• Future Perfect
  • Articles
  • เปิดรับสมัคร SPACE-F รุ่น 5 หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทค เพื่อความยั่งยืนด้านอาหาร

เปิดรับสมัคร SPACE-F รุ่น 5 หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทค เพื่อความยั่งยืนด้านอาหาร

Sustainability

ความยั่งยืน14 ก.พ. 2567 13:48 น.

เนสท์เล่ จับมือ NIA - ม.มหิดล - ไทยยูเนี่ยน ร่วมโครงการ SPACE-F หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทคและสตาร์ทอัพ เพื่อความยั่งยืนทางอาหาร พร้อมเปิดรับสตาร์ทอัพรุ่นที่ 5 

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อรายงานว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ประกาศลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกโครงการแรกของไทย

โดยพิธีลงนามความร่วมมือจัดขึ้นด้วยแนวคิด Collaboration for the Future of Food สะท้อนถึงปณิธานของกลุ่มพันธมิตรในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่อนาคต และร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร พร้อมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่พร้อมตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติร่วมในงาน

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก และคาดว่ามีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 136,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 973,000 ตำแหน่ง ซึ่งกระทรวงมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกระทรวง คือ การยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการจัดอันดับด้วยดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) จากอันดับที่ 43 ในปัจจุบัน สู่อันดับที่ 30 ภายในปี 2573 โดยมีปัจจัยที่โดดเด่น ได้แก่ สัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมด้านวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยภาคเอกชน และสัดส่วนการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคเอกชนไทย ซึ่งโครงการ SPACE-F เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของทางกระทรวง มุ่งเน้นการส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและสามารถนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งโครงการนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดหุ้นส่วนสำคัญอย่างหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและแนวโน้มของนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาด และการนำนวัตกรรมไปใช้ในอุตสาหกรรมจริง

นางสาวศุภมาส ยังกล่าวอีกว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ เนสท์เล่ ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของโลกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ SPACE-F นอกจากจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมของประเทศแล้ว ยังแสดงถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารในระดับสากล หวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “ชาตินวัตกรรม” ด้วยกัน

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศทำให้อุตสาหกรรมอาหารของโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบอาหารแห่งอนาคตจำเป็นต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยอาหารที่ได้จะต้องมีคุณภาพสูงขึ้นทั้งในแง่ของความปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงรสชาติของอาหาร ซึ่งกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยที่ยั่งยืนกว่า คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารเป็นผู้พัฒนา และนำไปขยายผลสู่การใช้งานในวงกว้าง ประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็น ครัวของโลก เราส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 12 ของโลก คาดการณ์เป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากความแข็งแกร่งทางด้านวัตถุดิบและทรัพยากรทางธรรมชาติ แรงงานทักษะสูง ตลอดจนจำนวนของผู้ผลิตอาหารแปรรูปที่มีมากกว่า 9,000 ราย รวมทั้งการเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประชากรกว่า 650 ล้านคน ซึ่งตลาดอาหารมีมูลค่ารวมกันกว่า 190,000 ล้าน USD

ทั้งนี้ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับในฐานะศูนย์กลางด้านเทค สตาร์ทอัพโดยอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก อันดับที่ 11 ในเอเชียแปซิฟิก และอันดับ 4 ในอาเซียน ในปี 2023 นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก อันดับ 3 ในอาเซียน ในการจัดอันดับด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ซึ่งมาความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งแหล่งกำเนิด productive การเข้าถึงแรงงานทักษะสูง เม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้นประเทศไทยจึงมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหาร ด้านกำลังการผลิต และการเข้าสู่ตลาด ได้เป็นอย่างดี

