• Future Perfect
  • Articles
  • ปลัด มท. มอบแนวทางขับเคลื่อน "หมู่บ้านยั่งยืน" พื้นที่ จ.สงขลา

ปลัด มท. มอบแนวทางขับเคลื่อน "หมู่บ้านยั่งยืน" พื้นที่ จ.สงขลา

Sustainability

ความยั่งยืน29 ก.พ. 2567 16:21 น.

ปลัด มท. มอบแนวทางขับเคลื่อน "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ในพื้นที่จังหวัดสงขลา เน้นย้ำ ผู้นำทุกระดับต้องรวมพลัง 7 ภาคีเครือข่ายทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพราะเป้าหมายอยู่ที่ประชาชน

วันที่ 29 ก.พ. 67 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบนโยบายและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ของจังหวัดสงขลา โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง, นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, นางมณีรัตน์ พรหมเขียว ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา, ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสงขลา กว่า 9,289 คน ร่วมรับฟัง

ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ เป็นประธานมอบนโยบายและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน แล้วเยี่ยมชมนิทรรศการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของทั้ง 16 อำเภอ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ด้วยการขับเคลื่อนงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งได้รับการถอดบทเรียนจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะข้อที่ 17 การเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

ซึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ประชาชนต้องมีอาหารการกิน มีที่อยู่อาศัย มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยได้รับการรักษาทั้งแบบพื้นบ้านและแบบแพทย์สมัยใหม่ มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย มีจิตใจที่สุขสงบ มีศาสนาเป็นที่พึ่ง มีลูกหลานที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง หมู่บ้าน/ชุมชนสงบปลอดภัย ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มียาเสพติด ชีวิตก็จะมีความสุข ด้วยความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) 6 ประการ คือ "พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ทำบุญ ทำทาน" ด้วยทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนทุกระดับที่มีความเข้มแข็ง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า เพราะคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน คือ เป้าหมายของการทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนอยู่ที่หมู่บ้าน ได้แก่ 1) นายอำเภอต้องทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน และคณะกรรมการหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน มีความเข้มแข็ง 2) กำกับการทำงานของทีมข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลร่วมกับทีมหมู่บ้านช่วยกันสร้าง "ทีมจิตอาสาในหมู่บ้าน" ด้วยการ Rebrand "ทีมเขตบ้าน กลุ่มบ้าน" ให้เกิดขึ้น และมีกระบวนการ 4 ร่วมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสิ่งที่ดีในหมู่บ้าน

รวมทั้งมีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน จัดตั้งธนาคารขยะ ช่วยเหลือดูแลบ้านของผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนหรือผู้อ่อนแอในชุมชน ดูแลผู้เสพสารเสพติดในชุมชนให้ได้รับการบำบัดรักษา ทั้ง รพ.สต. และคนในชุมชนช่วยกันดูแล ลด Demand side ปราบปราม Supply side ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมชุมชน สิ่งเหล่านี้ต้องมีการสื่อสารพูดคุยกันบ่อยๆ ทำให้เกิดสิ่งที่ดีตาม 8 ตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) ของ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" คือ 1) ด้านที่อยู่อาศัย 2) ด้านความมั่นคงทางอาหาร 3) ด้านความสะอาด 4) ด้านความสามัคคี 5) ด้านความร่วมมือ 6) ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 7) ด้านความมั่นคงปลอดภัย และ 8) ด้านการมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ หากระบบเขตบ้านแข็งแรง หมู่บ้านก็จะแข็งแรง ถ้าทุกหมู่บ้านแข็งแรง ตำบลก็จะแข็งแรง ทุกตำบลแข็งแรง อำเภอก็จะแข็งแรง ทุกอำเภอแข็งแรง จังหวัดก็จะแข็งแรง ทุกจังหวัดแข็งแรงประเทศชาติก็จะแข็งแรง "ทีมของหมู่บ้านต้องมีความเข้มแข็ง" ดูแลบริบท ทำให้หมู่บ้าน ทำให้ครัวเรือนเป็น "ครัวเรือนยั่งยืน" ครัวเรือนที่มีความสุขอย่างยั่งยืน รวมกันก็จะเป็นหมู่บ้านที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ No One Left Behind หรือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการมีทีมงาน ในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ดังที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปูชนียบุคคลของประเทศไทยและชาวสงขลา ได้ยึดถือปฏิบัติและทำเป็นตัวอย่างให้พวกเราเห็น ความสำเร็จที่จะทำให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดสงขลาและประเทศไทยสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่ทำเสร็จ ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนผลักดันหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ให้เกิดขึ้น "โดยมีเป้าหมายอยู่ที่พี่น้องประชาชน" เพื่อร่วมกันถวายของขวัญที่ดีที่สุดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นปฏิบัติบูชา ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข อย่างยั่งยืนตลอดไป.