หลายคนคงจะคุ้นๆ กับคำว่า “ขยะทองคำ” กับธุรกิจรีไซเคิลที่นำเสนอนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่กับเป้าหมายช่วยกันรณรงค์ลดปัญหาขยะ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ Bio Circular Green Economy (BGC) ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เป็นกระแสตื่นตัวทั้งภาครัฐและเอกชนกันในปัจจุบัน
เป็นโมเดลที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะอย่างถูกวิธีอีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนรับทราบดีว่าการแปรสภาพหรือการส่งเสริมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบรียูสหรือรีไซเคิลแต่วิถีชีวิตของคนเมืองอาจไม่เอื้ออำนวยต่อวิธีการดำเนินการ
ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย (ฐานขยะแห้งและเปียก)ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์นำร่องแห่งแรกสำหรับการเรียนรู้เพื่อลดขยะและแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ชาวบ้านและธุรกิจในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ และร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น
โดยมีนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษา ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ด้วยความร่วมมือระหว่าง นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง และนายอิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ ได้เปิดตัวคาราวานโครงการรถ Waste Buy Delivery ภายใต้แนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) ตรงถึงบ้านคุณ
โครงการรถดังกล่าวนับเป็นนวัตกรรมเชิงรุกที่มีขีดความสามารถกำจัดขยะได้ถึงวันละ 1 ตัน เป็นรถโมบาย โซลาร์ “บริการรับซื้อขยะถึงบ้าน” ทั่วกรุงเทพฯ เป็นการตอบสนองปัญหาที่ยังมีอีกบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงจุดจำหน่ายขยะได้ เนื่องจากมีการคัดแยกแต่ไม่มีที่เก็บ ไม่มีเวลาเดินทางมาจำหน่าย ไม่ทราบสถานที่
บริการ “Waste Buy Delivery” สามารถเข้าถึงทั้งหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถานศึกษาและวัด เป็นต้น ได้อย่างรวดเร็ว และมีสถิติการตอบรับอย่างสูง โดยผลสรุปของการตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนลูกค้า 141 ราย ขายขยะรวม 29,101 กิโลกรัม เดือนสิงหาคม 2566 จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 316 ราย น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 197,089 กิโลกรัม
สาเหตุด้วยจุดเด่นบริการที่สามารถตอบสนองผู้ที่ไม่สะดวกในการเดินทาง มายังจุดรับซื้อ ลดขั้นตอนไม่ต้องยุ่งยากในการหาที่เก็บและราคาเป็นธรรม อีกทั้งยังมีภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ร่วมรณรงค์และสนับสนุน อาทิ ซีพี ออลล์, ไทยเบฟ, เนสท์เล่, แม็คโคร, อีซูซุ รวมไปถึงสภาอุตสาหกรรม และสถาบันพลาสติก เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผลต่อด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับธุรกิจเล็กถึงใหญ่ ด้วยการลดขยะจากต้นทาง เปลี่ยนว่าที่ขยะในบ้านให้กลายเป็นเงิน เปลี่ยนของเสียเป็นของดี เปลี่ยนรายจ่ายเป็นรายรับ สร้างสิ่งที่ดีให้กับชุมชน และเมืองที่จะช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ให้ กทม. ในการเดินหน้าไปสู่ “มหานครปลอดภัย”
จากสถิติสภาวะขยะมูลฝอยใน กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ระบุว่าในปีงบประมาณ 2564 (เดือนตุลาคม 2563-เดือนกันยายน 2564) จัดเก็บขยะมูลฝอยได้ในปริมาณมากถึง 3.17 ล้านตัน หรือเฉลี่ยวันละ 8,674.73 ตัน โครงการดังกล่าวแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น
แต่หากชาวบ้านเริ่มเรียนรู้และรับทราบถึงบริการดังกล่าวนอกจากจะช่วยกันรณรงค์คนละไม้คนละมือจะช่วยกันสร้างคุณภาพชีวิตดีๆในสังคมเมืองยุคใหม่ต่อไป.
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th