• Future Perfect
  • Articles
  • "เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก" ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รีไซเคิล-อัปเกรดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

"เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก" ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รีไซเคิล-อัปเกรดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน20 ส.ค. 2567 14:34 น.

อายิโนะโมะโต๊ะ ตอกย้ำผู้นำรักษ์โลก ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รีไซเคิล-อัปเกรดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน จับมือ Trash Lucky ส่งโครงการ "เก็บดีมีสุข" หนุนชุมชนจัดการขยะ เปลี่ยน "ซองรสดี" เป็นชั้นวางอเนกประสงค์ พร้อมเปิดตัว "เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก" 9,000 ตัว จากขวดพลาสติก 

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการดำเนินงาน ตามเป้าหมายสำคัญในการลดปริมาณขยะพลาสติกเป็นศูนย์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ภายในปี 2030 พร้อมเปิดตัวโครงการ "เก็บดีมีสุข" ร่วมกับ Trash Lucky สตาร์ตอัพรักษ์โลก มุ่งเน้นการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมกับชุมชนเขตดุสิต นำร่องเปลี่ยน "ซองรสดี" ครีเอตเป็นชั้นวางอเนกประสงค์ส่งมอบความยั่งยืนสู่สังคม พร้อมขยายวัฒนธรรมสีเขียวสู่การเป็นองค์กรรักษ์โลกระดับชั้นนำ ด้วยการอัปเกรดขวดพลาสติกรีไซเคิลเป็น "เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก" จำนวน 9,000 ตัว สำหรับพนักงานบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ สะท้อนถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ

นางสาวเกศยา ชัยชาญชีพ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เรานำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานและการบริหารทรัพยากร ภายใต้หลักการ 3R ได้แก่ 1) Reduce การลดการใช้ทรัพยากร 2) Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ 3) Recycle การแปรรูปขยะให้เกิดมูลค่าใหม่ มุ่งสร้างการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดคุณค่าสูงสุด เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว สะท้อนเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของอายิโนะโมะโต๊ะ ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ภายในปี 2030 สร้างความกินดีมีสุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างแนวทางจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม

อายิโนะโมะโต๊ะ ได้ดำเนินโครงการผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ 1) การประกาศความร่วมมือกับ Trash Lucky สตาร์ตอัพนวัตกรรมขยะให้โชค เปิดตัวโครงการ "เก็บดีมีสุข" (Waste to Worth for Well-Being) เน้นการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะและนำกลับมารีไซเคิล ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ขยะแลกแต้ม เก็บดีมีสุข" ซึ่งได้เริ่มดำเนินการร่วมกับเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และชุมชนต้นแบบนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนแฟลตสิริสาสน์ ชุมชนทอผ้า และชุมชนครัวใต้ โดยให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ภายใน 3 เดือน คือ พฤษภาคม-กรกฎาคม สามารถเก็บขยะบรรจุภัณฑ์สู่ระบบรีไซเคิลได้ทั้งหมด 5,401 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4,284 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเท่ากับการปลูกต้นไม้ 476 ต้น 

อีกทั้งยังนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้จาก "ซองรสดี" มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแปรรูปให้เป็นชั้นวางอเนกประสงค์ที่ใช้งานได้จริง จำนวน  40 ชุด ส่งมอบให้กับโรงเรียน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนประถมนนทรี สพป.กทม. และโรงเรียนหิรัญพงษ์อนุสรณ์ สพป.ปทุมธานี เขต 2 เพื่อสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนที่มีคุณภาพให้แก่สังคมไทยต่อไป

คุณอุบล ม่วงทิม ประธานชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า กล่าวในพิธีปิดโครงการเก็บดีมีสุข ระยะที่ 1 ว่า "รู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม พบว่าคนในชุมชนของเรามีความสนใจและเข้าใจความสำคัญของการแยกขยะในแต่ละวันมากขึ้น โครงการนี้ไม่เพียงแค่สร้างความตระหนักรู้เท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแยกขยะตั้งแต่เริ่มต้น เก็บขยะที่แยกได้เพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะและบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยเริ่มจากส่วนเล็กๆ ในชุมชนของเรา ขอบคุณอายิโนะโมะโต๊ะที่เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้และริเริ่มโครงการ 'เก็บดีมีสุข' ขึ้นมา"

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม 2) เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก (Ajinomoto Eco-Friendly Uniforms) ที่บริษัทฯ มุ่งสร้างวัฒนธรรมสีเขียวให้กับองค์กร ด้วยการนำขวดพลาสติก PET มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อยูนิฟอร์มจำนวน 9,000 ตัว สำหรับพนักงานบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งเป็นเส้นใยผ้า "ไมโคร เอ็กซ์ตร้า รีไซเคิล" (Micro Extra recycled) ดีไซน์มินิมอล ใส่สบาย ยับยาก แห้งไว ไม่ต้องรีด ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานและไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต ซึ่งเสื้อยูนิฟอร์ม 1 ตัว ทำมาจากขวดน้ำพลาสติกเฉลี่ย 20 ขวด รวมแล้วสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากกว่า 180,000 ขวด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 8,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า ซึ่งเท่ากับการปลูกต้นไม้ 360 ต้น เพื่อปลูกฝังเรื่องความใส่ใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอนสำหรับพนักงาน และสร้างการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมองค์กรรักษ์โลก

ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงการดำเนินงานของอายิโนะโมะโต๊ะที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผลักดันให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนสู่สังคมไทย.