นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
ปัจจุบันประชากรสูงอายุของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจะมีผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2568 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า โดยจะมีผู้สูงอายุราว 14.4 ล้านคน เพื่อให้คนไทยเตรียมรับมือกับวัยสูงอายุและใช้ชีวิตในวัยนี้ได้อย่างมีความสุข โรงพยาบาลนครธน จึงร่วมกับ ชมรมอายุวัฒนา จัดบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคระบบทางเดินอาหาร ปัญหาว้าวุ่นใจ...วัยสูงอายุ โดย นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลนครธน เพื่อให้ผู้เข้าสู่วัยเกษียณได้รับมือกับการ “เกษียณวัย อย่างมีความสุข”
นพ.สมบุญ กล่าวว่า โรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เริ่มตั้งแต่ปากไปจนถึงทวารหนัก ซึ่งทุกวัยสามารถเป็นโรคนี้ได้ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัยอื่น จึงมีโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินทางอาหารได้มากกว่า อาการและโรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ กลืนลำบาก ปวดท้อง เลือดออกจากทางเดินอาหาร ท้องผูก โรคตับ นิ่วในถุงน้ำดี และทางเดินน้ำดี แต่โรคที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือผู้ที่เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รับประทานอาหารมัน เนื้อแดง รมควัน และปิ้งย่าง
...
ส่วนปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่เราสามารถลดโอกาสการเกิดโรคด้วย การลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมั่นออกกำลังกาย และดูแลเรื่องอาหาร เช่น ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง เนื้อแดง อาหารที่ผ่านการปรุงแต่ง อาหารปิ้งย่าง หันมารับประทานอาหารที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และควรตรวจคัดกรองในกรณีที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการที่สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากใครมีอาการที่ชวนสงสัยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรอง ซึ่งอาการดังกล่าว ได้แก่ มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน ซึ่งอาจเป็นสีแดงสดหรือสีคล้ำ มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักและมีเลือดออก มีก้อนในท้อง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย ส่วนผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทางทวารหนักโดยการส่องกล้องทุกๆ 3-5 ปี.