พารู้จัก “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” (Rainbow Warrior) เรือรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ล่าสุดเดินทางกลับมาไทย ภายใต้แคมเปญ Ocean Justice
หลายคนอาจจะได้ยินชื่อ “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” (Rainbow Warrior) ซึ่งเป็นเรือรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ที่ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำภารกิจมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการล่าวาฬ ภาวะโลกร้อน การทิ้งกากนิวเคลียร์ รวมไปถึงการเผชิญหน้ากับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ที่ล่าสุดได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง
โดยการกลับมาครั้งนี้ เป็นการทำกิจกรรมภายใต้แคมเปญ Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice เพื่อรณรงค์ผลักดันพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อปกป้องทะเลไทย สิทธิชุมชนชายฝั่ง และความเท่าเทียมทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเดินทางไปทำงานรณรงค์ที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน และ อ.จะนะ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2567
รู้จัก เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์
"เรนโบว์ วอร์ริเออร์" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามคำทำนายของอินเดียนแดงชนเผ่าครีในอเมริกาเหนือ ที่เชื่อว่า "เมื่อโลกป่วยและกำลังดับสูญ ผู้คนจะพากันลุกขึ้นสู้ประหนึ่งนักรบแห่งสายรุ้ง..."
ลักษณะเด่นคือ ที่หัวเรือจะมีรูปสลักนกพิราบแห่งสันติภาพคาบกิ่งโอลีฟ สะท้อนถึงภารกิจสันติภาพของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ และรอบลำเรือยังระบายสีรุ้งทอประกายพาดผ่าน ได้ออกปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2521 โดยมีเป้าหมายในการขัดขวางการล่าวาฬเพื่อการค้าที่ไอซ์แลนด์ และได้ล่องเรือไปทำภารกิจยังน่านน้ำต่างๆ จนกระทั่งถูกวางระเบิดเรือเมื่อปี 2528 ที่นิวซีแลนด์
หลังจากถูกวางระเบิด เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ถูกลากไปพักไว้ที่อ่าวมาเทารี ในหมู่เกาะคาวาลลี ของนิวซีแลนด์ เพื่อใช้เป็นที่อาศัยของปะการังและสัตว์ทะเลต่างๆ รวมทั้งเป็นจุดท่องเที่ยวของนักดำน้ำ ต่อมาปี 2532 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ลำที่สองก็มาแทนที่เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ลำแรก โดยทำหน้าที่เรื่อยมาจวบจนปลดเกษียณ
จนในปี 2554 กรีนพีซก็ได้ต่อเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมีอุปกรณ์ประจำเรือที่ทันสมัยและยังถือเป็นเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการออกแบบที่ผ่านการคิดมาแล้ว เช่น
- เรือแล่นด้วยพลังงานลม ด้วยระบบเสากระโดงเรือ เอ-เฟรม สูง 55 เมตร ช่วยให้ล่องเรือได้ไกลกว่าเรือที่ติดตั้งเสาเรือทั่วไปในขนาดเดียวกัน และเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งนวัตกรรมนี้บนเรือที่มีขนาดเท่าเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ลำใหม่ ช่วยในการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง
- เรือมีระบบเครื่องยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้ในสภาวะที่สภาพอากาศแปรปรวน
- มีเครื่องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล และบนเรือยังมีระบบกักเก็บน้ำทิ้งและน้ำเสีย มากกว่า 59 คิวบิกเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายเทของเสียลงทะเล ระบบกรองชีวภาพแบบพิเศษจะช่วยทำความสะอาดและนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่
- นอกจากนี้บนเรือยังมีจุดแยกขยะอีกด้วย
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ กับการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในไทย
- พ.ศ. 2543 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ Asia Toxic Tour รณรงค์คัดค้านโรงงานเผาขยะที่ภูเก็ต
- พ.ศ. 2548 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ และนักกิจกรรมกรีนพีซเผชิญหน้าอย่างสันติกางป้ายคัดค้านการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
- พ.ศ. 2551 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ กลับมาไทยเป็นครั้งที่ 3 งานรณรงค์ Quit Coal Tour in Thailand ซึ่งเป็นการรณรงค์ระดับโลกที่กรีนพีซคัดค้านการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นตัวการก่อภาวะโลกร้อนและวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังก่อมลพิษสร้างผลกระทบให้กับชุมชนท้องถิ่น
- พ.ศ. 2553 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ในงานรณรงค์ Turn the Tide Tour โดยกรีนพีซ เครือข่ายชุมชนในนามกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ร่วมทำกิจกรรม “ฝังแคปซูลเวลา” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและลูกหลานคนรุ่นหลัง หลังจากการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โครงการในพื้นที่ รวมทั้งร่วมรำลึกถึง “เจริญ วัดอักษร” ผู้นำชุมชนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประจวบคีรีขันธ์
- พ.ศ. 2561 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ในงานรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน “Rainbow Warrior Ship Tour 2018: 100% Renewable Energy for All” ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่กรีนพีซและเรนโบว์ วอร์ริเออร์ นำเสนอและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และกระตุ้นผู้กำหนดนโยบายพลังงานให้ลด ละ เลิกถ่านหิน เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
- พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ได้มารณรงค์ในการปกป้องทะเล และมหาสมุทร (Ocean Justice)
ข้อมูลจาก Greenpeace, เฟซบุ๊ก Greenpeace Thailand