• Future Perfect
  • Articles
  • ศุภชัย เจียรวนนท์: คอมพิวเตอร์สีขาวและ AI กุญแจดอกสำคัญไขประเทศไทยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ศุภชัย เจียรวนนท์: คอมพิวเตอร์สีขาวและ AI กุญแจดอกสำคัญไขประเทศไทยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

Sustainability

ความยั่งยืน18 ต.ค. 2567 17:11 น.

ที่งาน Thairath Afternoon Gala 2024: Empowering Through Education คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา โดยเฉพาะยุคที่การศึกษาอยู่ภายใต้ความร้อนแรงของเทคโนโลยี AI รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

คุณศุภชัยเริ่มต้นที่การเสนอว่า ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาของไทย หรือเกือบทั้งโลก เคยอยู่ในยุคเศรษฐกิจ 2.0 โดยที่ด้านหนึ่งถูกสร้างให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ และอีกด้านเน้นคนทำงานในอุตสาหกรรม เป็นแรงงาน หรือทำงานในโรงงาน

“การศึกษายุค 2.0 ในยุคผมพูดได้ว่าเป็นยุคที่สอนให้คนเป็นหุ่นยนต์ ปฏิบัติตามหน้าที่ ตามคำสั่ง ตามคู่มือ เพราะฉะนั้นเราจะถนัดว่าถ้ามอบหมายการบ้านทำเสร็จแน่ แต่เราริเริ่มไม่เก่ง อาศัยการสอบผ่าน คิดว่าจบปริญญาก็ถือเป็นการประสบความสำเร็จ”

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาร่วมงาน Thairath Afternoon Gala 2024: Empowering Through Education
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาร่วมงาน Thairath Afternoon Gala 2024: Empowering Through Education

คุณศุภชัย กล่าวต่อไปว่า แต่ยุคนี้เปลี่ยนไป เป็นยุคเกินกว่ายุค 4.0 ไปแล้ว เราอยู่ในยุค AI และความยั่งยืน ดังนั้นองค์ความรู้เดิมที่คุณครูเป็นเซนเตอร์จึงเปลี่ยนไป การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต, Computing Technology และ AI กลายเป็นศูนย์กลางความรู้ การเรียนจะแปรเปลี่ยนเป็นการเรียนตามความสนใจ ตามความชอบ ตามความตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้ การเรียนเชิงการปฏิบัติ และการทำงานเป็นทีม ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นระบบการเรียนใหม่ เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“แตกต่างจากยุคของผมซึ่งเรียนรู้แบบสอบเสร็จจบปิดเทอม ส่งรายงานเสร็จจบ เราจะมองปัญหาเป็นภาระ แต่ยุคใหม่มองปัญหาเป็นความท้าทาย เป็นความน่าสนใจ น่าสนุก การหาทางออก หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นเหมือนอาหาร 3 มื้อ นี่ควรเป็นรูปแบบของการศึกษายุคใหม่”

การศึกษาไทยต้องมี Learning Center

 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

เมื่อถามถึงเรื่องการศึกษา คุณศุภชัยบอกว่า ลูกๆ ทั้ง 3 คน ผ่านการเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ฯ จากนั้นก็ไปเรียนต่อไฮสคูลที่เมืองนอก ยกเว้นลูกสาวซึ่งเรียนจบไฮสคูลที่เมืองไทย จึงไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

ในมุมมองของคุณศุภชัยคิดเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่ล้วนอยากให้ลูกได้มีโลกทัศน์ที่กว้าง ได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม อยากให้ Globalization ซึ่งเป็นโลกยุค 3.0 ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ไร้ขอบเขต ที่เหลือขึ้นอยู่กับ Affordability ศักยภาพของครอบครัวว่าจะไปเรียนถึงต่างประเทศได้หรือไม่

พร้อมกันนี้ การให้ลูกหลานไปเรียนที่ต่างประเทศ ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญก็คือ เป็นการทำให้เด็กๆ ได้ออกจาก Comfort Zone เพราะถ้าอยู่กับพ่อ-แม่ก็ไม่มีโอกาสให้ลำบาก ไม่ได้อยู่ในจุดที่ไม่มีคนช่วยเหลือ ซึ่งการได้ออกจาก Comfort Zone คือการได้ช่วยเหลือตัวเอง

อย่างไรก็ตาม คุณศุภชัยชี้ว่า อันที่จริงไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนต่างประเทศก็ได้ ถ้าหากประเทศไทยเป็นฮับการศึกษาในระดับสากลได้สำเร็จ

“ตอนนี้ก็ค่อยๆ เป็นแล้ว ดูได้จาก International School กำลังขยายตัว และ Disrupt ระบบการศึกษาของโรงเรียนไทยด้วย จนเกิดการปรับตัว อันนี้เป็นวิวัฒนาการ” คุณศุภชัยกล่าวต่อไปว่า “ที่สำคัญแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา ผมคิดว่าถ้าสามารถสร้างกรุงเทพฯ เป็น Innovation Cluster เหมือนบอสตัน หรือลอนดอน ผ่านการทำให้มหาวิทยาลัยเป็น Innovation Hub เข้าสู่การค้นคว้า การวิจัย มีภาครัฐ และภาคเอกชนช่วยสนับสนุนจนกลายเป็น Innovation Cluster ถ้าทำได้จะดึงให้ระบบการศึกษาไทยกลายเป็นศูนย์กลาง ทำให้คนที่อยู่ต่างประเทศอยากมาเรียนที่บ้านเรา และเราก็เรียนในบ้านเราได้”

คุณศุภชัยเน้นย้ำเพิ่มเติมว่า ในยุค AI และยุคที่เกือบทุกคนมีคอมพิวเตอร์ โลกแทบจะกลายเป็นหนึ่งเดียว ระบบการศึกษาในแต่ละประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอาจไม่ต่างกันมาก สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ บทบาทของครู และการเพิ่มเติมสิ่งที่เรียกว่า Learning Center

“ถ้าเราไปต่างประเทศพิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด เยอะมาก แต่บ้านเราองค์ประกอบการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ในเชิงการสร้างแรงบันดาลใจมีน้อย นี่คือส่วนที่ต้องเสริม จากนั้นประเทศไทยจะกลายเป็นที่ที่คนอยากมาเรียนหนังสือ”

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

คอมพิวเตอร์สีขาว และ AI กุญแจทางออกลดความเหลื่อมล้ำ
คอมพิวเตอร์สีขาว และ AI กุญแจทางออกลดความเหลื่อมล้ำ

ในส่วนนี้ คุณศุภชัย ระบุว่า มีด้วยกัน 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน 3. การเข้าถึง Computing Technology รวมถึง AI และ 4. การเข้าถึงระบบประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ซึ่งทุกคนควรมีเสมอภาค

“แน่นอนว่าการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จะสอดคล้องกับ การเข้าถึง Computing Technology”

คุณศุภชัยบอกว่า ลองจินตนาการให้เด็กทุกคนตั้งแต่ป.1 มีโน้ตบุ๊กที่เป็นคอมพิวเตอร์สีขาว มี AI คัดกรองของเสีย เข้าถึงองค์ความรู้ ทำโปรเจกต์ การเรียนภาษาอังกฤษ เข้าถึงศิลปะ ดนตรี ทุกอย่าง ถ้าเข้าถึงได้จะเกิดความเสมอภาค โลกทัศน์จะไม่ห่าง เขาจะมีเพื่อนที่เสมอเหมือนทั้งในโรงเรียน และออนไลน์ ระบบของสังคมจะเปลี่ยน

คุณศุภชัย กล่าวว่า การสร้างความเท่าเทียมเป็นวัฒนธรรม ผู้ปกครองและสังคมให้ความสำคัญกับการศึกษาแค่ไหน ดังนั้นผู้ที่จะหล่อหลอมให้ระบบสังคมและวัฒนธรรม และการให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างถูกวิธีก็คือ สื่อ

“80% ของประชากรไทยดูละครช่วง Prime Time 2 - 5 ทุ่ม แต่ละครช่วง Prime Time ให้ความสำคัญกับการศึกษาหรือไม่ ถ้าให้คุณค่าในเชิงการดำเนินชีวิต การใช้เหตุใช้ผล วิชาชีพต่างๆ และการ Apply ความรู้ เราปรับกรอบความคิดเชิงวัฒนธรรมได้” คุณศุภชัยเสนอแล้วกล่าวต่อไปว่า “สมมติปีหนึ่งลงทุนทำละคร 24 เรื่อง ใช้เงินเรื่องละ 50 ล้านบาท คิดเป็น 1,200 ล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถปรับโครงสร้าง (Shape) วัฒนธรรมของประเทศไทย เน้นคุณค่า และการศึกษาได้ ก็จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางกรอบความคิดได้ นี่คือเรื่องของทุกคนและสื่อก็มีบทบาทอย่างมาก” 

การรับมือกับ AI

แน่นอนว่าเทคโนโลยีมีดาบสองคมเสมอ ดังนั้นสิ่งที่คุณศุภชัยเสนอก็คือ คนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้องไม่ดูแค่เรื่องอาหารว่ามีความสะอาดหรือไม่ มีโภชนาการที่ดีอย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่พอ คุณพ่อคุณแม่ต้องดูเรื่องของอาหารทางสมองด้วย แต่ต้องดูว่าลูกบริโภคอะไรใน 24 ชั่วโมง 

เป็นความจริงอยู่ว่าสถาบันการศึกษาช่วยมอนิเตอร์ได้ดี แต่เมื่อกลับถึงบ้านแล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องมอนิเตอร์ เพื่อไม่ให้กินของเสียเยอะเกินไป 

