• Future Perfect
  • Articles
  • ผนึกกำลัง ขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่าน แอปฯ CERO Carbon Wallet

ผนึกกำลัง ขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่าน แอปฯ CERO Carbon Wallet

Sustainability

ความยั่งยืน7 ส.ค. 2567 17:54 น.

มหาดไทย ผนึกกำลังหอการค้าไทย ททท. TCEB และกลุ่มเซ็นทรัล ขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่าน แอปฯ CERO Carbon Wallet เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

วันที่ 7 ก.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Neutrality 4 ALL) ระหว่างหอการค้าไทย กระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และนายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมลงนาม โดยนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย นายประสพโชค อยู่สำราญ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอในพื้นที่ 878 อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง มุ่งขับเคลื่อนดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนตามคำมั่นสัญญา "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน "โลกนี้เพื่อเรา"" เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

"ในเรื่องการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม เราโชคดีที่เราได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี จนผลิดอกออกผลเป็นจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ได้ทำการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากการรณรงค์จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งพบว่า พี่น้องประชาชนมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในจำนวนที่สูงมาก ทำให้เรามีปริมาณคาร์บอนเครดิตในช่วง 2 ปี (2565-2567) มากถึง 3 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าที่สามารถซื้อขายแปลงเป็นเงินกลับคืนสู่ชุมชน และในปี 2569 จะมี 1.87 ล้านตัน ซึ่งความสำเร็จที่ยั่งยืนเกิดจากความร่วมมือในการให้การสนับสนุนของทุกภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ภาคธุรกิจเอกชน" ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นแรงจูงใจ เป็นกำลังใจของพี่น้องประชาชน ที่จะหนุนเสริมจนส่งผลให้เกิดการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการบริจาคเม็ดเงินลงไป Offset สนับสนุนซื้อคาร์บอนเครดิตจากพี่น้องประชาชน ซึ่งเงินทุกบาท ทุกสตางค์ ไม่ได้กลับเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่จะกลับไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำแนกเป็นรายครัวเรือน โดยหากสังคมไทยเราจับมือช่วยเหลือกัน ก็จะกลายเป็นแรงผลักดัน ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนร่วมกันนำเศษอาหารเศษขยะเปียกไปใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน ช่วยกันลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมมีความยั่งยืน ในเรื่องการคัดแยกขยะและความรับผิดชอบต่อโลกใบเดียวนี้ ซึ่งในเชิงนโยบาย ทั้ง 4 หน่วยงานถือว่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้บริหารประเทศ ซึ่งหากพวกเราจับมือกันและเสนอต่อรัฐบาลให้มีการกำหนดกฎข้อบังคับต่อคนหรือองค์กรที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำเป็นต้องมีคาร์บอนเครดิต ไปชดเชย ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ต่อสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อน เพราะจะทำให้คนไทย/ทุกหน่วยงานตื่นตัวในการรับผิดชอบในฐานะพลเมืองดีของโลกอย่างก้าวกระโดด

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย และทุกหน่วยงานที่ได้มาร่วมแสดงออกถึงจุดยืนในความร่วมมือพัฒนา Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งทุกวันนี้เราต่างเผชิญอยู่กับสภาวะโลกร้อนที่ถูกยกระดับกลายเป็นสภาวะโลกเดือด ผลกระทบจากสภาวการณ์ดังกล่าวก็เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายด้านกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการศึกษาด้านเศรษฐกิจกล่าวว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จทางด้านการค้าไม่ใช่การมีของที่ดีที่สุดหรือมีคุณภาพที่สุด แต่ต้องเป็นผลผลิตและอุตสาหกรรมประเภทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหอการค้าไทยจะให้ความรู้กับสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศและทำงานอย่างจริงจัง ในลักษณะ Connect The Dots และวันนี้ เป็นการเริ่มต้นแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ขายและผู้ซื้อ และขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก ซึ่งในขณะนี้เราให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้ากับ Green Productivity ในทุก Industry และได้มีแหล่งทุนในการสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Green Industry Productivity อีกด้วย

ด้าน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เรื่อง Carbon Offset ไม่ใช่เพียงเรื่องการทำความดี แต่เป็นเรื่องความสำเร็จของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่อง Exhibition โดยเราจะส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ mice เพื่อให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ และเชื่อว่า ภายใต้การนำของกระทรวงมหาดไทยจะทำให้พวกเราประสบความสำเร็จในการช่วยกันดูแลโลกของเรา และ TCEB จะช่วยกันขยายฐานให้มี Stake Holder มากขึ้น เพื่อที่จะได้ขยายฐานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ กล่าวว่า ททท. มุ่งมั่นขับเคลื่อนส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงที่ผ่านมาเกินกว่า 20 ล้านคน โดยในส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวหมุนเวียนเกินกว่า 200 ล้านครั้ง และแน่นอนว่า การท่องเที่ยวล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ททท. สำนึกและตระหนักถึงเรื่องของการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่ครอบคลุมมิติด้านการท่องเที่ยว และเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้

นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้หอการค้าไทยได้พัฒนาแพลตฟอร์มในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสำหรับรายย่อย ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลร่วมสนับสนุนพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้การจัดการระบบมีประสิทธิภาพ และร่วมประชาสัมพันธ์กระจายข่าวไปยังกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม และที่ผ่านมาเราได้มีการคำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในทุกกิจกรรม ทั้งเทศกาลดนตรี และอื่นๆ แล้วคำนวณ Offset ซื้อคาร์บอนเครดิต และหวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโลกของพวกเรา และเชิญชวนพวกเราทุกหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อนสังคมดูแลรักษาสภาพอากาศและทรัพยากรของโลกไปด้วยกัน

"การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero และส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ได้ร่วมกันผลักดันการลดโลกร้อนผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต CCXT (Carbon Credit Exchange of Thailand) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือการชดเชยคาร์บอนเครติดจากกิจกรรมต่างๆ ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น แพลตฟอร์มนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงาน หรือผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าถึงการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่างๆ โดยในเฟสแรก เริ่มต้นจากการชดเชยคาร์บอนเครดิตในกลุ่มท่องเที่ยว การจัดงานอีเวนต์ อุตสาหกรรมไมซ์ และภาคบริการต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน CERO ที่เป็นแอปพลิเคชันแรกบนแพลตฟอร์มนี้" นายพิชัย กล่าว