• Future Perfect
  • Articles
  • จอห์น เกรย์ ซี แคนู ปลุกกระแสท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เปิดเส้นทางเรียนรู้ธรรมชาติพร้อมพายเรือเก็บขยะ

จอห์น เกรย์ ซี แคนู ปลุกกระแสท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เปิดเส้นทางเรียนรู้ธรรมชาติพร้อมพายเรือเก็บขยะ

Sustainability

ความยั่งยืน24 ก.ย. 2567 07:09 น.

สร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพื่อเผยแพร่ความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น จอห์น เกรย์ ซี แคนู (John Gray’s Sea Canoe) ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยเรือแคนูควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จับมือกับ เพจขยะมรสุม (Monsoongarbage Thailand) และทราย-สิรณัฐ สก็อต หรือ ทราย สก็อต (Merman-มนุษย์เงือก) อินฟลูเอนเซอร์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล มาร่วมกันพายเรือเก็บขยะทะเลตามเกาะต่างๆ ในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา

พงศ์วรุตม์ ปังศรีวงศ์ เจ้าของธุรกิจและหัวหน้าแผนกพัฒนาธุรกิจ (Head of Business Development) ของจอห์น เกรย์ ซี แคนู กล่าวถึงแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติว่า เรามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวของจอห์น เกรย์ ซี แคนู จะไม่เพียงแต่สร้างผลกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างผลดีให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย และเราก็ยึดถือแนวคิดดังกล่าวตั้งแต่แรกเริ่มจนมาถึงทุกวันนี้ เส้นทางการพายเรือของเราสอดแทรกไปด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติในแถบของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและแปลกตามากแห่งหนึ่งในเมืองไทย และในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยรายละเอียดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน ให้นักท่องเที่ยวของเราได้ตระหนักรู้ถึงแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และล่าสุดจอห์น เกรย์ ซี แคนู ร่วมกับเพจขยะมรสุม ได้จัดกิจกรรมพายเรือเก็บขยะอีกครั้ง พร้อมได้“ทราย สก็อต” อินฟลูเอนเซอร์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล มาร่วมเดินทางเก็บขยะพร้อมกับทีมงานอีกกว่า 40 ชีวิตด้วย นอกเหนือไปจากขยะพลาสติกและโฟมที่ลอยอยู่บนทะเลและตกค้างอยู่บนชายหาดแล้ว ในครั้งนี้มีการค้นเจอหน้าจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่และเครื่องเล่นเพลย์สเตชันถูกทิ้งเป็นขยะในพื้นที่ของเกาะละวะ นับเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ไม่น้อยสำหรับเกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นห้องเรียนธรรมชาติและเป็นเกาะแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย

ผู้บริหาร จอห์น เกรย์ ซี แคนู กล่าวต่อว่า นอกจากการปลูกฝังความคิดในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวด ล้อมให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว ด้วยศักยภาพและความพร้อมของทีมงานที่เรามีอยู่ ทำให้เรามองไปไกลกว่านั้น ด้วยการเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเก็บขยะในทะเลและ ขยะบนชายหาดไปจนถึงการปลูกป่าโกงกาง โดยมีการชักชวนผู้คนจากหลากหลายที่มา ทั้งนักท่องเที่ยว นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย กลุ่มบริษัทนำเที่ยว ไปจนถึงกลุ่มนักกิจกรรมในพื้นที่ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ทะเลของบ้านเรายังคงสวยงามแบบนี้ต่อไปในวันข้างหน้า ตามแนวคิดที่ว่า เพื่อให้โลกนี้ดีกว่าที่เคยเป็น บางครั้งเราต้องเก็บกวาดสิ่งที่คนอื่นทิ้งไว้

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่