คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย เผยวิสัยทัศน์ถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ท่ามกลางโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในงานเสวนา “Thairath Afternoon Gala Empowering through Education”
Thairath Afternoon Gala Empowering through Education ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 งานเสวนาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เรื่อง “การศึกษา” หนึ่งในระบบที่เป็นบันไดสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิดนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ โดยงานได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิของไทยรัฐ กรุ๊ป ได้แก่ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณธนาคารกสิกรไทย, คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์
ทั้ง 3 ท่านจะมาขึ้นเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะ ความคิดเห็น แนวทาง และทิศทางการเติบโตเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการศึกษาไทยในโลกที่ผลัดเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของปัจจุบันอย่างไรให้ยั่งยืน
คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาของเวทีนี้ ได้เผยวิสัยทัศน์และแนวคิดถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ท่ามกลางโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในงานเสวนา Thairath Afternoon Gala Empowering through Education โดยเริ่มเล่าถึงประสบการณ์จากสมัยวัยเรียนของตนเองไว้ว่า
“พื้นเพของผมในสมัยเด็ก โชคดีที่มีคุณพ่อคอยส่งเรียนไปตามที่ต่างๆ ถ้าในยุคนั้นปัญหาของผม คงจะเป็นเรื่องที่ต้อง ‘ถูกบังคับให้เรียนในสายการเรียนที่เราไม่ได้สนใจ’ ตามยุคเวลาของสมัยนั้น แต่คิดว่าสมัยนี้คงเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่อดห่วงไม่ได้คือ ปัจจุบันการศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำที่มาก แค่จะหาที่เรียนต่อในการศึกษาระดับต่างๆ ก็เป็นเรื่องยากแล้ว”
“จึงมองว่าหากใครมีโอกาสที่จะได้เรียนแล้ว อยากให้เด็กๆ ในยุคสมัยใหม่ 'มองโอกาสนี้เป็นเรื่องสำคัญ' ที่ต้องคว้าไว้เพราะเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะเปิดทางสร้างตัวเอง และการสร้างชาติของเรา” ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
มองอนาคตการศึกษาของลูก-หลาน ในการเรียนยุคต่อไปอย่างไร
สิ่งแรกที่อยู่ในใจใครหลายคน เชื่อว่าคงตั้งคำถามในใจตนเองเสมอว่าหากมีกำลังทรัพย์เพียงพอ ควรส่งลูก-หลานไปเรียนต่างประเทศจะดีกว่าในประเทศไทยหรือไม่?
คุณบัณฑูร ล่ำซำ มองเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่อยากให้มองว่าการเรียนในประเทศหรือต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เหรียญมีสองด้านเสมอ สำหรับคนที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอก็จะตั้งคำถามว่า ‘แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปเรียนเมืองนอก’ ส่วนคนที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ‘จะมองว่าทำไมต้องปิดช่องทางตัวเองไม่ให้ไปเรียนรู้ เติมประสบการณ์ที่ต่างประเทศ’”
“ดังนั้นเรื่องนี้ก็แล้วแต่โอกาสที่สอดคล้องอย่างเหมาะสม กับความสามารถและความสนใจของตนเอง” คำตอบจากคุณบัณฑูร ล่ำซำ
“อย่างไรก็ตามถ้าจะมองถึงอนาคตของลูกหลานในประเทศไทย อยากให้มองในเรื่องของ 'คุณภาพและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา' มากกว่า อย่างไทยรัฐได้ทำ ซึ่งก็มีมูลนิธิที่สนับสนุนคนรากหญ้าให้มีโอกาสได้สัมผัส ลืมตาอ้าปาก ลดความเหลื่อมล้ำ และเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม” คุณบัณฑูร ล่ำซำ เล่าต่อถึงสิ่งที่สำคัญกว่า
“จนทรัพย์ยังไม่วาย แต่จงอย่าจนใจ”
ปัญหาโจทย์ใหญ่รากลึกที่ต้องคำนึงถึงใน “การปฏิรูปการศึกษา” เพราะแน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่ชัดเจนที่สุดในประเทศไทยคือ ‘โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา’ โดยเฉพาะตามชนบทและในพื้นที่ห่างไกล ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก สิ่งนี้คือสิ่งที่ทุกคนต่างนึกถึงถ้าจะต้องปฏิรูปการศึกษา พอเข้าถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวอย่างออกรสออกชาติในการพูดคุยเรื่องนี้ และเล่าต่อในอีกมุมมองหนึ่งว่า
“นอกจากการเข้าถึงการเรียนได้ยากแล้ว ‘คุณภาพชีวิตก็มีส่วนไม่น้อย’ ตัวอย่างเช่น ปัจจัยตามสภาพชีวิตในเรื่องของการเงิน สุขภาพ ครอบครัว ทั้งหมดมีผลอย่างมาก ต่อให้การศึกษาเข้าถึงแค่ไหน หากคุณภาพชีวิตไม่ขยับตาม ก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่หายต่อไป”
“เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มีผลแค่ตัวนักเรียนเพียงอย่างเดียว ‘ครู’ เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพเช่นกัน เพราะหากคุณภาพชีวิตของครูที่อยู่ในพื้นที่ หรือครูที่เข้าไปช่วยเหลือนั้นไม่ดีตาม แรงใจ ความฝัน ความตั้งใจที่จะทำงานก็ไม่มีตามไปด้วย คุณภาพต่างๆ ก็จะลดลง”
“จนทรัพย์ยังไม่วาย แต่หากจนใจแล้วนี่สิอันตรายที่สุด” นี่คือคำกล่าวของคุณบัณฑูร ล่ำซำ ที่กล่าวได้อย่างน่าสนใจ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็ก ๆ และคุณครู กลายเป็นคนไม่มีแรง ไม่มีความฝัน ใช้ชีวิตเพียงแค่ประคองตัวเองให้อยู่รอดเท่านั้น และจะหาคุณภาพจากการศึกษาได้อย่างไร
ทั้งหมดคือ โจทย์ใหญ่ที่ทางภาครัฐบาล และภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยเหลือ และต้องไม่มองข้าม เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้นการพัฒนาต้องมีการเข้าถึงการศึกษา และคุณภาพชีวิตไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเพิ่มมิติในการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต และคุณภาพขั้นสูงสุด