จากเหตุการณ์ที่ผู้หญิงรายหนึ่งเกือบโดนคนร้ายข่มขืนบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วงเวลากลางวันแสกๆ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ไปจนถึงกฎหมายยาเสพติดที่เอื้ออำนวยให้คนเสพจนกระทำผิดซ้ำซากไม่เว้นวัน ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ได้คุยกับนักอาชญาวิทยา ถึงคำแนะนำหากต้องเจอเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นกับตัวเอง ต้องทำอย่างไรบ้าง
วิธีเอาตัวรอดจากการถูกข่มขืน
รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล หรืออาจารย์โต้ง รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า จากข้อมูลสถิติ คนที่จะมักจะตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังตัวเองเวลาออกจากบ้าน ต้องให้ความใส่ใจสิ่งรอบข้างเป็นพิเศษ ควรสังเกตสภาพแวดล้อมและสิ่งต่างๆ รอบตัว เพื่อป้องกันและระมัดระวังตัวเมื่อเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
...
ในกรณีที่เลี่ยงเหตุการณ์นั้นไม่ได้ หากเกิดขึ้นในที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่านและเป็นช่วงกลางวัน การร้องตะโกนขอความช่วยเหลือจะดึงความสนใจคนรอบข้าง และทำให้คนร้ายตกใจแล้วหยุดกระทำการไม่ดีได้ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นในสถานที่เปลี่ยว ไม่มีผู้คนเดินผ่าน ควรใช้วิธีพูดเจรจาขอคนร้ายเปลี่ยนสถานที่ไปในที่ไม่ไกลผู้คน เพื่อที่จะขอความช่วยเหลือได้ หรือหาข้ออ้างอื่นๆ เพื่อถ่วงเวลาคนร้ายให้นานที่สุด
“ต้องเรียนว่าในแต่ละสถานการณ์จะมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อมของที่เกิดเหตุ รวมถึงคนร้ายบางคนก็อาจจะแค่มีความต้องการทางเพศ ขณะที่คนร้ายบางคนมีประวัติเคยข่มขืนกระทำชำเราและเพิ่งพ้นโทษออกมา ก็มีความแตกต่างกัน การมีสติก็จะทำให้เราช่วยคิดพิจารณาและตัดสินใจเอาตัวรอดได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์”
หาจังหวะที่เหมาะสมเพื่อตอบโต้
อาจารย์โต้งแนะนำว่า อันดับแรกคือการตั้งสติแล้วพยายามพูดคุยกับคนร้ายดีๆ เพื่อถ่วงเวลา แต่ถ้าหากจวนตัวจริงๆ ให้แกล้งยอมเพื่อหาจังหวะที่คนร้ายเผลอ เช่น ตอนที่คนร้ายกำลังถอดกางเกง หรือจังหวะที่ปล่อยมือเพื่อจะทำการสอดใส่อวัยวะเพศ ในจังหวะนั้นให้ตอบโต้กลับด้วยการเตะผ่าหมาก หรือทุบตีบริเวณจุดอ่อนอื่นๆ เพื่อเอาตัวรอดจะดีกว่าการต่อสู้ขัดขืน เพราะเสี่ยงต่อการโดนทำร้ายร่างกายที่จะทำให้เราหมดสติ หรือหมดแรงหนีได้
“จุดอ่อนบนร่างกายคนร้ายที่เราสามารถตอบโต้กลับให้อีกฝ่ายหมดแรงได้ มีอยู่ 5 จุดด้วยกัน คือ ลูกกระเดือก ตา อวัยวะเพศ ขมับ และหน้าแข้ง เราสามารถใช้ของมีคมหรือของแข็งฟาดไปบริเวณเหล่านี้ เพื่อให้คนร้ายเกิดความเจ็บปวดได้ ทั้ง 5 ส่วนนี้เป็นจุดอ่อนที่แม้ว่าผู้ชายจะมีความแข็งแรงขนาดไหนก็ตาม ถ้าโดน 5 จุดนี้ก็ต้องรู้สึกเจ็บมากแน่นอน”
นอกจากนี้ ทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้หมด เช่น ปากกา เอามาใช้แทงตา ลูกกระเดือก และขมับได้ รวมถึงอุปกรณ์ที่พกติดตัว เช่น มีดพับ สเปรย์แอลกอฮอล์ ก็ใช้ฉีดพ่นใส่ตาคนร้ายได้
...
“หากถ้าเจอคนร้ายในสถานที่เปลี่ยว ให้มองหาสิ่งของ เช่น กิ่งไม้ ก้อนหิน เพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว และควรพกนกหวีดไว้เป่าขอความช่วยเหลือ เพื่อดึงดูดความสนใจคนได้ ซึ่งดีกว่าการตะโกนเอง เพราะอาจจะไม่ดังพอและหมดแรงก่อนได้”
...
ขณะเดียวกันจากข้อมูลทางวิชาการส่วนใหญ่ พบว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดและข่มขืนมักมาจากคนใกล้ตัวมากกว่าคนแปลกหน้า เพราะเรามักจะไว้ใจคนใกล้ตัวมากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ก็ใช้วิธีเอาตัวรอดคล้ายกัน ต่างกันแค่คนใกล้ตัวมักจะเป็นคนที่เรารู้จักและให้ความไว้ใจ คุ้นเคยพอสมควร ก็อาจจะใช้วิธีพูดเจรจาเกลี้ยกล่อมได้ง่ายกว่าคนแปลกหน้า
เสพยาได้แต่ห้ามพกสเปรย์พริกไทย
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นบนสถานีบีทีเอสและอีกหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่คนร้ายมักจะเสพสารเสพติดจนเกิดอาการหลอน และมีอารมณ์ทางเพศจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่เสพทั้งยากล่อมประสาท น้ำกระท่อม และกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ได้รับการลดหย่อนทางกฎหมาย และบางชนิดยังเปิดให้สามารถเสพได้ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำซาก แต่ไม่เคยมีการจัดการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่ประเทศไทยกลับมีกฎหมายห้ามประชาชนพกพาสเปรย์พริกไทยไว้ป้องกันตัว โดยถือว่าเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห้ามผลิต นำเข้า มีไว้ครอบครอง ถ้าฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในมุมมองของนักอาชญาวิทยา ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนสถานีบีทีเอสว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง และที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน กรณีนี้ควรมีการลงโทษที่เร็วและใช้บทลงโทษที่หนัก เพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้งผู้ที่จะกระทำความผิดให้เกิดความเกรงกลัว
...
เขาเสนอว่า สำหรับกรณีดังกล่าวคนร้ายจะได้รับโทษการกระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล ผิดกฎหมายตามมาตรา 388 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และควรได้รับโทษเรื่องยาเสพติดเพิ่มด้วย
“คนที่ทำความผิดซ้ำซากควรมีการติดตามเฝ้าระวังคนพ้นโทษ โดยเฉพาะคดีข่มขืน แต่ถ้าแค่ทำอนาจารควรมีบทลงโทษอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น การควบคุมพฤติกรรม การอยู่อาศัยในชุมชน รัฐบาลควรมีการควบคุมตรงนี้ ไม่ควรให้ประชาชนมารองรับความเสี่ยงเอง ขนาดผู้ชายเองก็ต้องระวังตัวว่าจะเจอใครมาปล้นจี้ระหว่างทางหรือเปล่า ตอนนี้กลายเป็น Fear of crime ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตในแต่ละวัน แล้วประชาชนจะหวังพึ่งพาใครได้”
นอกจากนี้เขายังมองว่ารัฐบาลควรสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ในทางที่ถูกต้อง การเปิดกัญชาเสรีเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ กลับทำให้บรรทัดฐานของสังคมลดลง และทำให้คนละเมิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น เพราะคนเสพยามากขึ้น แต่กลับจัดให้การพกสเปรย์พริกไทยเพื่อป้องกันตัวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งย้อนแย้งกันเองมาก
“คนที่กำหนดนโยบายต้องเข้าใจชีวิตของคนที่ใช้ชีวิตประจำวันว่าเป็นยังไง ต้องเดินทางแบบไหน แต่ละวันต้องเจออะไรบ้าง กว่าจะกลับบ้านดึกกี่โมง ต้องเข้าซอยลึกแค่ไหน นี่คือความเป็นจริงที่คนใช้ชีวิตส่วนใหญ่ต้องเจอ เพราะฉะนั้นการที่จะออกนโยบายแต่ละอย่าง เคยไหมที่จะมาใช้ชีวิตแบบนี้ ผมอยากเสนอให้คนกำหนดนโยบายควรลองมาใช้ชีวิตแบบคนปกติสักประมาณ 2 เดือน ถึงจะเข้าใจก่อนออกกฎหมาย เพราะเห็นปัญหา ผมพูดได้ เพราะผมเป็นคนรากหญ้าเลยเข้าใจปัญหาที่มี ส่วนคนออกกฎหมายเองไม่ได้มาใช้ชีวิตแบบนี้ก็เลยไม่เข้าใจ” อาจารย์โต้งกล่าวทิ้งท้าย