• Future Perfect
  • Articles
  • มหาดไทย ถกมูลนิธิยูนุสฯ หารือจัดการขยะและพัฒนาอย่างยั่งยืน

มหาดไทย ถกมูลนิธิยูนุสฯ หารือจัดการขยะและพัฒนาอย่างยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน23 ก.พ. 2567 16:55 น.

ปลัด มท. จับมือมูลนิธิยูนุส ประเทศไทย ประชุมหารือ จัดการขยะและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเป็น “Partnership” ร่วมกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

วันที่ 23 ก.พ. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือการจัดการขยะและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย และมูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) โดยมี นายคาลัม แมคคันซี กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) นายอับดุล มาร์ติน กรรมการผู้จัดการ กรามีน ทรัสต์ (Grameen Trust) พร้อมคณะ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย "Partnership" ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ตลอดจนการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงมหาดไทยที่มีกลไกในระดับพื้นที่ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยมีส่วนกลางเป็นผู้นำในการบริหารส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด นายอำเภอ 878 อำเภอ รวมถึงกำนันใน 7,036 ตำบล และผู้ใหญ่บ้านใน 67,619 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นภาคประชาชนแบบกึ่งทางการ ที่ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง

"องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย นำโดย คุณกีตาร์ ซับบระวาล (Ms. Gita Subhawal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เห็นความสำคัญในกลไกระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นพันธมิตรขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมายในทุกพื้นที่ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นหนึ่งในพันธกิจของกระทรวงมหาดไทย ในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและองค์การสหประชาชาติได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยจนเกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งเราทุกคนมุ่งมั่นขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ รักษาโลกที่ดีใบเดียวนี้เพื่อลูกหลานของเรา ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนและกำหนดเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขจัดความยากจนของคนทุกช่วงวัย การทำสงครามกับยาเสพติด ขยายผลต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ"

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ในการส่งเสริมด้านการบริหารจัดการขยะ การคัดแยกขยะ ด้วยการจัดทำ "ถังขยะเปียกลดโลกร้อน" เป็นอีกผลการดำเนินสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ที่เราได้รับการรับรองในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อน จนได้รับการรับรองจำนวนคาร์บอนเครดิต ทำให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตเป็นเงินหมุนเวียนกลับไปสู่ชุมชน

โดยในเฟสแรกเราสามารถคำนวณเป็นการลดคาร์บอนเครดิตได้ 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) สามารถขายได้เป็นเงิน จำนวน 816,400 บาท ซึ่งในเฟสที่ 2 สามารถลดได้กว่า 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) เราจึงคาดการณ์ว่า ในปี 2022-2026 จะสามารถลดได้ถึง 1,875,443 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งได้ลดลงมากกว่าเป้าหมายของ NDC ในปี 2030 กว่า 1.78 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

ซึ่งการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือนทั่วประเทศเปรียบเสมือนกับการปลูกต้นไม้ 155 ล้านต้น อีกทั้งปุ๋ยหมักที่ได้ยังเป็นประโยชน์ให้กับการปลูกพืชผักสวนครัวของครัวเรือน ในส่วนของการจัดการขยะรีไซเคิล เราได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้บริหารจัดการขยะ สามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่านำมาเป็นสวัสดิการให้กับชุมชน ในส่วนของการจัดการขยะพิษได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในกระบวนการทำลายขยะพิษ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีระเบียบในการจัดตั้งอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายคาลัม แมคคันซี กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) กล่าวว่า มูลนิธิยูนุส ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนทำงานร่วมกันเพื่อสังคม ขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่และตอบสนองปัญหาเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก เราสืบทอดจาก “นายธนาคารเพื่อคนจน” ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นที่
รู้จักของคนทั่วโลกจากการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้บริการสินเชื่อรายย่อยสําหรับกลุ่มคนที่ยากจน หรือ "ไมโครไฟแนนซ์" ในการเริ่มต้นธุรกิจขนาดย่อยของตัวเอง ทําให้ธนาคารกรามีน (Grameen Trust) และองค์กรยูนุสได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

มูลนิธิยูนุส ประเทศไทยมีเป้าหมายสร้างโลกสามศูนย์ คือ โลกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การว่างงานเป็นศูนย์ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการ และความยากจนเป็นศูนย์ด้วยการขจัดความร่ำรวยแบบกระจุกตัว โดยจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดระบบทุนนิยมที่มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดมาเป็นการสร้างสังคมที่เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสังคมและประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก หนี้ครัวเรือนตามอัตรา GDP ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และเป็นประเทศที่มีสังคมสูงวัย มีแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม โดยผลที่คาดหวังในการร่วมมือกันจะนำไปสู่การหลุดพ้นความยากจนเมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจเกิดการเติบโต ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การแลกเปลี่ยนหารือในวันนี้จะนำไปสู่การสร้างผลที่ดีต่อสังคมและประชาชน ซึ่งการทำงานร่วมกันตามบริบทของแต่ละประเทศและสังคมจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประชาชนและประเทศไทยได้ ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม.