• Future Perfect
  • Articles
  • ถกความก้าวหน้า "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ"

ถกความก้าวหน้า "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ"

Sustainability

ความยั่งยืน26 ส.ค. 2567 18:13 น.

ปลัด มท. ประชุมรับทราบความก้าวหน้า "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ" หวังบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065

วันที่ 26 ส.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ (SARABURI SANDBOX A LOW CARBON CITY) โดยมี นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายสันชัย พัฒนะวิชัย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสระบุรี นางจริยา ชุมพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นในการร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลก เพื่อช่วยรักษาโลกให้รอดจากภาวะโลกร้อน ภายหลังจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมประกาศความร่วมมือ “MISSION 2023” ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด

ด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของกระทรวงมหาดไทยในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล และได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (อบจ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (อบต.) เพื่อส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนช่วยลดโลกร้อนตามนโยบายภาครัฐ ด้วยการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทุกงานก่อสร้าง ตามมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง

โดยมี สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) เข้าแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั้งหมด เพื่อร่วมกันลดโลกร้อน สนับสนุนยกระดับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยมุ่งสู่ Thailand Net Zero

นอกจากนี้ในเรื่องการลดภาวะโลกร้อน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังได้ร่วมกับทุกจังหวัดส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันมีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ให้สามารถจำหน่ายได้กว่า 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในราคาตันละ 260 บาท และเงินรายได้กลับคืนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่

"กระทรวงมหาดไทยได้รับทราบข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ภายใต้การนำของ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมฯ ถึงการขับเคลื่อน "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" ซึ่งมีที่มาจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 ด้วยศักยภาพของจังหวัดสระบุรีที่มีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน เรียกได้ว่าทำงานเป็น Partnership ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการที่ TCMA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดเลือกให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ปรับปรุง (Revise) แบบโครงสร้างของอาคารที่ทำการหน่วยงานราชการ และสถานที่จอดรถ (Car Park) ให้สามารถรองรับ Solar Rooftop และขยายผลให้ทุกส่วนราชการ ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า และทุกภาคส่วน รวมทั้งได้ขอให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้พิจารณานำเสนอรูปแบบและแนวทางในการส่งเสริมให้ครัวเรือนได้ติดตั้ง Solar rooftop เพื่อลดค่าครองชีพของครัวเรือน และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับนักศึกษาสายอาชีพ และประชาชนที่มีความรู้ด้านระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดการสร้างรายได้ ลดการย้ายถิ่นที่อยู่ เกิดประโยชน์กับชาวบ้านทันทีอีกด้วย

ด้าน ดร.ชนะ ภูมี กล่าวว่า ตลอด 1 ปี “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในชุมชน อาทิ การจัดทำ Solar ในบริเวณลานจอดรถของศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี ทำให้สามารถลดค่าไฟให้กับส่วนราชการ และยังผลทำให้มีพลังงานสีเขียว ทั้งนี้ผลสำเร็จของงานไม่สำคัญเท่ากับกระบวนงานที่เราได้ทำงานร่วมกัน จนทำให้โครงการเดินหน้าได้โดยความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขที่สำคัญภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 2019 ลดลงจากปี 2015 ที่มีจำนวนร้อยละ 27.93 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) เหลือเพียงร้อยละ 22.10

และยังพบว่าในภาพรวมประเทศไทยมีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) มากถึงร้อยละ 90 เหลือยังคงใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เพียงร้อยละ 10 และเชื่อว่าประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศแรกที่ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) หรือปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน 100% ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ในด้านพลังงานยังพบว่า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” สามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาด โดยสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า 100,000 เมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่มีความต้องการใช้พลังงานเพียง 30,000 เมกะวัตต์ ด้วยมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้ในการเพิ่มพูนการผลิตพลังงานได้เป็นจำนวนมาก

ด้านนายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 หรือ Energy Transition เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ จึงได้มีความร่วมมือดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสระบุรีสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ (Low Carbon and Livable City) และจะได้นำแนวทางการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ไปร่วมหารือกับภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมด้านพืชพลังงานต่อไป.