ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าเราจะหันหน้าไปทางไหนทุกคนก็ไม่อาจหลบตากับวิกฤตที่โลกต้องเผชิญได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากภัยธรรมชาติอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป วิกฤตความขัดแย้งและความไม่สงบในภูมิศาสตร์การเมืองโลก วิกฤตความเท่าเทียมทางสุขภาพที่ถูกตอกย้ำให้เห็นได้ชัดผ่านโรคระบาดนับครั้งไม่ถ้วนในรอบไม่กี่ปี ปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเสียงของคนพื้นเมืองและสิทธิมนุษยชนที่กำลังถูกกดทับ ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่เราทุกคนในฐานะของประชากรของโลกใบนี้จำเป็นต้องใส่ใจ จึงถึงเวลาที่คนทั้งโลกจะต้องร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางรับมือกับปัญหาวิกฤตข้างต้น การประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลก One Young World 2024 ภายใต้แนวคิด “จุดประกายผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อโลกอัจฉริยะที่ยั่งยืน” จึงถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 21 กันยายน 2567 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อเป็นเวทีให้ตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมแสดงความคิดเห็น จุดประกายไอเดียใหม่ๆ แลกเปลี่ยนแนวคิดและกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ปัญหาและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลกในอนาคต โดยในปีนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ส่งตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มธุรกิจในเครือกว่า 20 คนเข้าร่วมเวทีระดับโลกครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างคนรุ่นใหม่ผู้ตระหนักถึงความสำคัญของ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” แต่ตัวแทนทุกคนจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกและสังคมที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้
เปิดมุมมอง 4 ตัวแทนคนรุ่นใหม่หลังการเข้าร่วมโครงการ One Young World
กัปตัน-นรสิทธิ์ ปานเจริญ จาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น : ในปีนี้ โครงการ One Young World ได้เปิดหัวข้อ ‘ความเท่าเทียมทางสุขภาวะ-Health Equality’ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมเองสนใจมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งผมยังมีประสบการณ์การทำงานกับ ‘MorDee Application (แอปพลิเคชันหมอดี)’ ผมจึงมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มีไปต่อยอดและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนตัวแทนฯ ได้ และการเดินทางไปร่วมโครงการครั้งนี้ได้ทำให้ผมเปิดโลกกว้าง ได้พบเจอผู้นำระดับโลกหลายๆ ท่าน ที่จะทำให้เราได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น อีกทั้งได้ต่อยอดทักษะจำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำอีกด้วยครับ
น้ำ-ณิชชา โตดำรงค์กุญช์ จาก บจก. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส : ประเด็น ‘ปัญญาประดิษฐ์ - Artificial Intelligence’ ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนมากๆ เราจะเห็นได้ว่า AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราในหลายๆ มิติ ในการเดินทางไปร่วมโครงการในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้เห็นมุมมอง แนวคิด รวมถึงแนวทางในการใช้งาน AI ที่กว้างยิ่งขึ้น จากทั้งภาครัฐฯ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อกำกับดูแลการใช้งาน AI หรือแม้แต่ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากความชาญฉลาดของ AI เอง เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่าง AI และมนุษย์ให้เป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่และยังมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ตลอดจนสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจษ-เจษฎาภรณ์ ครองสินภิญโญ จาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น : เมื่อเราพูดถึง ‘สันติภาพของโลก-Peace’ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวครับ เพราะหลายครั้งมันไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าเราครับ การเข้าร่วมโครงการนี้ช่วยเปิดมุมมองให้ผมเห็นว่าความไม่สงบที่อยู่ไกลตัวเราออกไปกว่าซีกโลก ส่งผลกระทบต่อเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานและราคาสินค้าที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่ผู้ลี้ภัยสงครามและความไม่สงบทางการเมืองที่ถูกผลักดันออกนอกประเทศ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากต้นตอที่หยั่งรากลึกลงไปในมิติของสังคมและวัฒนธรรมที่หากผมไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็คงยากที่จะตระหนักรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งครับ
