• Future Perfect
  • Articles
  • ไทยลั่นยึดคนเป็นศูนย์กลางพัฒนาสู่ SDGs ร่วมเวที UNEA 6 ชู ก.ม.คุมโลกร้อน

ไทยลั่นยึดคนเป็นศูนย์กลางพัฒนาสู่ SDGs ร่วมเวที UNEA 6 ชู ก.ม.คุมโลกร้อน

Sustainability

ความยั่งยืน4 มี.ค. 2567 07:01 น.

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด ทส.เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 (UNEA 6) ที่สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ทั้งนี้ นายเถลิงศักดิ์ได้กล่าวถ้อยแถลงว่า ไทยมีความมุ่งมั่นจะทํางานร่วมกับทั่วโลกเพื่อก้าวไปสู่การบรรลุ SDGs ด้วย BCG Model ที่เน้นการพัฒนาที่ยึดผู้คนเป็นศูนย์กลาง ผ่านกลไกการพัฒนากรอบกฎหมายและการกำหนดนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศไทย

และพันธกรณีระหว่างประเทศ อาทิ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้ามายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 รวมทั้งการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่เน้นมาตรการป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ ตลอดจนการบูรณาการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญาและความรู้ดั้งเดิม เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ หมุนเวียน เป็นธรรมชาติ และมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายร่วมดําเนินการทันทีในทุกระดับ

“การประชุมครั้งนี้เป็นกลไกสำคัญ ลดความขัดแย้ง รวมทั้งลดภาระให้ประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเน้นย้ำให้ UNEP แสดงบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการร่วมกับสำนักเลขาธิการของ MEAs ในทุกระดับ และเริ่มประสานความเชื่อมโยงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้กำหนดนโยบายซึ่งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสำคัญสู่ความสำเร็จของข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs)” นายเถลิงศักดิ์กล่าว

หัวหน้าคณะผู้แทนไทยกล่าวว่า นอกจากนี้ตนได้เข้าพบกับ H.E. Takisawa Motome รมช.กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างไทยและญี่ปุ่น อาทิ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 การจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่าง ทส.และกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นกลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism) และความร่วมมือ City-to-City Collaboration โดยประเทศไทยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายต่อไป.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่