"ฮาตาริ" พลิกโฉมพัดลมไทย เปลี่ยนสู่ดีไซน์อิตาลี-เทคโนโลยีเยอรมนี

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ฮาตาริ" พลิกโฉมพัดลมไทย เปลี่ยนสู่ดีไซน์อิตาลี-เทคโนโลยีเยอรมนี

Date Time: 7 ก.พ. 2567 08:07 น.

Summary

  • แม้จะมีความสุขกับส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% แต่ “ฮาตาริ” พัดลมสัญชาติไทยที่ชื่อละม้ายคล้ายมาจากญี่ปุ่น รู้ตัวว่าโลกเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน และส่วนแบ่งการตลาดไม่ยั่งยืน นั่นเป็นเหตุผลให้ทีมผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของตระกูล ใช้เวลา 5 ปีที่ผ่านมา ปลุกปั้น รีดีไซน์ ใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับ เพื่อให้ฮาตาริสามารถเอาชนะกาลเวลา ยึดครองพื้นที่ในใจผู้บริโภคได้ในทุกยุคสมัยภายภาคหน้า

Latest

สรุปมุมมอง Bernard Arnault จากเวที Forbes Global CEO จุดยืน LVMH เครือแบรนด์หรูระดับโลก

นายวิทยา พานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาตาริ อิเล็กทริก จำกัด เปิดเผยว่า ฮาตาริผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 32 ปี ตั้งแต่ยุคของ “จุน วนวิทย์” ผู้ก่อตั้ง มาถึงรุ่นลูกและรุ่นหลานในปัจจุบัน โดยสามารถแข่งขันเคียงบ่าเคียงไหล่กับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 30-50% ต่อปี ส่วนแบ่งการตลาดแตะ 80% “จนราว 6-7 ปีที่แล้ว ฮาตาริ เหมือนรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาตลอด จนมาถึงวันที่เริ่มเร่งไม่ขึ้นไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางต่อไปคืออะไร ไม่รู้ทิศรู้ทาง แน่นอนส่วนแบ่งตลาด 80% ทำให้เราได้เปรียบด้านต้นทุนจากการผลิตในปริมาณมาก (Economy of Scale) จำนวนพนักงานขยับแตะ 3,000 คน จาก 500 คน ในยุคก่อตั้ง กลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สูญเสียความเร็ว (Speed) บางปีเราออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้แค่ 1 รุ่น หากปล่อยไปน่าจะโตช้าลง เล็กลง และถูกหลงลืมจากลูกค้ารุ่นใหม่”

(จากซ้ายไปขวา) ทัศน์ลักษณ์ พานิชตระกูล, ชัญญา พานิชตระกูล,วรันธร วนวิทย์
(จากซ้ายไปขวา) ทัศน์ลักษณ์ พานิชตระกูล, ชัญญา พานิชตระกูล,วรันธร วนวิทย์

5 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ฮาตาริเริ่มเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่มือผู้บริหารเจนที่ 3 รุ่นหลานของ “จุน วนวิทย์” ประกอบด้วย “ทัศน์ลักษณ์ พานิชตระกูล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงาน R&D และการผลิต, “ชัญญา พานิชตระกูล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานขายและการตลาด และ “วรันธร วนวิทย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ เข้ามาเสริมทัพ

5 ปีที่ผ่านมา ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างฮาตาริและ Habits Design Studio สตูดิโอออกแบบจากอิตาลีที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า มีลูกค้าไฮโปรไฟล์ เช่น ไฮเออร์ พานาโซนิก

การทำงานร่วมกับ Habits Design Studio อยู่ภายใต้แนวคิดที่ต้องการยกระดับภาพลักษณ์ของพัดลมฮาตาริที่ขึ้นชื่อเรื่องความอึด ถึก ทน ฟังก์ชันใช้งานที่โดดเด่น เพิ่มเติมด้วยดีไซน์ที่สวย ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำไปสู่สินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งาน มีประสิทธิภาพ น่ารัก น่าใช้ยิ่งขึ้น ภายใต้คอนเซปต์ Design The Wind

น.ส.ทัศน์ลักษณ์ พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงาน R&D และการผลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ฮาตาริกำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับกิจการขนาดใหญ่ที่มีอายุยาวนานทั่วโลก ที่ปรับตัวไม่ทันกับการแข่งขัน โดยเฉพาะคู่แข่งจากจีน “เราเห็นบทเรียนจากกิจการขนาดใหญ่ อายุเยอะ ที่ล้มหายไปกับกาลเวลา เพราะขาดจุดยึดโยงกับผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เป็นคนเจน Y และเจน Z เราลงทุนทำการศึกษา วิจัย เพื่อหาวิธีเข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ พบว่าพวกเขาไม่ได้มองหาแค่พัดลมที่มีราคาสมเหตุผล ลมแรง และทน เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า แต่มองหาสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และสะท้อนความเป็นตัวตนมากขึ้น”

ฮาตาริจึงเริ่มปรับเปลี่ยนจากที่ไม่เคยเปลี่ยนมากว่า 10 ปี นอกจากดีไซน์ที่ใช้เส้นโค้งมนมากขึ้น สะท้อนความทันสมัยและเป็นมิตรแล้ว เรายังเพิ่มสีสันให้กับพัดลมฮาตาริให้มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากสีดำ สีขาว และสีเทา จนตอนนี้สีชมพูกำลังเป็นสียอดนิยมใหม่ ส่วนแบรนด์โลโก้ทยอยปรับลดเหลี่ยมมุม เพิ่มความโค้งมน ลดโทนสีให้อ่อน ทำให้แบรนด์ดูสดใส มีชีวิตชีวาและเด็กลง

นอกจากนั้น ฮาตาริยังกำลังทยอยเปลี่ยน AC Motor ของพัดลมใหม่ หลังทำงานร่วมกับบริษัทเยอรมนี พัฒนาเทคโนโลยี AC Motor ช่วยให้ลมแรงขึ้น ประหยัดไฟขึ้น เริ่มต้นใช้ในพัดลมรุ่นพกพา Handy Wind วางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว และกำลังทยอยนำไปใช้ผลิตในพัดลมรุ่นอื่นต่อไป รวมทั้งกำลังศึกษาเรื่องการรีแบรนด์อย่างจริงจังด้วย

“ทัศน์ลักษณ์” ตั้งเป้าเปิดตัวพัดลมรุ่นใหม่สูงสุดปีละ 12 รุ่น ขั้นต่ำปีละ 10 รุ่นให้ได้ โดยปัจจุบันสินค้าขายดีเบอร์ 1 เป็น Slide Fan ขนาด 16 นิ้ว รองรับการใช้งานในที่พักแบบคอนโดมิเนียม เพราะเคลื่อนย้ายง่าย ไม่สูงเกินไป และเบา รองลงมาเป็นพัดลมตั้งโต๊ะหน้ากลมรุ่น Cyclone Fan ดีไซน์โดยได้แรงบันดาลใจจากใบพัดเครื่องบิน

นอกจากเดินหน้าลุยปรับ–เปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่แล้ว ไม่นานมานี้ ฮาตาริยังตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อ “จุน วนวิทย์” ผู้ก่อตั้งวัย 86 ปี บริจาคเงินก้อนสุดท้ายจำนวน 900 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งส่งผลดีกับแบรนด์เป็นอย่างมากนั้น ต่อเรื่องนี้ “ทัศน์ลักษณ์” ให้ความเห็นว่า กระแสเป็นเรื่องชั่วคราว แต่การพัฒนาคุณภาพและการผลิตสินค้าที่ดี เป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่า.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