การศึกษาก็เหมือนกับการพัฒนาสังคม ให้เกิดความมั่นคง ความยั่งยืน ตลอดจนไปถึงความมั่งคั่ง นั่นหมายความว่าถ้าเราอยากเห็นอนาคตที่ดี มีความเจริญ มีความสงบสุขในเวลาเดียวกัน การบ่มเพาะเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไปก็จะเป็นผู้กำหนดอนาคตใหม่ของประเทศหรือของโลก เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาไม่ได้เป็นเพียงแค่การสอนหลักวิชาการ แต่จริงๆ แล้วโรงเรียนก็เหมือนกับการย่อเอาระบบสังคมเข้ามา สอนเรื่องคุณค่า สอนเรื่องความรู้ในการนำไปใช้ชีวิต และให้เกิดชีวิตที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้น
นี่คือนิยามด้านการศึกษาของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งสะท้อนมุมมองถึงด้านการศึกษาที่ไม่ได้เป็นแค่การสอนด้านวิชาการ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม และการใช้ชีวิตไปในตัว
สังคมทั้งหมดที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้คือการเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Digitalization หรือการเข้าสู่สังคมที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลเช่นกัน รวมถึงการมาของ AI หรือ Artificial Intelligence
“เพราะฉะนั้นคำว่า Smart School ก็ดี การให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องของ AI เรื่องของ Computing Technology และเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ‘ควรเป็นเรื่องพื้นฐานใหม่’ ที่จะทำให้เด็กมีความพร้อมในยุคที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ ผสมผสานเพื่อทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น”
สิ่งหนึ่งที่คุณศุภชัยเน้นย้ำเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ นั่นคืออีกด้านหนึ่งของคมดาบของเทคโนโลยี
“เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ มีความรู้ มีความเข้าใจแล้วจำเป็นต้องควบคู่ไปกับหลักของคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมกับเทคโนโลยีมันจะผสมผสานได้อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนการสอนในยุคที่เราเรียกว่า Action Based หรือ Apply Based Learning เป็นการเรียนไปปฏิบัติไป โดยเฉพาะการเรียนต้องเป็นการเรียนเชิง Apply ในแง่การแก้ปัญหา หรือการค้นคว้าสิ่งใหม่ที่จะทำให้มนุษยชาติดีขึ้น เช่น ด้านความยั่งยืนซึ่งมีทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การทำให้มนุษยชาติดีขึ้น”
คุณศุภชัยอธิบายเสริมว่า เราอาจจะเรียกวิธีการนี้ว่า Child Centric ก็ได้ หรือเรียกว่าการเรียนตามความสนใจ แล้วก็ทำงานกันร่วมกันเป็นทีม ความสำเร็จจะไม่ได้เกิดขึ้นจากคนคนเดียว สอบผ่านคนเดียว ส่งรายงานคนเดียว แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นจากโปรเจกต์ที่ทำร่วมกันและสำเร็จร่วมกัน ซึ่งไปแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาของส่วนรวม และเป็นการพัฒนาเชิงคุณธรรมจริยธรรมไปด้วย เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม
ในเวลาเดียวกัน ในยุคของ AI ทุกอย่างมันเคลื่อนไหวเร็วมาก จากยุคของการส่งข้อความด้วยจดหมาย มาเป็นการสื่อสารผ่านวิดีโอ ทุกคนมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