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในฐานะผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมของประเทศ ได้กำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ ภายใต้แนวคิด Create the Dot - Connect the Dot - Value Creation ผ่านกลไก Groom Grant Growth โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้าง Deep Tech Startup จำนวน 100 ราย ภายในปี 2025 และหนึ่งในสาขาเป้าหมาย คือ สาขาอุตสาหกรรมอาหาร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเล็งเห็นถึงความท้าทายที่สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงตลาด การขยายธุรกิจ และการปรับสินค้าและบริการให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการนำไปใช้จริง โครงการ SPACE-F จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มระดับสากลที่ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารที่มีเทคโนโลยีในเชิงลึกให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งสู่ตลาดเอเชีย ผ่านการเชื่อมโยงที่ปรึกษาคุณภาพทั้งจากในและต่างประเทศ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การเข้าถึงตลาด ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการเติบโตทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งหนึ่งในจุดเด่นของ SPACE-F คือ การมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง นอกจากจะช่วยให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ยังเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการช่วยพาสตาร์ทอัพเข้าสู่ตลาด สนับสนุนการขยายธุรกิจ หรือเป็นแหล่งเงินทุนให้สตาร์ทอัพ 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อนาคตของธุรกิจอาหารจะถูกพลิกโฉมโดยการนำนวัตกรรมและการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของผู้ประกอบการทั่วโลกมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารให้ก้าวหน้า ไทยยูเนี่ยน ทราบดีว่าก่อนที่จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย ดังนั้นการเริ่มโครงการ SPACE-F จึงเป็นสิ่งที่ ไทยยูเนี่ยน มุ่งมั่นและตั้งใจในการสนับสนุนสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีอาหาร เพื่อช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมารองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่อุตสาหกรรมต้องเผชิญ เพื่อก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ทางไทยยูเนี่ยนจึงได้เตรียมระบบนิเวศและความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นทางลัดที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตและประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่อุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยการวิจัยชั้นนำของประเทศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การวิจัย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงวิทยาศาสตร์การอาหาร โภชนาการ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมรองรับการวิจัยในอนาคต สำหรับโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอาหารใน SPACE-F แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยมหิดล จะใช้ความพยายามและความทุ่มเท เพื่อบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล ควบคู่ไปกับเป้าหมายของโครงการ SPACE-F ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 สิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรของมหาวิทยาลัย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของนวัตกรรมแบบเปิดที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของ SPACE-F มากยิ่งขึ้น

นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า เนสท์เล่มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F เพราะ เนสท์เล่เชื่อมั่นในการขับเคลื่อนและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารของไทยสำหรับอนาคต อีกทั้ง เนสท์เล่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรและผู้ประกอบการในโครงการ SPACE-F เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัทในการมอบนวัตกรรมอาหารที่ดีต่อผู้บริโภค และดีต่อโลก ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น และดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยอุตสาหกรรมอาหารและประเทศไทยสามารถรับมือความท้าทายด้านความยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาและความร่วมมือทางธุรกิจ ได้กล่าวถึง การเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพรุ่นที่ 5 ของโครงการ SPACE-F ว่า โครงการ SPACE-F จะเปิดรับสมัครรุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2567 และคาดหวังว่าจะมีผู้สมัครเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีสตาร์ทอัพเข้ามา 200 สตาร์ทอัพจาก 40 ประเทศทั่วโลก ส่วนปีนี้มีความคาดหวังว่าจะมีสตาร์ทอัพมาสมัครเพิ่มเป็น 250 สตาร์ทอัพ

โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F คือ สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงกลไกในการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของเงินทุน และการตลาด คือ เงินทุนภายใต้สำนักงานนวัตกรรม และสามารถเชื่อมโยงตลาดให้กับสตาร์ทอัพเข้าไปใช้บริการต่างๆ กับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ไทยยูเนี่ยน เนสท์เล่ ดีลอยท์ หรือไทยเบฟ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล และสามารถใช้สิทธินี้ในการขยายตลาด และขยายเม็ดเงินในการลงทุนได้

ในส่วนของเทรนด์ที่สำคัญในปัจจุบัน คือ ความยั่งยืน ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน ดังนั้นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น โปรตีนทางเลือก หรือการพัฒนาประสิทธิภาพในขั้นตอนการผลิต เริ่มตั้งแต่การเริ่ม automate บางระบบให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง การทำให้อาหารสามารถอยู่ในราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้น และเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ซึ่งตรงกับความตั้งใจของโครงการ SPACE-F

อีกหนึ่งหัวข้อที่สำคัญ คือ Food Waste ซึ่งในปัจจุบัน กว่า 30% ของอาหารที่ผลิตขึ้นมากลายเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย คำถามคือเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถลดขยะเหล่านี้ หรือนำขยะเหล่านี้กลับมาสร้างประโยชน์ได้ เพราะสิ่งนี้จะช่วยในอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

โดยในช่วงท้าย นายวิคเตอร์ ได้เน้นย้ำ ในเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญมาก และอยากให้มองในเรื่องของเทคโนโลยีในการจัดการ supply chain ทั้งหมด เรื่องการเกษตรเชิงฟื้นฟู จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ต้องสามารถรีไซเคิลได้.