"การได้เรียนหนังสือ คือโอกาสที่ได้รับจากไทยรัฐวิทยา" คุยเปิดใจกับ 'ดร.ประหยัด นันทศีล' ศิษย์เก่าไทยรัฐวิทยา 6 (ฉบับราษฎร์อุปถัมภ์) เผย โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการหล่อหลอมความสำเร็จในชีวิต
.........
"ผมเรียนมาน้อย ต้องทำมาหากินตั้งแต่เด็ก พอมีฐานะขึ้นมาอย่างนี้
จึงอยากสนับสนุนการศึกษา ช่วยให้เด็กยากจนได้มีโอกาส"
- กำพล วัชรพล -
(ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
.........
จากปณิธานอันแรงกล้าข้างต้นของ 'กำพล วัชรพล' สู่การก่อตั้ง 'โรงเรียนไทยรัฐวิทยา' 111 แห่งทั่วประเทศ กว่า 55 ปีที่ผ่านมา สถานศึกษาภายใต้นามนี้ ยังคงตั้งใจปลูกต้นกล้าแห่งความรู้ และมุ่งสร้างคนดีสู่สังคม โดยหวังเพียงว่าวันหนึ่งเขาเหล่านั้น จะมาช่วยให้เมืองไทยวัฒนาสถาพรได้ ไม่มากก็น้อย
การเดินทางตลอด 5 ทศวรรษ 'ไทยรัฐวิทยา' ได้สร้างทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ซึ่ง 'ดร.ประหยัด นันทศีล' อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิษย์เก่าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 (ฉบับราษฎร์อุปถัมภ์) อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ถือเป็นหนึ่งในผลผลิตแห่งเจตนารมณ์ของป๊ะกำพล ที่เราอยากแนะนำและชวนให้คุณผู้อ่านได้รู้จัก
ชมคลิปสัมภาษณ์ : "ดร.ประหยัด นันทศีล" โอกาสที่ส่งต่อได้ ผ่านการศึกษา "ไทยรัฐวิทยา"
ความทรงจำนักเรียนไทยรัฐวิทยา :
ดร.ประหยัด ย้อนความทรงจำให้เราฟังว่า เดิมแล้วภูมิลำเนาอยู่ จ.น่าน เริ่มเข้าเรียนที่ไทยรัฐวิทยา เมื่อ พ.ศ. 2527 ในระดับชั้น ป.3-ป.6 สาเหตุที่เลือกโรงเรียนแห่งนี้ เนื่องจากครั้งวัยเยาว์ครอบครัวยากจน แต่ตนอยากเรียนหนังสือ เมื่อมีคนรู้จักแนะนำว่า 'ไทยรัฐวิทยา' เรียนฟรี ด.ช.ประหยัด จึงขอพ่อและแม่มาเรียนที่ จ.อ่างทอง
"ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่า จาก 'น่าน' มา 'อ่างทอง' ไกลกันมากแค่ไหน แต่รู้แค่ว่าถ้ามาที่นี่จะมีโอกาสทางการศึกษาก็เลยตัดสินใจมา ส่วนพ่อแม่อยู่ที่น่านเหมือนเดิม ผมมาอยู่ที่พักที่ติด ๆ กับโรงเรียน ช่วงหน้าร้อนถ้าร้อนจนนอนไม่ได้ ผมกับเพื่อนชอบมากลางมุ้งนอนที่ระเบียงโรงเรียนเพราะเย็นสบายดี ตอนนั้นโรงเรียนเหมือนบ้านอีกหลัง"
"ครูแต่ละท่านให้ความรู้และเอ็นดูพวกเรามาก เขารักนักเรียนเหมือนลูก บรรยากาศสมัยนั้นยังมีความบ้าน ๆ มีทุ่งนา มีชาวบ้านทำสวนรอบโรงเรียน ทุกคนอยู่กันแบบพี่น้อง วัดมีข้าวให้กินฟรี ส่วนช่วงเสาร์-อาทิตย์ ก็มักมีคนนำข้าวและขนมมาแจก" ดร.ประหยัด เล่าบรรยากาศวัยเยาว์ให้เราฟังพร้อมรอยยิ้ม
โอกาสจากไทยรัฐวิทยา :
"การได้เรียนหนังสือ" คือสิ่งที่ ดร.ประหยัด บอกกับเราว่า "คือโอกาสที่ได้รับจากไทยรัฐวิทยา" เพราะโรงเรียนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ปูรากฐานแห่งการศึกษา เราอาจบอกว่าเรียนเองหรือให้พ่อแม่สอนก็ได้ แต่ส่วนตัวผมมองว่า ระบบโรงเรียนยังมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ไม่ได้สอนเพียงวิชาการ และยังสอนเรื่องทักษะชีวิตอีกด้วย
"ชีวิตจริงและโลกของการทำงาน ไม่มีอะไรราบรื่นเสมอไป การได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากรั้วโรงเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการหล่อหลอมความสำเร็จในชีวิต"
เมื่อถามว่า ถ้าวันนั้นไม่ได้เข้าเรียนที่ไทยรัฐวิทยา คิดว่าตอนนี้ตัวเองจะเป็นอย่างไร ดร.ประหยัด นิ่งนึกชั่วพริบตาก่อนจะตอบกลับว่า ถ้าไม่ได้เรียน… ตอนนี้ก็คงอยู่แถวบ้านกลายเป็นคุณปู่คนหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะถ้าย้อนกลับไปตอนนั้น ไม่รู้หรอกว่าชีวิตจะมาอยู่ตรงนี้ รู้แค่ว่าอยากเรียนหนังสือ
ความสำคัญของการศึกษา :
ดร.ประหยัด มองว่า การศึกษามีความสำคัญในทุกระดับ ต่อตัวผู้ศึกษาคือการเลี้ยงดูชีพและทำมาหากิน หากได้เรียนหนังสือเราจะมีโอกาสมากขึ้น "ผมไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่เรียนหนังสือแล้วจะไม่มีช่องทางทำมาหากิน แค่อยากสื่อว่าการศึกษาจะช่วยทำให้เรามีตัวเลือกมากขึ้น" ส่วนในระดับประเทศ หากเด็กได้รับการศึกษาที่ดี วันหนึ่งเขาอาจจะกลายเป็นกำลังสำคัญของสังคม
"ผมคิดว่าในอนาคตการศึกษาน่าจะเปิดกว้าง และทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น ส่วนตัวผมอยากขอย้ำว่า การศึกษายังสำคัญและจำเป็น การมีครูยังสำคัญเสมอเพราะเด็กต้องการผู้ชี้แนะ แม้ว่าเด็กจะสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น เราต้องการพื้นฐานที่ดีก่อน"
"การส่งเสริมเด็กตามความถนัดเป็นเรื่องสำคัญ อยากฝากถึงผู้เกี่ยวข้องว่า เราไม่ควรนำเอากรอบของหลักสูตร หรือวิธีคิดแบบหนึ่งมาชี้ว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน อย่างขณะนี้อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย ก็พยายามปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น และสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษา ลงเรียนวิชาตามที่ตนสนใจ เพื่อต่อยอดความรู้และศักยภาพ"
ขอบคุณที่มี "ไทยรัฐวิทยา" :
ดร.ประหยัด กล่าวว่า การที่ไทยรัฐมีโครงการสร้างโรงเรียน ถือเป็นการให้โอกาสแก่เด็กในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าปัจจุบันจำนวนเด็กอาจจะน้อยลงแล้ว แต่ในอดีตมีเด็กเยอะมาก และหลายคนไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรืองบประมาณของทางการอาจจะไม่ทั่วถึง
"ดังนั้น การที่ไทยรัฐทำโครงการนี้ และยืนหยัดทำมาตลอด 50 กว่าปี ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะได้ให้โอกาสการเรียนรู้ ให้โอกาสเด็กได้เรียนหนังสือ ที่ผ่านมาไทยรัฐวิทยามีบทบาทอย่างไร คิดว่าตอนนี้ก็ยังมีความจำเป็นอย่างนั้นต่อไป อย่างน้อยจะช่วยให้เขามีพื้นฐานต่อยอดในการดูแลชีวิต"
ดร.ประหยัด นันทศิล กล่าวทิ้งท้ายช่วงสนทนา ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนไทยรัฐวิทยาว่า อยากขอบคุณครูทุกคนที่อดทน อบรมสั่งสอน หวังดี และสนับสนุนพวกเราทุกคนมาโดยตลอด ขอบคุณผู้บริหารไทยรัฐทุกท่าน โดยเฉพาะ 'ป๊ะกำพล' ที่ริเริ่มโครงการนี้ไว้ แม้ตอนนี้ท่านจะไม่อยู่แล้วแต่ทายาทของท่านยังคงสานต่อเจตนารมณ์ ขอบคุณตระกูลวัชรพลที่ยังสนับสนุนโครงการนี้อยู่
"ผมยังอยากเห็นมูลนิธิไทยรัฐอยู่คู่สังคมไทยต่อไป หากมีอะไรที่ศิษย์เก่าอย่างพวกเราพอจะช่วยได้พวกเราพร้อมเสมอ ยังไม่เคยลืมว่ามีทุกวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยรัฐวิทยา ขอบคุณอีกครั้งครับ"