"อายิโนะโมะโต๊ะ" เปิดแผนขับเคลื่อนความยั่งยืน มุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมเปิดตัวบริษัท "อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด" เพื่อเป็นบริษัทต้นแบบทางธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม
มร.เค็นจิ ฮะระดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตในโรงงาน การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน การต่อยอดสู่ภาคครัวเรือน และภาคเกษตรกรรม ภายใต้แนวคิด Ajinomoto Biocycle เพื่อมุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลง 50% ได้สำเร็จ ภายในปี 2573
แผนการดำเนินงานสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนในปี 2573
เปิด 5 แนวทางดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% 2.ดูแลรักษาแหล่งน้ำ 80% 3.ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล 4.ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต 5.จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนทั้ง 100% จึงเกิดเป็นผลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
- ภาคการผลิตในโรงงาน อาทิ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ในกระบวนการผลิตแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 380,000 ตันต่อปี การลดใช้น้ำและพลาสติกจากการดำเนินงาน การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เป็นวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารได้ถึง 70% หรือประมาณ 1,300 ตัน นอกจากนี้ ยูนิฟอร์มของพนักงานอายิโนะโมะโต๊ะยังถูกผลิตขึ้นจากขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว นับเป็นการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้คือการดำเนินงานของเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ
- ภาคการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในการพิจารณาเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่เกี่ยวเนื่องกับการได้มาซึ่งวัตถุดิบหรือสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการดำเนินการเลือกใช้กระดาษที่ผ่านการรับรอง FSC ได้ทั้งหมด 100% การเลือกใช้น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์จากปาล์ม ที่ผ่านการรับรอง RSPO กว่า 100% และการเลือกใช้เนื้อหมูที่ได้จากการเลี้ยงที่คำนึงถึง Animal welfare
- ภาคครัวเรือน จัดโครงการ "Too Good To Waste กินหมดลดโลกร้อน" เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการร่วมลดขยะอาหารแก่ผู้บริโภคผ่านสูตรอาหารรักษ์โลก
- ภาคเกษตรกรรม ต่อยอดองค์ความรู้ด้านกรดอะมิโนของเรา ผ่านผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตผงชูรส เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถผลิตผลผลิตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Ajinomoto Biocycle ซึ่งเป็นแนวทางวัฏจักรชีวภาพในกระบวนการผลิต
ขณะที่ ดร.โคะเฮ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า
ในฐานะที่อายิโนะโมะโต๊ะเป็นบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร การดูแลวัตถุดิบให้มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำครอบคลุมไปจนถึงการดูแลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรแห่งห่วงโซ่คุณค่าของเราจึงเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ จากความมุ่งมั่นนี้จึงได้มีการเปิดตัวบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเป็นบริษัทต้นแบบทางธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรุกภาคการเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนในการจัดการกับผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตผงชูรส และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มี 11 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 2 หมวดหมู่ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร เช่น กระเทียม เมล็ดกาแฟ 2.ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับพืช และอาหารสำหรับสัตว์ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้ต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพการเพาะปลูกที่ดีขึ้นของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ "ปุ๋ยอามินา" ที่มาจากความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการหมักของบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพอันอุดมด้วยแบคทีเรียที่ดีต่อพืช มีคุณสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากและเพิ่มสารอาหารในดิน จึงทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ เราเชื่อว่าถ้าเกษตรกรอยู่ดีมีสุข ธุรกิจของเราก็มั่นคงไปด้วย เราจึงดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน ด้วยการดูแลเกษตรกรไทยกว่า 1,376 ครอบครัวในจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ของประเทศไทย ในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนทุกขั้นตอน โดยมี 2 โครงการหลักได้แก่
1.โครงการ Thai Farmer Better Life Partner ยกระดับความความอยู่ดีมีสุขให้กับเกษตรกรพร้อมสร้างวงจรเชิงบวกอย่างยั่งยืน ทั้งไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ ต่อยอดมาสู่ไร่กาแฟ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตกาแฟเบอร์ดี้ ภายใต้แนวคิด Ajinomoto Bio-cycle โดยนำเอาน้ำหมักที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาต่อยอดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ แนะนำ และดูแลการรับซื้อในราคาเป็นธรรม
2.โครงการ Green Coffee Bean (GCB) Farmer Sustainability ด้วยการสนับสนุนปุ๋ยเคมีอินทรีย์ที่พัฒนามาจากศาสตร์แห่งกรดอะมิโนให้แก่เกษตรกร เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก รวมทั้งช่วยพัฒนาความรู้ ตั้งแต่การปลูกต้นกาแฟ การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยตั้งเป้าเติบโตในธุรกิจภาคการเกษตร 2.5 เท่า และพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา (traceability) ของมันสำปะหลังที่เข้าร่วมในโครงการ Thai Farmer Better Life Partner 100% เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ ได้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2573.