ป๊อบ-วนิดา ถวิลการ จาก บจก. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส : วิกฤต ‘การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ-The Climate and Ecological Crisis’ เป็นเรื่องที่ดิฉันเองไม่สามารถหลีกหนีได้เนื่องจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง การเข้าร่วมโครงการนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำความรู้ที่เรามีไปแลกเปลี่ยนกับตัวแทนจากชาติอื่นได้ และในเวลาเดียวกันก็ได้ความรู้และมุมมองจากตัวแทนผู้นำเยาวชนฯ รวมถึงวิสัยทัศน์จากผู้นำระดับโลกกลับมาปรับใช้ในการทำงานอีกด้วยค่ะ อีกทั้งดิฉันยังเห็นได้ชัดเลยว่าผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้มีเพียงแต่อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น แต่กลับมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ส่งผลให้เกิดความยากจนและวิถีชีวิตที่แย่ลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จะเห็นได้ว่า “การเปลี่ยนแปลง” จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกันในหลากหลายมิติ พลังของเยาวชนจึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการเอาชนะความท้าทายครั้งนี้ การเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย เพราะอะไรประเด็นเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน พวกเขา…
ต้นตอของวาระเร่งด่วน และเข็มทิศสู่โลกที่ดีอย่างยั่งยืน
นรสิทธิ์ ปานเจริญ กล่าวว่า ความไม่เท่าเทียมทางสุขภาวะระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย มีต้นตอที่หยั่งรากลึกลงในมิติของสังคมและวัฒนธรรม สะท้อนถึงค่านิยมและบทบาทที่สังคมกำหนดในอดีต โดยเพศหญิงมักถูกมองว่ามีบทบาทหลักในการดูแลบ้านและครอบครัว ในขณะที่เพศชายมีบทบาทในการทำงานและหาเงิน ส่งผลให้เพศชายมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการเข้าถึงข้อมูลและการดูแลด้านสุขภาพ
แม้ว่าในปัจจุบัน เพศหญิงได้เข้ามามีบทบาทในด้านการทำงานและมีสถานะทางสังคมที่ใกล้เคียงกับเพศชายมากขึ้น แต่การเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพและสิทธิในด้านต่างๆ ยังคงไม่เท่าเทียม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีข้อมูลที่ระบุว่าเพศหญิงได้รับวัคซีนน้อยกว่าเพศชาย แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงก็ตาม
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สังคมจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่กว้างขวางถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การวินิจฉัย และการดูแลสุขภาวะอย่างเท่าเทียมกันทุกเพศ ค่านิยมดั้งเดิมที่มอบบทบาทเฉพาะให้แต่ละเพศควรถูกทบทวนใหม่ โดยการสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของความเท่าเทียมในทุกด้านจะนำไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนอย่างแท้จริง
การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสิทธิด้านสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมให้เห็นถึงความเท่าเทียมกัน จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงการดูแลสุขภาวะได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมครับ
ทางด้าน ณิชชา โตดำรงค์กุญช์ กล่าวถึงหัวข้อ ‘ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI’ ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของ AI ไม่เพียงแต่สร้างประโยชน์ แต่ยังสร้างความวิตกกังวลในหลายมิติ ทั้งในด้านการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ที่อาจไม่เหมาะสม, ความกังวลว่า AI จะเข้ามาแย่งงานและทำให้แรงงานมนุษย์ไม่มีงานทำ ตลอดจนความกังวลว่าการปรับตัวเข้าสู่ยุค AI จะทำให้คนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการถกเถียงและท้าทายสังคมอย่างมากในปัจจุบัน
ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ AI จึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ และยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเทคโนโลยีนี้จะมีอันตรายต่อสังคมหรือไม่ เพราะแท้จริงแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับวิธีการที่มนุษย์ใช้งานเทคโนโลยีนี้นั่นเอง ในมุมมองของการควบคุมและจัดการเทคโนโลยีนั้น ผู้กำหนดนโยบายและภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างข้อกำหนดที่ชัดเจนในการใช้ AI เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ภาคประชาสังคมและประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในทิศทางที่เป็นบวก
บนเวที One Young World ผู้นำจากหลายประเทศเช่น นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ได้แสดงความคิดเห็นต่อการใช้งาน AI ว่าควรดำเนินไปในแนวทางที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์สูงสุด ในอนาคตอันใกล้ AI จะมีบทบาทสำคัญในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งระยะเวลาในการปรับตัวนั้นสั้นมาก ทำให้การสร้างความตระหนักรู้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้สังคมสามารถใช้เทคโนโลยีนี้อย่างชาญฉลาด อีกทั้งเพื่อให้มั่นใจว่า AI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน เจษฎาภรณ์ ครองสินภิญโญ ก็ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่เขาสนใจว่า เรื่องสันติภาพโลกเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในโลกนี้โดยไม่รู้ตัว หลายคนมองว่าเรื่องของสันติภาพ ความไม่สงบหรือสงครามคือการต่อสู้ในสนามรบเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสงครามและความไม่สงบมีผลกระทบที่ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่านั้นมาก เหมือนคลื่นใต้น้ำที่แทรกซึมอยู่ในหลายมิติของสังคม โดยที่เราอาจไม่ทันรู้ตัว
การเข้าร่วมโครงการ One Young World เปิดโอกาสให้ผมได้เห็นว่าประเด็นสันติภาพเป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนมากในเวทีโลก โดยเฉพาะในมิติของการสื่อสาร ในยุคที่การสื่อสารมีบทบาทอย่างมาก ในสถานการณ์ที่การเมืองโลกไม่สงบเช่นนี้ การที่สังคมเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเป็นเสมือนดาบสองคม เพราะแม้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายเพราะบางครั้งข้อมูลถูกแต่งเติมด้วยความคิดเห็นและวาระซ้อนเร้นทางการเมือง ผลที่ตามมาคือการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาด (misinformation) และข่าวปลอม (fake news) ที่อาจบิดเบือนความจริง จนสร้างผลกระทบในเชิงลบที่อาจจะตามมาได้นั่นเองครับ
“การสร้างสันติภาพจึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุของความขัดแย้ง และการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ฟังและเข้าใจกันและกันอย่างจริงใจ อีกทั้งการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและแข็งแรง เพื่อให้เกิดสันติภาพที่อย่างแท้จริง โลกต้องการฐานที่เข้มแข็งและการสนับสนุนจากทุกคนเพื่อร่วมกันสร้างสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนไปด้วยกันครับ” เจษฎาภรณ์ กล่าวเสริม
สำหรับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วนิดา ถวิลการ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชนะให้ได้ หากเราเพิกเฉยกับปัญหานี้ ผลกระทบในอนาคตอาจหนักหนาเกินกว่าที่จะแก้ไขหรือรับมือได้อย่างทันท่วงที การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกภาคส่วนในสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวในหลายมิติ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาพร้อมกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น วิถีชีวิตที่อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม จนก่อให้เกิดแรงต้านจากหลายฝ่าย ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจึงกลายเป็นหัวใจหลักสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ค่ะ
“เป้าหมายครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการมุ่งหวังผลในระยะสั้น แต่ต้องมองให้ไกลไปถึงอนาคต เพื่อให้สังคมและโลกของเราดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในมุมมองของดิฉัน การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตเสมอไป แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน การลดใช้พลาสติก การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดการสิ้นเปลืองในชีวิตประจำวัน ล้วนมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการปลูกฝังให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในการรักษาโลกที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนไว้ให้คนรุ่นต่อไปค่ะ” วนิดา กล่าว
ทักษะสำคัญที่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ต้องมี
“ความเป็น Global Citizen Mindset หรือ การเป็นพลเมืองของโลก จะทำให้ผู้นำในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสามารถเปิดรับและเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ อีกทั้งทักษะนี้จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้กว้างขึ้น ครอบคลุมและยั่งยืนขึ้น ช่วยให้เราสามารถเข้าใจและรับผิดชอบต่อโลกในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการสร้างสังคมที่สันติและยั่งยืนสำหรับทุกคน” เจษฎาภรณ์ ครองสินภิญโญ เผย
“Growth Mindset หรือ ความเชื่อเรื่องการพัฒนาและเติบโตไปข้างหน้า ซึ่งมักจะมีในคนรุ่นใหม่ ทักษะทำให้ผู้นำพร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับความท้าทายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีทัศนคติที่ดีในการแก้ปัญหาและการเรียนรู้จากความผิดพลาด ซึ่งเชื่อว่านี่เป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ” วนิดา ถวิลการ แสดงความเห็น
“ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง จะเป็นทักษะที่จะพาเราไปสู่ที่ที่ดีขึ้นครับ ทักษะนี้จะพาเราไปเจอสิ่งใหม่ พาเราไปพบเจอกับวิธีการทำงานใหม่ ซึ่งผลที่ตามมาคือผลลัพธ์ที่ดีกว่า อีกทั้งความกล้าจะทำให้เรารับมือกับปัญหาและความท้าทายได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทักษะนี้จะพาเราไปสู่การพัฒนาและการเติบโตอย่างยั่งยืนครับ” นรสิทธิ์ ปานเจริญ
“ความยืดหยุ่น คือทักษะที่สำคัญมากในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดอย่างรวดเร็ว เพราะผู้นำที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว ไม่ยึดติดกับวิธีการเก่า ๆ แต่พร้อมที่จะลองแนวทางใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งความยืดหยุ่นช่วยให้ผู้นำสามารถสื่อสารกับทุกส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่ทุกอย่างไม่แน่นอนและพลวัตสูง” ณิชชา โตดำรงค์กุญช์ ทิ้งท้าย
การพัฒนาทุนมนุษย์คือการลงทุนที่ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ในยุคที่โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายอย่างต่อเนื่อง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี และบริษัทในเครือ ยังคงยึดมั่นในการพัฒนา “ทุนมนุษย์” เป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมภาวะผู้นำในคนรุ่นใหม่ เพราะเราเชื่อว่าอนาคตที่ยั่งยืนขององค์กรขึ้นอยู่กับศักยภาพของทรัพยากรบุคคลที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า การสนับสนุนผู้นำรุ่นใหม่จากเครือซีพีในการเข้าร่วม One Young World Summit 2024 ไม่ใช่แค่การลงทุนในบุคคล แต่เป็นการสร้างพลังก้าวสำคัญในการพัฒนาสังคมและโลกทั้งใบให้ดีขึ้นในระยะยาวด้วยวิสัยทัศน์และพลังความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เชื่อว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนาคตที่สดใสกว่าเดิมสำหรับทุกคน