จากกรณี ปังชา ขนมหวานระดับมิชลินจากร้านลูกไก่ทอง โพสต์ภาพผ่านโซเชียลมีเดียว่า ทางแบรนด์ได้ทำการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า (Trademark) “ปังชา” ในภาษาไทย และ “Pang Cha” ในภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โดยมีรายละเอียดว่า “ปังชา ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และห้ามนำชื่อแบรนด์ ‘ปังชา’ และ ‘Pang Cha’ ไปใช้เป็นชื่อร้าน หรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย”
อย่างไรก็ตาม โพสต์ประชาสัมพันธ์ของร้านลูกไก่ทองดังกล่าว เกิดเป็นประเด็นดราม่าขึ้นในโซเชียลมีเดีย เพราะนักกฎหมายออกมาวิจารณ์ว่าแบรนด์ไม่สามารถเคลม และไม่สามารถห้ามผู้อื่นไม่ให้ใช้คำว่า ปังชา ได้ เพราะเป็นคำสามัญที่มีการใช้เป็นการทั่วไปมานานแล้ว ด้านพ่อค้าแม่ค้าร้านขนมหวานที่ขายเมนูปังเย็นทั่วไปล้วนเกิดความสับสนว่า ตนยังขายปังเย็น หรือเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทยต่อไปได้หรือไม่ หลังจากนี้จะตั้งชื่อเมนูบิงซูเจ้าปัญหานี้อย่างไร
ทั้งนี้ อ้างอิงตามเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่ามีการจดแจ้งลิขสิทธิ์จริง โดยพบการจดทะเบียนคุ้มครอง ดังนี้
นอกจากนี้ ตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ยังมีการคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent) ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการคุ้มครองการคิดค้นสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ครอบคลุม สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
สรุปแล้วนั้น กรณี ปังชา แบรนด์ลูกไก่ทอง ไม่สามารถห้ามผู้อื่นทำเมนูนี้ได้ และพ่อค้าแม่ค้าร้านขนมหวานอื่นๆ ยังสามารถขายเมนูนี้ต่อไปได้ปกติ และใช้คำว่า ชา ชาไทย ปังชาไทย ตั้งชื่อร้านหรือเมนูต่อไปได้ แต่ไม่สามารถลอกเลียนแบบและนำเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นโลโก้แบรนด์ ไปดัดแปลงให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด