เนสท์เล่ โชว์โมเดลความยั่งยืนของการทำฟาร์มโคนม ขับเคลื่อน "การเกษตรเชิงฟื้นฟู" มุ่งดูแลสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบจากสภาวะโลกเดือด ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร พร้อมส่งต่อผลิตภัณฑ์คุณภาพดีให้ผู้บริโภค
ในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำนมดิบประมาณ 2,800-3,000 ตันต่อวัน ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มโดยรวมปีนี้เติบโตสูงกว่าปีก่อนถึง 7% แต่แนวโน้มปริมาณการผลิตน้ำนมดิบกลับลดลง เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น ภาวะโลกเดือด และจำนวนเกษตรกรโคนมที่ลดลง อีกทั้งอุตสาหกรรมโคนมก็ยังเป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทน หากไม่มีการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบครบวงจร
ในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม เนสท์เล่ เล็งเห็นถึงปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับเกษตรกรในการส่งเสริมการทำฟาร์มโคนมตามแนวทางความยั่งยืน ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative Agriculture เพื่อบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เพราะน้ำนมดิบ ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของเนสท์เล่ในการนำมาผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น ไมโล ตราหมี และเนสกาแฟ เราจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำนมดิบที่ต้องมีคุณภาพดี และมีแหล่งผลิตที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Sourcing เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนสท์เล่ได้ดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มโคนม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่น้ำนมดิบที่เนสท์เล่ใช้ผ่านมาตรฐานด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนครบ 100% แล้ว และเราจะยังคงเดินหน้าในการส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่มือผู้บริโภคเพื่อให้มั่นใจว่าเรามีผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
เปิดโมเดลฟาร์มโคนมต้นแบบ เน้นปกป้อง-ทดแทน-ฟื้นฟู
ขณะที่อุตสาหกรรมฟาร์มโคนมเป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 26 เท่า เนสท์เล่จึงได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมนมในประเทศไทย โดยส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ที่มุ่งเน้นการปกป้อง ทดแทน และฟื้นฟู คือการปกป้องและฟื้นฟูดินที่เป็นแหล่งปลูกอาหารวัวให้มีความสมบูรณ์ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีด้วยการใช้มูลวัวตากแห้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในแปลงปลูกและทรัพยากรธรรมชาติ
นายศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ที่ลงพื้นที่และทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร เปิดเผยว่าเนสท์เล่เป็นเจ้าแรกที่นำการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาปรับใช้กับฟาร์มโคนม โดยการเกษตรเชิงฟื้นฟูมุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญในการบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร คือ 1. การพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนะ 2. การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
"เราแนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิดเพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร และเป็นการเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนให้กับแม่โค ส่งผลให้ปัจจุบันเราได้ปริมาณน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 กก. ต่อตัวต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กก. ต่อตัวต่อวัน นอกจากนี้ คุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566 ซึ่งการที่ระดับโปรตีนในนมมีสูงกว่า 3% นั้นบ่งบอกถึงสุขภาพของแม่โคที่สมบูรณ์ และยังเป็นการเพิ่มโภชนาการที่มีประโยชน์ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย นอกจากนี้ การปลูกพืชหลายชนิดก็เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลง พร้อมกับปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรดิน และสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม" นายศิรวัจน์ กล่าวเสริม
เนสท์เล่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการมูลโคอย่างมีประสิทธิภาพโดยการนำไปตากแห้ง เมื่อแห้งแล้วสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้าอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและบางส่วนสามารถแบ่งไปจำหน่ายในรูปของปุ๋ยคอก สร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร เปลี่ยนจาก “มูลโค สู่มูลค่า” สร้างรายได้อีกกว่า 40,000 บาทต่อปี
พร้อมกันนี้ เนสท์เล่ยังสนับสนุนการติดตั้งบ่อไบโอแก๊สเพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทนไปใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน นับเป็นวิธีการจัดการของเสียในฟาร์มให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญยังช่วยลดคาร์บอนจากมูลสัตว์ เนื่องจากการนำมูลโคมาตากแห้งจะทำให้ไม่เกิดการหมักหมมจนเกิดเป็นก๊าซมีเทน
"และเนื่องจากฟาร์มโคนมในบางพื้นที่ยังมีความท้าทายด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่เสถียร เนสท์เล่จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับสูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงหญ้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตลอดปี และลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยให้เกษตรกรโคนมมีไฟใช้ในครัวเรือน โดยการทำฟาร์มโคนมตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถช่วยลดคาร์บอนได้รวมประมาณ 2,000 ตันในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561" นายศิรวัจน์ กล่าวเสริม
นายวรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำฟาร์มโคนมว่ามีทั้งด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงในพื้นที่ หรือการที่วัวมีผลผลิตน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่อง น้ำนมดิบมีคุณภาพต่ำลง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ชนิดข้นที่แพงขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้จำนวนเกษตรกรฟาร์มโคนมมีจำนวนลดน้อยลง
"ผมเริ่มทำฟาร์มโคนมในปี 2561 และได้ร่วมงานกับเนสท์เล่ ในช่วงปี 2564 จากการเป็นสมาชิกเกษตรกรโคนมพิมาย ทางเนสท์เล่ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยถึงปัญหาในการทำฟาร์ม ช่วยหาวิธีในการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งแนะนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาประยุกต์ใช้ จึงได้เริ่มเป็นฟาร์มโคนมนำร่อง มีการทำแปลงหญ้ารูซี่ หญ้าไนล์และปลูกพืชถั่วร่วมด้วย ทำบ่อไบโอแก๊ส ตากมูลวัว ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพราะไฟฟ้าเข้ามาไม่ถึง ตอนนี้จึงเป็นฟาร์มที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 100% และสามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้กับแปลงหญ้าได้ตลอดปี รวมทั้งนำมูลโคตากแห้งไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย" นายวรวัฒน์ กล่าว
จากการส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้ด้านการทำปศุสัตว์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำนมดิบให้เนสท์เล่ด้วยมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ทั้ง 100% จนถึงตอนนี้ เนสท์เล่ได้ให้ความรู้และเทคนิคการเกษตรเชิงฟื้นฟูแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 160 ฟาร์มจาก 3 สหกรณ์ และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้เริ่มทำการเกษตรเชิงฟื้นฟูครบวงจรแล้วกว่า 40 ฟาร์ม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการมีตลาดรองรับผลผลิตน้ำนมดิบ เนสท์เล่ยังรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์โคนมในราคาที่เป็นธรรมตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อที่กำหนดไว้