“แต่ความรู้สึกว่ามีความสุขหรือความรู้สึกพึงพอใจ ในแต่ละบุคคลกลับกลายเป็นว่ามันอาจจะน้อยลง คนรุ่นเก่าอาจจะมีความอดทนมาก เพราะหลายๆ อย่างมันไม่เป็นไปตามใจ คนรุ่นใหม่ก็ความอดทนอาจจะน้อยลง แต่ความสะดวกสบายหลายอย่างสูงขึ้น” คุณศุภชัยกล่าวต่อไปว่า “ดังนั้นการฝึกฝนในเรื่องของการทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุขก็เป็นเรื่องที่ต้องควบคู่ไปกับคุณธรรม เพราะว่าคุณธรรมเกิดขึ้นได้จากการที่ตัวเรามีความสุข และอยากจะแบ่งความสุขนี้ให้กับคนอื่น เพราะฉะนั้นการฝึกหรือว่าในโลกยุคปัจจุบันหลายๆ การศึกษาทั่วโลก แม้กระทั่งในบริษัทที่เราเรียกว่า Mindfulness เหล่านี้ควรอยู่ในระบบการศึกษาของเราควบคู่ไปกับวิทยาการ”
คอมพิวเตอร์สีขาว สู่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
ในยุคของ Digitalization มาผสานเข้ากับโลกที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในมุมมองจากความคิดของคุณศุภชัยก็คือการต้องมีแพลตฟอร์มสักแพลตฟอร์มหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ เข้าสู่องค์ความรู้ แล้วนำความรู้มาแก้ไขปัญหาของส่วนรวม พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนความสนใจ
“ถ้าลองจินตนาการว่าเด็กทุกคนมีคอมพิวเตอร์ ซึ่งผมอยากจะใช้คำว่า ‘คอมพิวเตอร์สีขาว’ เพราะว่าบนอินเทอร์เน็ตมันก็มีทั้งของดีและของเสีย โดยในกรณีของคอมพิวเตอร์สีขาวนี่หมายความว่าต้องมี Filtering Software หรือมีซอฟต์แวร์ในการคัดกรองของเสีย ถ้าเด็กมีคอมพิวเตอร์สีขาวกันทุกคน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา หรือแม้กระทั่งเล็กกว่านั้น ผมคิดว่าการใช้เทคโนโลยี การเข้าถึงองค์ความรู้จะกลายเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับเด็ก”
ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ อธิบายเสริมว่า เด็กรุ่นใหม่ควรจะมีคอมพิวเตอร์ และควรมีผู้ช่วยที่เรียกว่า AI
“สมมติว่าเราให้เขาได้ เขาจะประยุกต์ใช้อย่างไร ซึ่งจะกลับไปที่กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าเราควรจะต้องเอามาใช้ในการแก้ปัญหาส่วนรวม หรือทำให้ส่วนรวมดีขึ้นได้อย่างไร เกิดความสงบสุขขึ้นได้อย่างไร” คุณศุภชัยเน้นย้ำว่า “อันนี้น่าจะเป็นการขับเคลื่อนที่เอาวิชาการ เอาความรู้ เอาเทคโนโลยี เพื่อวัตถุประสงค์ที่ดีที่จะช่วยให้เกิดทั้งชีวิตส่วนตัวที่ดีขึ้น ครอบครัว โรงเรียน ไปจนถึงหมู่บ้าน และสังคม ขยายออกไปเรื่อยๆ”
เมื่อพูดถึงคำว่าแพลตฟอร์ม คุณศุภชัยนิยามว่า แพลตฟอร์มนี้อาจเรียกในลักษณะของ Learning Center ก็ได้ โดยโรงเรียนควรมีสิ่งนี้ เพื่อให้เด็กได้เรียนตามความสนใจ พร้อมกับวางเป้าหมายไปที่การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งอาจเรียกมันว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ก็ได้
“ถ้าในสมัยผมเรียกว่า พิพิธภัณฑ์ แต่เพิ่มความเป็น Virtual หรือ Immersive เข้าไป ก็ได้เป็นเชิงประสบการณ์ที่กลมกลืน เพราะฉะนั้น Learning Center หรือศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ควรจะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าทุกโรงเรียน แล้วก็เชื่อมโยงกับภาครัฐภาคเอกชน ซึ่งภาคเอกชนเป็น Learning Center เฉพาะทางอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่เคยจัดเรียงให้เป็นหลักสูตร”
คุณศุภชัยเน้นย้ำอีกครั้งว่า การเรียนในสิ่งที่เด็กสนใจ จะทำให้เขารู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร และศึกษาค้นคว้าด้วยเหตุผลใด
“ผมคิดว่าถ้าเกิดขึ้นได้ เราก็จะมีแล็บขนาดใหญ่ ไม่ใช่แล็บเฉพาะในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสิ่งที่เด็กสนใจแล้วเขามีที่ มีแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการค้นคว้าเชิงวิจัย ต่อไปผมคิดว่าเด็กทุกคนต่อไปก็จะกลายเป็นนักค้นคว้า ถามว่าค้นคว้าเพื่ออะไร ค้นคว้าเพื่อให้มนุษยชาติดีขึ้น ค้นคว้าเพื่อให้โลกที่เราอยู่กันอย่างยั่งยืนมากขึ้น”
ความเป็นผู้นำไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม
เมื่อถามว่าจากประสบการณ์ทั้งหมด ถ้าหากคุณศุภชัยสามารถพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นของหลักสูตรนั้นจะเป็นอย่างไร “คงมีด้วยกัน 2 หลักสูตร ด้านหนึ่งคงเป็นด้านของวิทยาการ ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มี Food Tech หรือ Biotech และมีแล็บพัฒนาอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ จนกระทั่งถึงอาหารมนุษย์ เรื่องของ Nutrition ต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยี Quantum Computing เราก็มีการค้นคว้าการพัฒนาจริง แต่เรายังไม่เคยเปิด ซึ่งถ้าเราเปิดออกเป็นหลักสูตร แล้วเชื่อมโยงกับแต่ละอายุของเด็ก พร้อมกับเรียนรู้จากผู้ที่ปฏิบัติจริงสำเร็จจริง ล้มเหลวจริง ตลอดจน Expert ที่เรามีทั่วโลก ก็เป็นเรื่องที่เราก็ควรจะต้องมีการพัฒนา แล้วก็ควรจะเปิดกว้างออกไป”
ต่อมาหลักสูตรที่สองของคุณศุภชัย เป็นสิ่งที่เรียกว่า Entrepreneurship หรือ Leadership เพื่อให้เกิดความเป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้บุกเบิก โดยที่พื้นฐานยังคงยืนอยู่บนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม
“การปราศจากคุณธรรมจริยธรรมก็จะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ พื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรมที่ดี เริ่มต้นง่ายๆ ที่ความกตัญญู หรือว่าความรู้สึกของการได้รับ ความรู้สึกของการได้ให้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ”
คุณศุภชัยมองว่า การที่จะไปถึงความเป็น Entrepreneurship สิ่งที่ต้องรับมือก็คือ การบริหารความเสี่ยงในทุกๆ วัน โดยที่ไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่ปลอดภัยอย่าง Comfort Zone
“เหมือนกับที่เราบอกว่าให้เด็กเรียนรู้ตามความสนใจนั่นแหละ ให้สามารถที่จะเรียนผิดเรียนถูกได้ทุกวัน แต่ก็ยังบริหารความเสี่ยงได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ยังคงเป็น Entrepreneurship ว่าจะทำยังไงให้ทุกคนเป็น Explorer เป็นผู้ที่พยายามทำในสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมตลอดเวลา นี่คือ Entrepreneurship”
นี่คือ 2 หลักสูตรที่อยากจะสร้างแล้วเปิดออกไปให้กลายเป็นแพลตฟอร์ม เป็นศูนย์การเรียนรู้ได้ จากแนวคิดของคุณศุภชัย
สิ่งสุดท้ายจากการพูดคุยกับคุณศุภชัย นั่นคือตอนนี้ในปี 2024 เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของทศวรรษนี้ อะไรคือทักษะที่จำเป็นด้านการศึกษา สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของทศวรรษนี้