“AI ก็เช่นกัน จะมี AI ส่วนตัว ซึ่ง AI ส่วนตัวจะทำให้เด็กติด (Addict) มากๆ แต่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องตั้งเวลาการใช้งาน ตลอดจนระบบสังคมอาจต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลว่าการใช้งาน AI ควรใช้ในมิติไหน” 

วางอนาคตเพื่อการศึกษา

บรรยากาศบนเวที Thairath Afternoon Gala 2024: Empowering Through Education
บรรยากาศบนเวที Thairath Afternoon Gala 2024: Empowering Through Education

คุณศุภชัยเชื่อว่า การปฏิรูป หรือ การ Transformation ต้องทำพร้อมๆ กัน โดยมีข้อย่อยแบ่งออกเป็น 5 เรื่อง ได้แก่ 1. เป้าหมายและตัวชี้วัด ซึ่งต้องโปร่งใส พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน เข้าถึงการประเมินศักยภาพในโรงเรียนในพื้นที่ของตัวเอง พร้อมกับสังคมโดยรวม ซึ่งบางชุมชนอาจไม่มีกำลัง เมื่อเกิดการเข้าถึงข้อมูลแล้ว การขับเคลื่อนทุนเข้าไปช่วยก็จะเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากทุนของรัฐ เพราะการศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน

2. กลไกตลาด ตราบใดที่ระบบสังคมยังไม่พร้อมจะให้ความสำคัญว่าการศึกษา ความพร้อมของอุปกรณ์ โรงเรียน ความพร้อมของที่บ้าน และความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองกับคุณครู ต้องมีปฏิสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่สำคัญคือครูใหญ่ เนื่องจากเปรียบเสมือนครอบครัวที่สองของเด็ก เพราะไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะพร้อม และต้องการแรงสนับสนุน

3. บุคลากร จากงานวิจัยพบว่า คุณครูใหญ่ที่อยู่ในวัย 20 ปลายๆ จนถึง 30 ต้นๆ เขาจะมีแรงทุ่มเทสุดชีวิตให้กับการศึกษา เขาจะมีความ Engage กับเด็กและโรงเรียนแบบสุดๆ ถึงขั้นเคาะประตูทุกบ้านเพื่อคุยกับคุณพ่อคุณแม่ของเด็ก ต่อมาก็คือ เงินเดือนของครูจะต้องเท่าๆ กับอาชีพหมอ กลไกนี้ถ้าเกิดขึ้นได้ บุคคลที่มีศักยภาพจะวิ่งเข้าสู่ระบบการศึกษา

4. ต้องเปลี่ยนจาก Teacher Centric ไปเป็น Child Centric โดยการเปลี่ยน KPI ของครู เปลี่ยนบทบาท เปลี่ยนการชี้วัด มาเป็นการ Facilitate ให้ความมั่นคง ความมั่นใจให้กับเด็ก และมองเห็นถึงความสนใจของเด็กทุกคน ผ่านโครงการ หรือ Action Based Learning 

“ในชีวิตของผมการศึกษาที่ผมจำได้แม่น ไม่ใช่วิชาที่ได้ A+ แต่เป็นการจัดงาน Fair ของโรงเรียน ตอนนั้นผมอายุ 8 ขวบเรียนอยู่ไต้หวัน คุณพ่อคุณแม่ผมอยู่เมืองไทย ครอบครัวคนอื่นๆ พาลูกมาขายของ ผมก็ขายของริมทาง แต่ไม่มีใครเลย ขณะที่กำลังท้อแท้ ก็มีฝรั่งมาชมรูปบักส์ บันนี และมิกกี้ เมาส์ว่าสวยมาก ทำไมวาดได้สวยขนาดนี้ ขอซื้อได้หรือไม่ ในราคา 10 เซนต์ นั่นจึงทำให้จิตใจเบิกบาน จนถึงทุกวันนี้เชื่อหรือไม่ครับว่า ผมยังคิดว่าตัวผมยังวาดรูปเก่งมากๆ” 

คุณศุภชัย ย้ำว่าความประทับใจเหล่านี้ หรือสิ่งที่โรงเรียนให้เรา ไม่ใช่คุณสอบได้ที่เท่าไหร่ แต่เป็นความมั่นใจ และแรงบันดาลใจ ที่บุคลากรในโรงเรียนโดยเฉพาะคุณครูมาเติมเต็มสิ่งที่เด็กขาดแคลน

และสุดท้ายก็คือข้อที่ 5. การ Apply เทคโนโลยี

“ลองจินตนาการอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าเด็กๆ มีคอมพิวเตอร์สีขาว มี AI มาช่วย ไม่ว่าเด็กบนดอย หรือเด็กกรุงเทพฯ ศักยภาพจะไม่ต่างกันมาก ที่เหลือเป็นเรื่องของศูนย์การเรียนรู้เพียงพอหรือไม่” คุณศุภชัยกล่าวปิดท้าย