ในยุคที่มีอาชีพเกิดใหม่ในสายงานดิจิทัลขึ้นมากมาย “Influencer” คือหนึ่งในอาชีพที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยพฤติกรรมนักช็อปที่มักจะค้นหา “การรีวิว” ทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ทำให้แบรนด์ต้องใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ และดึงดูดให้นักช็อปมาซื้อสินค้านั่นเอง

E-Commerce ดันเทรนด์ Influencer ให้ปัง

ปู - สุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างแบรนด์และ Influencer เข้าด้วยกัน ยืนยันความ “ปัง” เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เทรนด์ความต้องการของ Influencer เติบโตขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในทุกปี โดยเฉพาะการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ จึงยิ่งช่วยผลักดันให้ Influencer โตตามไปด้วย

“เหตุผลที่ Influencer ถูกนำมาใช้กับอีคอมเมิร์ซมากขึ้นก็เพราะการช็อปปิ้งออนไลน์ แทบจะไม่มีแบรนด์ไหนที่ไม่มีรีวิว เพราะพฤติกรรมผู้ซื้อส่วนใหญ่จะทำการรีเสิร์ชก่อน เพื่อดูว่าถ้าจะซื้อสินค้านี้คนอื่นพูดยังไง ถ้าไม่ได้รีวิวโดย Influencer ก็เป็นการรีวิวโดยแบรนด์เอง แต่พฤติกรรมผู้ซื้อไม่ได้อยากเรียนรู้จากการทำโฆษณาแต่อยากเรียนรู้จากการเห็นคอนเทนต์” สุวิตา กล่าว

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของ Influencer สามารถแบ่งออกเป็น 5 เลเวล ตามจำนวนความนิยมของผู้ติดตาม ได้แก่

1. KOL (Key Opinion Leader) เป็นเบอร์ใหญ่สุด ผู้ติดตามหลักล้านคนขึ้นไป

2. Macro Influencer เบอร์รองลงมา มีจำนวนผู้ติดตามหลักแสน

3. Medium Influencer มีคนติดตามหลักหมื่น

4. Micro Influencer มีผู้ติดตามหลักพัน

...

5. Nano Influencer มีผู้ติดตามหลักร้อย

โควิด-19 ช่วยพลิกโอกาส Influencer รายเล็ก

ที่ผ่านมาแบรนด์มักจะเลือกใช้ Influencer ระดับแมสที่มีจำนวนผู้ติดตามหลักแสนหลักล้านขึ้นไปในการทำตลาดเพื่อเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง แต่หลังจากที่มีโควิด “โอกาส” กลับมาตกอยู่ที่ Influencer รายเล็กที่มีผู้ติดตามหลักร้อยถึงหลักพันอย่าง Micro และ Nano Influencer เนื่องจากแบรนด์ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องจำกัดงบการตลาด จึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์มาใช้รายเล็กเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อได้ลึกขึ้นในราคาที่ถูกลง

สุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore
สุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore

สุวิตา กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้คนที่กำหนดเทรนด์การทำตลาดไม่ใช่แบรนด์หรือเอเจนซี่ แต่เป็นผู้บริโภคเองที่กำหนดเทรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมา ด้วยพฤติกรรมการซื้อที่มีความต้องการเชิงลึกและแตกย่อยออกไปมากมาย ทำให้แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์การใช้ Influencer ที่แยบยลมากขึ้น โดยช่วงแรกของการเปิดตัวสินค้าจะเลือกใช้ Influencer ระดับแมสก่อนเพื่อให้คนรู้จักแบรนด์ได้มากที่สุด เมื่อผ่านพ้นไตรมาสแรกไปจะหันมาใช้ Influncer รายเล็กที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการแยกออกไปจากเดิม เช่น กลุ่มที่สนใจอาหารคลีน อาหารคีโต คนที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้สูงวัย เป็นต้น

“ตอนนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘Micro Influencer in Practice’ สำหรับแบรนด์และเอเจนซี่เลย ไม่ได้อยู่ในตำราหรือในเทรนด์อีกต่อไป แต่ต้องลงมาทำจริงจังแล้ว เพราะถูกเศรษฐกิจบังคับ แล้วก็ได้ผลดีด้วย เพราะ Micro Influencer จะไปตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มลูกค้าเฉพาะทาง (Niche) ที่ไปเสาะหาว่าในเพจของเขามีคนที่ต้องการแบบนี้ไหม ถ้าใช้หลายเพจแบรนด์ก็ยิ่งได้เปรียบ เช่น ขนมมันฝรั่งทอดกรอบ ถ้าไปลงในกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางอย่างสายกรีน สายสุขภาพ สายสูงวัย ก็จะทำให้เจอลูกค้ากลุ่มใหม่เยอะขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับการลงโฆษณาในแบนเนอร์ที่ไม่สามารถพาแบรนด์ไปเจอกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้”

อยากแจ้งเกิดเป็น Influencer ต้องทำยังไง

ในยุคที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจ การเป็น Influencer จึงเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้เสริมได้เช่นกัน แค่เพียงมีช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบเบอร์ ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่ TikTok ก็สามารถสร้างช่องทางให้ผู้คนมาติดตามได้แล้ว

แม้ว่าตอนนี้ใครๆ ก็เป็น Influencer ได้ แต่ใช่ว่าจะ “แจ้งเกิด” กันได้ทุกคนเสมอไป ถ้าอยากอยู่วงการนี้นานๆ ปังๆ ต้องมี 3 ข้อพื้นฐานนี้

หาจุดความสนใจของตัวเองแล้วสื่อสารออกมาให้ชัด
หาจุดความสนใจของตัวเองแล้วสื่อสารออกมาให้ชัด

1. ค้นหาสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญและสนใจมากที่สุดแล้วสร้างความแตกต่าง เช่น ชอบทานอาหารอร่อยๆ แต่ก็รักสุขภาพด้วย ลองโฟกัสที่สายอาหารคลีน อาหารคีโต หรืออาหารที่ทำจากพืช (Plant-based) หรือทำ ASMR ให้คนฟังเสียงขณะทานอาหารเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก แต่มีแนวโน้มเติบโตเรื่อยๆ

2. สร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรทิ้งช่วงนานเกินไป เช่น ทำคลิปวิดีโออาทิตย์ละ 1 คลิป ส่วนวันอื่นๆ ที่เหลือก็โพสต์รูปหรืออัลบั้มออกมาบ้างเพื่อให้คนติดตามคอนเทนต์เราได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งควรสังเกตพฤติกรรมคนติดตามของเราว่าชอบหรือสนใจอะไร เพื่อทำคอนเทนต์ให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

3. อัปเดตความรู้เพิ่มเติมเพื่อสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้คนติดตาม เพราะพฤติกรรมและความสนใจคนเปลี่ยนทุกวัน Influencer ไม่เพียงแค่ต้องอัปเดตข่าวสารและความรู้ให้ทันกระแสเท่านั้น แต่ควรสังเกตว่า ข้อมูลเชิงลึก (Insight) ของผู้ติดตามเป็นแบบไหน สนใจเรื่องไหน ชอบอะไร และปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับฐานผู้ติดตามในระยะยาว

อย่างที่เราทราบกันดี จากสภาพเศรษฐกิจเวลานี้ การหารายได้เสริมด้วยการเป็น Influencer ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่ว่าใครๆ ก็สามารถปั้นตัวเองขึ้นมาได้ ถ้าหากสำรวจตัวเองอย่างดีแล้วพบว่าเป็นงานที่ถูกจริตก็เดินหน้าเปิดบัญชีเพื่อก้าวสู่การเป็น Influencer ได้เลย

...