ทักษะแรกๆ ที่คุณศุภชัยเสนอก็คือ เรื่องของ AI เรื่องของคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี เรื่องของโปรแกรมมิง ถ้าทำได้ก็คือบรรจุเป็นหลักสูตรพื้นฐาน เรียนกันตั้งแต่ป.1 ซึ่งคอมพิวเตอร์ก็เป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่ง ลักษณะเดียวกับเครื่องคิดเลข เป็นเครื่องมือที่เด็กควรจะมี
“ถ้าเราบอกว่าทำอย่างไรที่เราลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้เกิดความเสมอภาค ต้องกลับมาที่เรื่องการศึกษา และต้องกลับมาที่ทุกคนจะมีเครื่องมือที่เท่าเทียมกัน นั่นก็คือ กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” คุณศุภชัยกล่าวเสริมว่า “ถ้าเกิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างแพร่หลาย สิ่งที่ตามมาก็คือบทบาทของคุณครูจะเปลี่ยนจากความเป็นศูนย์กลาง มาเป็น Facilitator เป็นโค้ช ก็คือดูเด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นโปรเจกต์ แล้วเขาสามารถสร้างความมั่นใจ และหาที่ยืนให้เด็กทุกคนในทีม ในห้องเรียนได้”
คุณศุภชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า บทบาทของครูจะเปลี่ยนไป ตัวชี้วัดของคุณครูก็เปลี่ยนเช่นกัน เพราะว่า Center หรือศูนย์กลางของความรู้ไปอยู่ที่เด็ก ที่คอมพิวเตอร์ ที่อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งคุณศุภชัยชี้และเน้นย้ำว่า อยู่ที่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มของการเรียนรู้อย่าง Learning Center ของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงในโรงเรียนเอง เพราะฉะนั้นคุณครูไม่ได้เป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้อีกต่อไป คุณครูจะกลายเป็นโค้ชที่คอยดูว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้เด็กมีบทบาท มีความมั่นใจ
“เอาจริงๆ ถ้าเราจะทำลายเด็กได้ง่ายนิดเดียว 1. ทำอะไรก็ผิดหมดคือ ไม่ให้ความมั่นใจ 2. ไม่ให้ความรักความมั่นคง ทำสองอย่างนี้ทำลายทั้งชีวิตเลยนะ” คุณศุภชัยกล่าวต่อไปว่า “แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจะสร้างเด็กนี่คือ บทบาทของคุณครู และคุณพ่อ คุณแม่ต่อไป ก็คือความรัก ความมั่นคง แต่ต้องไม่สปอยล์เด็กนะ ไม่ใช่ว่าอะไรก็ดี อะไรก็ถูก บนเหตุบนผล ‘แต่ต้องหาจุดเด่น จุดสนใจของเขา จุดที่เขาตื่นเต้นให้ได้’ จุดที่เขาสนใจว่าอันนี้เขาทำได้ดี ต้องไปดึงศักยภาพตรงนี้ออกมา”
ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องทำให้เด็กมีความมั่นคง (Security) ในชีวิต มีความรัก เพราะฉะนั้นคุณครู ครูใหญ่ ซึ่งเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คนที่สอง จะต้องดูเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ดูเรื่องความมั่นใจของเด็ก ดูเรื่องของตรรกะ (Logic) การคิดของเด็ก จนกระทั่งไปถึงเรื่องของการที่จะช่วยโค้ชให้เขามีจุดยืน ให้มีความมั่นใจทั้งในระดับสังคม ระดับห้องเรียน ระดับโปรเจกต์ แล้วก็ในครอบครัว
“โรงเรียนจะเหมือนกับบ้านหลังที่สอง เพราะไม่ว่าจะครอบครัวจริงๆ เขาอาจจะมีปัญหา อย่างไรก็ตามเขามีโรงเรียนเป็นที่พึ่ง และโรงเรียนก็ช่วยเหลือครอบครัวเขาอีกทีหนึ่ง อันนี้เป็นบทบาทที่แยกกันไม่ออกระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว”