• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จักมาตรการ CBAM ปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน สหภาพยุโรป

รู้จักมาตรการ CBAM ปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน สหภาพยุโรป

Sustainability

ความยั่งยืน21 มี.ค. 2567 17:36 น.
  • ทำความรู้จัก มาตรการ "CBAM" การปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน สหภาพยุโรป เพื่อจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้น
  • ภาคอุตสาหกรรมไทย จะต้องมีการปรับตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้การค้ากับฝั่ง EU หยุดชะงัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน โลกเดือด การละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นฝีมือของมนุษย์ ดังนั้น การที่รัฐบาล หรือองค์กรทั่วโลก กำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

เช่นเดียวกับ สหภาพยุโรป ก็เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งของโลก ที่ตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก การออกมาตรการในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้น โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 สหภาพยุโรปได้นำ "กลไกซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" มาใช้เป็นภาคบังคับแห่งแรกของโลก

"CBAM" คืออะไร?

สำหรับ "CBAM" ย่อมาจาก Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ "มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน" เป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) ใช้เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป ผ่านการใช้มาตรการด้านคาร์บอน โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products) ซึ่งปัจจุบัน มีผลบังคับใช้แล้ว โดยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนเริ่มเก็บค่า CBAM certification หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้าในปี 2569 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต ที่จะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง และเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สินค้ามีราคาที่แข่งขันในตลาด EU ได้ 

ซึ่งมาตรการ "CBAM" มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา นำร่องในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง โดย 6 ประเภทแรกที่บังคับปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน คือ 1. ซีเมนต์ 2. พลังงานไฟฟ้า 3. ปุ๋ย 4. ไฮโดรเจน 5. เหล็กและเหล็กกล้า 6. อะลูมิเนียม

โดยกำหนดระยะเวลาบังคับใช้เป็น 3 ช่วงหลัก คือ

  • ปี พ.ศ. 2566-2568 (ค.ศ. 2023-2035) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนด โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน
  • ปี พ.ศ. 2569-2577 (ค.ศ. 2026-2034) เป็นช่วงบังคับใช้ ที่ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า และต้องซื้อ CBAM certificates ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนของกลุ่มประเภทสินค้านั้นๆ ซึ่งในระยะนี้ EU จะทยอยลดสิทธิการปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ลง
  • ปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) เป็นต้นไป จะเป็นช่วงบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ โดย EU จะยกเลิกสิทธิการปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ของทุกภาคอุตสาหกรรม 

อุตสาหกรรมไทย ต้องปรับอย่างไร

ในส่วนของประเทศไทยเอง คงต้องอาศัยช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (พ.ศ. 2566-2568) เพื่อเตรียมความพร้อม ด้วยการที่แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมต้องจัดทำฐานข้อมูลด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อที่ว่า ผู้ประกอบการไทยจะได้มีข้อมูลไปแสดงต่อ EU เพื่อเป็นประโยชน์ในการส่งสินค้าไปจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก 

ที่มาจาก สวทช.