก่อนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมช่วงครึ่งหลังปี 67 หากขายไม่หมดจะนำมาขายให้พนักงาน และผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาสูงกว่าหุ้นละ 2.54 บาท เพื่อระดมทุนก้อนใหม่ 25,000 ล้านบาท

ส่วนแผนชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูรวม 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้จากการออกหุ้นกู้ 72,000 ล้านบาท, หนี้สถาบันการเงิน 30,000 ล้านบาท และหนี้อื่นๆ 10,000-20,000 ล้านบาทนั้น จะเริ่มชำระปีละ 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี ส่วนหนี้ค่าบัตรโดยสาร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้โดยสารที่มายื่นขอให้ชำระหนี้ และกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นขอ รวม 13,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันชำระหนี้จนเหลือมูลหนี้ 400 ล้านบาท และจะชำระให้เสร็จในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ส่วนผู้โดยสารที่ติดต่อไม่ได้ จะนำเงินไปวางไว้ที่กรมบังคับคดี เพื่อแสดงความจำนงชำระหนี้ต่อไป

สำหรับการจัดหาเครื่องบินที่เพิ่งลงนามสัญญาการจัดหากับบริษัท โบอิ้ง และบริษัท จีอี แอโรสเปซ เพื่อจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุด รวมเป็น 80 ลำนั้น ยืนยันว่าไม่กระทบสถานะทางการเงินแน่นอน โดยรูปแบบการจัดหา เป็นไปได้ทั้งการเช่า เช่าซื้อ และซื้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดจะมีความชัดเจนในปี 68

“การจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ ไม่กระทบสถานะการเงินของเราและไม่กระทบการจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟู ถ้าดูจากสถานะการเงินขณะนี้ 45 ลำซื้อด้วยเงินสดได้เลย เพราะไม่ได้ชำระครั้งเดียว แต่ทยอยชำระ และเมื่อรับเครื่องบินมาแล้ว สามารถใช้งานสร้างรายได้ได้ทันที หากจัดหา 80 ลำตามแผน จะทำให้ปี 76 มีฝูงบิน 154 ลำ สนับสนุนนโยบายเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคของรัฐบาล”

นอกจากนี้ ยังยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นำเงินภาษีประชาชนมาอุดหนุนการบินไทย โดยรัฐบาลมิได้ให้เงินอุดหนุนมา 13 ปีแล้ว ขณะที่ช่วงโควิด รัฐบาลก็ไม่ได้ให้เงินช่วยเหลือ หรืออุดหนุนเหมือนสายการบินอื่น ส่วนการถือหุ้นใหญ่ของกระทรวงการคลังนั้น กระทรวงก็ได้รับการปันผลแล้วไม่น้อย สำหรับปี 67 ประเมินว่า การบินไทยจะขนส่งผู้โดยสาร 15 ล้านคน มีเคบิน แฟกเตอร์เฉลี่ย 80% และมีรายได้ใกล้เคียงปี 62 ก่อนโควิดที่มีรายได้รวม 184,046 ล้านบาท เพราะจะรับมอบเครื่องบินเช่าเพิ่ม 9 ลำ รวมฝูงบิน 79 ลำ แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องค่าโดยสารเฉลี่ยที่จะลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันยังสูงถึง 110-120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนสูง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