ดูภาพองค์พระหน้า-หลัง เห็นเหมือนๆ กัน เหมือนพระกริ่งปวเรศฯ วัดบวรฯ แล้วอ่านชื่อเรื่อง “ปวเรศ? ก้นตัน” ผู้เขียนเจตนาบอกว่า ด้านก้นพระองค์นี้...หล่อแบบไม่มีโพลง เพื่อปิดก้นบรรจุเม็ดกริ่ง แบบพระกริ่ง ปวเรศฯ ที่รู้ๆกัน

ทั้งด้านก้นที่หล่อเต็ม...ตันนั้น เจ้าของเดิม ก็ตั้งใจใช้ตะไบแต่งให้เรียบ แล้วยังบรรจงจารเลขไทยไว้สามตัว

ฟอร์มและขนาดพระกริ่ง แต่ไม่มีกริ่ง เรียกพระกริ่งไม่ได้ แต่เมื่อมีเลขไทย...เข้าตำรับพระไชยวัฒน์องค์จิ๋ว จึงขอโมเมเรียกท่านพระไชยวัฒน์ไปก่อน

พระไชยวัฒน์องค์นี้...เจ้าของเสนอขายทางตลาดออนไลน์ในราคาหลักพัน เพื่อนคน ที่ซื้อเห็นว่าเป็นพระหล่อแบบดินไทย ในซอกมุม ลึกๆยังมีคราบดินหุ่นที่เรียกดินขี้วัวเกรอะกรัง

ด้านก้นที่ถูกตะไบแต่งเนื้อ สีออกชมพู ดูราศีโลหะมีตระกูล

เอาประสบการณ์จากพระกริ่งรุ่นทองทิพย์เจ้าคุณศรีวัดสุทัศน์ องค์ที่ไม่ได้แต่ง เทียบเคียง แล้ว นอกจากมโนได้ว่า “เก่ากว่า” พลิกดูเหลี่ยมไหนเป็นพระแท้แน่นอนสถานเดียว

ย้อนมาพิจารณาโจทย์ใหญ่...หาภาพขยายใหญ่กริ่งปวเรศองค์วัดบวรฯทั้งองค์ ไม่ว่า หน้าหลัง ด้านข้างมาวางเทียบ เริ่มจากเค้าวงพระพักตร์เหมือนกันเป๊ะ

ค่อยๆไล่เลียงดูตั้งแต่เม็ดพระศก เรื่อยมาถึงเส้นชายจีวร นิ้วพระบาท นิ้วพระหัตถ์ชายผ้าทิพย์

ลงมาถึงกลีบบัวด้านหน้าไปถึงกลีบบัวหลัง กลีบบัวลึกอ่อนไหวหลายเหลี่ยมมุม...จนจะเรียกว่า “บัวสะดุ้ง”

กระทั่ง...โค้ดที่ว่าเหมือนเม็ดงา...ก็เหมือนทั้งสัดส่วนตรงทั้งตำแหน่งที่วาง

อยากสรุป ทุกเส้นสายน้อยใหญ่เทียบเคียงแล้วเหมือนองค์ครูวัดบวรฯแบบ “ทุกกระเบียดนิ้ว”

ถึงตรงนี้...เกิดปัญหาขึ้นมาละซี! พระกริ่งปวเรศฯองค์วัดบวรฯนั้น ท่านว่า...เป็นพระที่หล่อจากกระบวนการปั้นทีละองค์ เสร็จแล้วมีการแต่ง ตอก ขัด...ทุกองค์แค่คล้าย แต่ไม่มีเหมือนกัน...นี่นา!

...

แต่เหตุไฉน? พระไชยวัฒน์ องค์ในคอลัมน์ ที่เห็นชัดกับตา...เป็นพระหล่อออกมาแบบดิบๆ เดิมๆ จึงไปเหมือนกับพระกริ่งปวเรศฯองค์วัดบวรฯ ที่เชื่อกันว่าเป็นพระที่ผ่านการแต่งการตอก (เม็ดพระศก) ไปได้ยังไง?

ในสมมติฐานของความเหมือนที่ว่า...เหมือนกันเฉพาะในรายละเอียดของเส้นสายลายพิมพ์ แต่ไม่เหมือนตรงผิวพระ องค์วัดบวรผิวกลับดำ พอมโนได้ว่า เพราะช่างกรอเกลาผิวออกแล้ว...ผิวในสัมผัสอากาศ และการจับต้อง

แต่ผิวพระองค์ในคอลัมน์ ส่วนใหญ่ยังคง สภาพดิบๆเดิม ขรุขระ ตะปุ่มตะปํ่าเอาไว้ ส่วน ใหญ่จะไม่กลับดำ

ถ้าเป็นเช่นสมมติฐานนี้...จะต้องพิจารณา องค์วัดบวรฯใหม่ ว่าทุกเส้นสายที่เห็นเป็นองค์ครูนั้น...เป็นเส้นสายจากแม่พิมพ์เดิมๆ ไม่ได้เกิดจากการตอก แต่ง แต่ประการใดเลย

ลองเอาภาพพระกริ่งปวเรศฯ องค์ที่คล้ายกัน มากสององค์เทียบเคียง...ถ้าช่องไฟเม็ดพระศก ช่องไฟเส้นตอกชายจีวร ช่องไฟนิ้วพระบาท...ตรงกัน ก็ยืนยันพระกริ่งสองสามองค์นั้น ช่างแค่ขัดขูดเกลาผิวให้เกลี้ยงเกลาเท่านั้น

นี่ว่ากันเฉพาะพระกริ่งปวเรศฯองค์ที่เหมือนกันมากๆ ส่วนพระกริ่งปวเรศฯที่ยอมรับในวงการ มีทั้งองค์ที่ไม่แต่งเลย แต่งน้อย แต่งมาก ใช้หลักคุณบุญเหลือ ออประเสริฐ...ช่าง แต่งพระกริ่งปวเรศฯมีสองคน สองฝีมือ

กลับมาสู่ประเด็นพระปวเรศฯก้นตัน ติดตามสืบค้นจากเจ้าของ ได้มาถึง 8 องค์ จึงมโนได้ว่า เป็นพระที่หล่อเสีย คนในโรงหล่อ เก่าที่ไหนสักแห่ง เอามาตะไบก้นจารเลข...แล้วเอาออกขายให้

เรื่องทำนองเดียวกับพระกริ่ง 83 วัด สุทัศน์ หลุดจากโรงหล่อ เคยมีคนเอามาขายในสนามพระท่าพระจันทร์...จ่าเปี๊ยก เขียนไว้ใน “อาณาจักรพระเครื่อง” เมื่อราวสี่สิบปีที่แล้ว

เรื่องนี้จะเอามาใช้กับพระปวเรศฯ ก้นตันได้แค่ไหน ขอเสนอให้ผู้รู้แลกเปลี่ยนกันต่อได้ตามอัธยาศัย.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม