• Future Perfect
  • Articles
  • อนาคตข้าวไทย เน้นวิจัยสู้คู่แข่ง

อนาคตข้าวไทย เน้นวิจัยสู้คู่แข่ง

Sustainability

ความยั่งยืน21 ก.พ. 2567 06:01 น.

“....ชาวนาไทยมีภาวะหนี้สินทำให้ต้องขายที่นาทำกินรวมถึงประสบปัญหาด้านผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ เมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความประสงค์ที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวทุกรูปแบบ

ซึ่งจุดสำคัญที่สุดอยู่ที่การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง เพื่อชาวนาได้ใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น สามารถดำรงอาชีพชาวนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ข้างต้นนี้คือคำกล่าวของ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รวมใจพัฒนาความรู้ จำกัด ภายใต้มูลนิธิรวมใจพัฒนาพุ่งเป้า... “ระดมความรู้ แก้ปัญหาชาวนา” อย่างบูรณาการทุกมิติ

มุ่งเน้นงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวผลผลิตสูง ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรชาวนาไทย มีนโยบายพร้อมทุนสนับสนุนทีมงานนักวิจัยดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างคู่ผสม คัดเลือกสายพันธุ์ ทดสอบพันธุ์ ตลอดจนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี

เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในอาชีพชาวนาไทยและวงการข้าวทั้งประเทศ

โครงการที่ว่านี้เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ยืนยันความสำเร็จได้จาก “พันธุ์ข้าว” ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 กับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์อาร์เจ 11 (RJ 11) ข้าวขาวพื้นแข็ง, พันธุ์อาร์เจ 22 (RJ 22) ข้าวขาวพื้นนุ่ม, พันธุ์อาร์เจ 44 (RJ 44) ข้าวขาวพื้นนุ่ม

โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ
โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ

และ...พันธุ์อาร์เจ 66 (RJ 66) ข้าวขาวพื้นนุ่ม

ประเด็นสำคัญมีว่า ข้าวพันธุ์อาร์เจ 22 (RJ 22) เป็นข้าวขาวพื้นนุ่มที่มีศักยภาพให้ผลผลิตในเขตพื้นที่นาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างสูงสุดที่ 1,260 กก.ต่อไร่ และปัจจุบันเป็นข้าวพันธุ์ส่งเสริมตลาดข้าวนุ่มเพื่อการส่งออกคุณภาพดี

ถัดมา...ข้าวพันธุ์อาร์เจ 44 (RJ 44) ข้าวขาวพื้นนุ่ม ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ครั้งที่ 1/64 โดยกระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

น่าสนใจว่า ข้าวพันธุ์นี้มีศักยภาพให้ผลผลิตสูงสุดในเขตพื้นที่นาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างอยู่ที่ 1,300 กก.ต่อไร่ ซึ่งข้าวสารมีสีขาวใส อ่อนนุ่มเมื่อหุงสุก

ข่าววงในแจ้งว่า ในเร็ววันนี้ประมาณเดือนเมษายน 2567 จะประกาศขึ้นทะเบียน ในตัวข้าวพันธุ์ “อาร์เจ 33 (RJ33)” ข้าวพื้นแข็งผลผลิตสูง ที่มีศักยภาพจากการทดสอบเสถียรภาพการให้ผลผลิตในเขตนาชลประทานภาคกลางสูงถึง 1,310 กก.ต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 95 วัน ต้นแข็งไม่หักล้ม

ที่สำคัญ...ต้านทานโรคแมลง การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ครั้งที่ 2/65 จากกระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อย่างไรก็ตาม การวิจัย...พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวยังคงต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อตอบโจทย์เกษตรกรชาวนา รวมถึงตอบสนองและต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวน แน่นอนว่า “เมืองไทยยังเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ” สายพันธุ์ข้าวที่ดีและเหมาะสม ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการผลิตข้าวที่มีความยั่งยืน

ในปี 2567 คาดการณ์กันว่า...ปริมาณการส่งออก “ข้าว” จะอยู่ที่ 8.6 ล้านตัน ใกล้เคียงกับในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ราว 8.5 ล้านตัน จากอุปทานข้าวในตลาดโลกที่ยังตึงตัวจากปัจจัยเอลนีโญที่คาดว่าจะลากยาวไปจนถึงกลางปี 2567 ทำให้ประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีการสะสมสต๊อกข้าว

แต่คาดว่านโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่ผ่อนคลายลง หลังจากสภาพอากาศในอินเดียที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะทำให้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าข้าวหันมานำเข้าข้าวไทยทดแทนอินเดียทยอยหมดลง

ส่วนราคาส่งออกข้าวขาว 5% ในปี 2567 เวิลด์แบงค์ (World Bank) ประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปีจากสต๊อกข้าวโลกที่ยังมีแนวโน้มลดลงและปัญหาความมั่นคงทางอาหาร

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลกระทบจาก “ค่าเงินบาท” ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจทำให้ราคาส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

น่าสนใจว่าท่ามกลางการแข่งขันนี้และภาวะปัจจัยเสี่ยงทางธรรมชาติเช่นนี้ หากต้นทุนการผลิตข้าวยังสูง ทั้งยังปลูกพันธุ์ข้าวที่ไม่ตอบโจทย์...ก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันได้

ข้อมูลวิเคราะห์อนาคตข้าวไทย “Krungthai COMPASS” ระบุว่า ในระยะถัดไปธุรกิจข้าวไทยจะยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากสายพันธุ์ข้าวที่เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าคู่แข่ง ทำให้แข่งขันด้านราคาลำบาก และปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ธุรกิจ “ข้าวไทย” ควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวยั่งยืนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์

“ข้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่ผ่านมา...กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาข้าวไทยให้มีความก้าวหน้า ใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เน้นการพัฒนาตลาดทั้งในและต่างประเทศ การแปรรูป...การนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์

นับรวมไปถึงผลิต “พันธุ์ข้าว” ที่มีความหลากหลายสนองความต้องการของตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยให้มากขึ้นอีกด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวและภาคเอกชนมีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว พยายามร่วมกันคิดโดยใช้องค์ความรู้ที่มีนำมาศึกษาทดลองเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ

อีกทั้งยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 63-67 กระทรวงพาณิชย์ก็มีวิสัยทัศน์ “ตลาดนำการผลิต” คือประเทศไทยจะต้องเดินหน้าไปสู่การเป็นผู้นำ ด้านการผลิต...การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก

มุ่งแก้ปัญหา 2 ข้อ คือ...ปัญหาการแข่งขันราคา กับความหลากหลายของพันธุ์ข้าวมีน้อยเริ่มสู้ไม่ได้ ยุทธศาสตร์ข้าวไทยจึงเกิดขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

เพื่อให้ “ต้นทุน” ต่ำลง ให้สามารถแข่งราคากับคู่แข่งในตลาดโลกได้

ปัจจุบันปัญหาที่ทำให้ “ชาวนา” ที่เป็นกระดูกสันหลังของไทยยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้คือ ผลผลิตที่ได้เพียงไร่ละ 400 กิโลกรัมเท่านั้น สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าไถ ฯลฯ

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.พาณิชย์ กล่าวไว้ว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวจนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 700-800 กิโลกรัม มีคุณภาพข้าวเทียบเท่ากับของไทย ทั้งๆที่ไทยปลูกข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

“ข้าวไทยได้รับความนิยมมานาน เป็นข้าวที่เม็ดเรียงสวยงาม นุ่ม หอม เมื่อหุงข้าวจะมีกลิ่นหอมแม้ว่าข้าวอื่นจะมีกลิ่นหอมแต่ก็น้อยกว่าข้าวไทย ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นเบอร์ 1 ของข้าวไทย จึงต้องกลับมาดูเรื่องคุณภาพข้าว เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและคงคุณภาพเพื่อที่จะสู้กับตลาดได้”

ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือ “การพัฒนาพันธุ์ข้าว” ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลก...ในโลกนี้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเรายังชื่นชมความดีของเราแล้วยังนั่งอยู่ที่เดิม ในอนาคตก็จะไม่ทันเกม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม