จากเทรนด์พฤติกรรมของผู้คนในปัจจุบันพบว่าคนวัยทำงานยุคหลังโควิด หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และออกกำลังกายกันมากขึ้น ทั้งยังมีการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต เข้ารับคำปรึกษาหรือหากิจกรรมบำบัดความเครียด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีที่ขึ้น
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราดูแลตัวเองอยู่นั้นดีเพียงพอแล้ว การตรวจสุขภาพจึงเป็นคำตอบ ที่ช่วยให้เรามอนิเตอร์การเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้และรู้วิธีการดูแลตัวเองให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราสามารถตรวจสุขภาพแบบองค์รวมที่ลงลึกได้ถึงระดับยีนได้ นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพทั่วไป ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพของเราได้ครอบคลุมทุกมิติ เป็นการตรวจที่ช่วยวางแผนดูแลสุขภาพ เปลี่ยนจากการตรวจเพื่อรักษา เป็นการป้องกันให้เรามีชีวิตดีแบบไม่มีที่สิ้นสุด
วันนี้ทางเครือโรงพยาบาลพญาไท จึงมีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพองค์รวมมาฝากกัน
การตรวจสุขภาพแบบองค์รวม ช่วยไขความลับด้านใดได้บ้าง
การตรวจสุขภาพทั่วไปที่เราตรวจกันทุกปีนั้น คือ การเฝ้าระวังโรค หากตรวจพบว่าเป็นโรคอะไรตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสในการรักษาก็มีมากกว่า ซึ่งนอกจากจะดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจแล้ว ในบางครั้งชีวิตก็ต้องการคำตอบกับอาการบางอย่างที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้มากถึงขั้นที่จะเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคใดโรคหนึ่ง เช่น ตื่นมาตอนเช้ารู้สึกไม่สดชื่น ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิดแบบไร้สาเหตุ หรือเหตุใดจึงมีผดผื่นขึ้นง่าย และเป็นหวัดบ่อยมากในแต่ละปี
การตรวจสุขภาพแบบองค์รวม ที่ลงลึกถึงระดับยีนจึงตอบโจทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาตรงจุดที่สุด และลงลึกในแบบองค์รวม เป็นตัวช่วยสำคัญของการมีสุขภาพดีในระยะยาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
...
1. การตรวจดูสารอาหารเพื่อดูระดับวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกาย
การซื้อวิตามินในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สามารถทำได้แสนง่ายดาย แค่เพียงเดินไปร้านสะดวกซื้อก็มีวิตามินให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ แต่บางครั้งสิ่งที่เราคิดอาจไม่ใช่สิ่งที่ร่างกายต้องการ หรือบางคนอาจจะพยายามรับประทานผักและผลไม้อย่างหนัก เพราะทราบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ
แต่เราอาจไม่เคยทราบว่าวิตามินที่กำลังรับประทานอยู่นั้นร่างกายต้องการจริงหรือไม่ หรือในร่างกายของเรานั้นมีค่าอนุมูลอิสระและมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่บ้างหรือไม่ มีปริมาณเท่าใด ซึ่งอาการขาดวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ นั้นร่างกายอาจยังไม่แสดงอาการออกมาชัดเจนนัก บางคนอาจมีเพียงอาการหงุดหงิด เพลียง่าย มีผื่นขึ้นง่าย ท้องผูกหรือภูมิแพ้กำเริบ รวมถึงถ้าร่างกายมีสารต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าค่าอนุมูลอิสระ
สิ่งที่จะตามมาก็คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม ต้อกระจก โรคอ้วนหรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง เป็นต้น และเพื่อให้สามารถไขข้อข้องใจเหล่านี้ได้การตรวจวัดระดับวิตามิน เกลือแร่ต่าง ๆ หรือสารอนุมูลอิสระ และสารต้านอนุมูลอิสระ นั้นก็จะช่วยให้เราวางแผนดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมก่อนที่ความเจ็บป่วยจะมาเยือน
2. การตรวจสารพิษและโลหะหนักในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค
การใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อการรับสารโลหะหนัก และสารพิษเข้ามาในร่างกายตลอดเวลา เพราะเป็นสิ่งที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งการทำงานที่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับสารพิษ หรือการปนเปื้อนที่มาจากการรับประทานอาหาร เครื่องสำอาง หรือแม้แต่วัสดุอุดฟันบางชนิด
โลหะหนักที่พบได้บ่อยมีอยู่ทั้งหมด 5 ชนิดหลักๆ ด้วยกัน คือ อะลูมิเนียม สารหนู ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม โดยโลหะหนักเหล่านี้เมื่ออยู่ในระดับน้อยอาจไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมีการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายกับร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน อัลไซเมอร์ และมะเร็งต่างๆ การตรวจโลหะหนักในร่างกายจะช่วยให้เราป้องกันตัวเอง ไม่ให้มีโลหะหนักในร่างกายมากเกินไป โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือกำจัดโลหะหนักเหล่านั้นออกด้วยวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ร่างกายกลับมาสะอาดปราศจากสารพิษ
3. การตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกาย
ฮอร์โมนมีความสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย แน่นอนเมื่อแรกเกิดฮอร์โมนและเซลล์ต่างๆ จะอยู่ในระดับสูงทั้งปริมาณ ประสิทธิภาพ และคุณภาพ เทียบง่ายๆ คือ ตอนที่เราเป็นเด็กผิวพรรณตึง สดใส เวลา เป็นแผลอะไรก็หายง่าย แต่เมื่ออายุมากไป เป็นแผลอะไรก็หายยาก ริ้วรอย จุดด่างดำ มากขึ้น เหนื่อยง่าย ไม่มีพลังเหมือนแต่ก่อน เป็นหวัดบ่อย ความจำไม่ดี ซึ่งส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงข้างต้นนี้ก็คือ ฮอร์โมน
เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของเซลล์ต่างๆ ก็เริ่มลดลง รวมถึงการสร้างและผลิตฮอร์โมนด้วย ในทางกลับกันหากเราสามารถเรียนรู้หน้าที่ของฮอร์โมนได้อย่างเข้าใจ เราก็จะสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อช่วยรักษาระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่ดีได้ สุขภาพภายในก็จะสามารถฟื้นฟูให้กลับมามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทั้งในกระบวนการคิด การทำงาน สมดุลการออกกำลังกาย ซึ่งถือว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตด้วยสุขภาพที่ดีแล้ว
...
โดยฮอร์โมนที่สำคัญ ได้แก่ ฮอร์โมนเพศ ที่สามารถแยกออกเป็น ฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนการเจริญเติบโต ฮอร์โมนต้านความเครียด หรือฮอร์โมนความสุข ฮอร์โมนการเผาผลาญ หรือ ฮอร์โมนไทรอยด์ ดังนั้น การตรวจจะทำให้เราทราบระดับของฮอร์โมน และแพทย์ก็จะสามารถช่วยแนะนำวิธีในการเพิ่มปรับฮอร์โมนต่างๆ และแนวทางในการดูแลตัวเองที่เหมาะสมให้อยู่ในระดับที่สมดุล
4. การตรวจ DNA ในเชิงลึกเพื่อดูและวิเคราะห์ความเสี่ยงในอนาคต
การซักประวัติของแพทย์เวชศาสตร์ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพนั้น นอกจากการซักประวัติ ในรายละเอียดของบุคคลแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของสมาชิกครอบครัว เพราะโรคบางชนิดไม่สามารถตรวจพบได้ในเบื้องต้น แต่มีความเสี่ยง อาจต้องค้นหาในระดับพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ บางท่านตรวจสุขภาพประจำปีไม่พบว่าเป็น แต่ต่อมาอาจมีอาการของโรคในระดับรุนแรงแล้วได้ ดังนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่ามีปัจจัยเสี่ยงจากคนในครอบครัว ก็จะช่วยให้เราระวังตัว และปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นได้ จึงสรุปได้ว่าการตรวจ DNA เพื่อดูความเสี่ยงในระดับพันธุกรรม และการหาค่าความผิดปกติอื่น ๆ ที่ลึกลงไปอีกระดับ จึงเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยบอกความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ในอนาคตได้มากขึ้น
...
เมื่อชีวิตต้องการรายละเอียดที่มากกว่า การตรวจสุขภาพแบบองค์รวมจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่เพียงแค่การตรวจที่เน้นค้นหาความผิดปกติของโรค ณ ช่วงเวลานั้นๆ ที่หากพบโรคก็ให้การรักษา แต่เป็นศาสตร์ถูกที่พัฒนามาเพื่อดูแลในเชิงป้องกันแบบลงลึกถึงความเสี่ยงในอนาคต เพื่อค้นหาที่มาของความผิดปกติในชีวิตของเราอย่างละเอียด เพื่อนำทุกสิ่งมาประเมินและวิเคราะห์วางแผนดูแลรอบด้านอย่างเป็นระบบ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมคำแนะนำที่เน้นการดูแลทุกระบบของร่างกาย ใส่ใจในรายละเอียดข้อมูลการรักษาโรคด้านต่างๆ รวมถึงไลฟ์สไตล์ครอบครัว การทำงาน โภชนาการ การออกกำลังกาย และสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิต ทำให้เรามีสุขภาพดีแบบยกระดับ กับแบบแผนการใช้ชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณข้อมูล : พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี ผู้อำนวยการศูนย์ Premier Life Center โรงพยาบาลพญาไท 2