• Future Perfect
  • Articles
  • ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Sustainability

ความยั่งยืน11 ก.พ. 2567 07:43 น.

“ความยั่งยืน” ไม่ได้อยู่แค่ในมิติของสิ่งแวดล้อม หรือการฟอกเขียว เพื่อสร้างภาพสู่สาธารณชนว่า เป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องครอบคลุมถึงมิติอื่นๆของความยั่งยืนด้วย ทั้งเรื่องสังคม, การกำกับกิจการที่ดี และการคำนึงถึงความยั่งยืนของตัวธุรกิจเอง

ในฐานะผู้นำด้านการสื่อสารมวลชนของประเทศไทย “ไทยรัฐกรุ๊ป” ไม่เพียงตระหนักถึงความรับผิดชอบในการส่งเสริมการรับรู้ และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ได้ลุกขึ้นจัดทำ “Thairath Sustainability Report 2024” เป็นครั้งแรก เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของ “ไทยรัฐกรุ๊ป” และกลุ่มพันธมิตร ที่ตั้งใจผลักดันเรื่องความยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สู่การลงมือทำเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง

ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ “จิตสุภา วัชรพล” บอกเล่าว่า การจัดทำ “Thairath Sustainability Report 2024” เป็นความพยายามในฐานะสื่อที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตแค่การรายงานข่าว แต่รวมไปถึงการนำสังคมไปสู่องค์ความรู้และอนาคตที่ดีขึ้น ผ่านการทำความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็น การเจาะข้อมูลเชิงลึก หรือการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำทางความคิดหลากหลายภาคส่วนของประเทศ ซึ่งมุมมองเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจโจทย์ของความยั่งยืนไปจนถึงความซับซ้อนและความยากลำบากในการลงมือทำเพื่อนำไปต่อยอด

สิ่งที่แต่ละองค์กรในหนังสือเล่มนี้ได้ลงมือทำ จะเห็นได้ว่าไม่มีใครเลยที่จะทำแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยละเลยมิติอื่นๆของความยั่งยืน ทั้งเรื่องสังคม, การกำกับกิจการที่ดี และการคำนึงถึงความยั่งยืนของตัวธุรกิจเอง คำว่า “ความยั่งยืน” ของไทยรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่เราเพิ่งมาใส่ใจ แต่เป็นทั้งกลยุทธ์ในการเติบโต และเป็นค่านิยมหลักขององค์กร ที่ยึดถือเสมอมา ตัวอย่างชัดที่แสดงถึงความปรารถนาในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม คือการก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐ และการสนับสนุนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 111 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2512 ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสร้างความยั่งยืนในมิติทางสังคม เพราะเชื่อว่าการเข้าถึงการศึกษา ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียนเอง แต่ยังส่งผลกระทบที่ยั่งยืนต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชนของพวกเขาด้วย

ด้าน “นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน” เน้นย้ำถึงการสร้างรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน สู่อนาคตที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังว่า โลกกำลังเผชิญปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในหลายด้าน ซึ่งถือเป็นจุดหักเหสำคัญ ไม่เฉพาะด้านสภาพภูมิอากาศ แต่รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นประเด็นที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ ในด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยดำเนินการหลายด้านเพื่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ BCG model (Bio Circular and Green Economy) แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังส่งเสริมกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน ผ่านการออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยสามารถระดมเงินได้มากกว่า 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆด้านสิ่งแวดล้อม และคาดว่าจะสามารถระดมเพิ่มเติมอีก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในตลาดการเงินที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นการลงทุนเพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืน ในระดับภูมิภาประเทศไทยส่งเสริมความร่วมมือแบบพหุภาคีนิยมที่มีประสิทธิภาพ (Effective Multilateralism) เพื่อให้แต่ละประเทศสร้างความร่วมมือ และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกัน โดยไทยอาสาทำหน้าที่ผู้ประสานงานของอาเซียนเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้า ตาม “ASEAN Community Vision 2045” คือ

1.สร้างโรดแม็ปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวควบคู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน 2.สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาห กรรมสีเขียว และ 3.ส่งเสริมโอกาสการลงทุนใหม่ๆที่สนับสนุนความยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก ในมิติของเศรษฐกิจสังคมไทย หลังจากวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยฟื้นตัวในรูปแบบ K กลุ่มรายได้น้อยเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัวมากกว่ากลุ่มรายได้สูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งกลุ่มเกษตรกร และ SMEs โดยเริ่มต้นที่การแก้ปัญหาหนี้สินผ่านการพักหนี้เกษตร และหนี้ SMEs ที่มีรหัสสถานะบัญชี 21 เพื่อเปิดโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายกำจัดความยากจนให้หมดจากประเทศไทยภายในปี 2573 ด้วยการสร้างงานที่มีรายได้สูงในระดับฐานราก, ส่งเสริมการกระจายตัวออกจากเขตเมืองไปยังเขตชนบท และลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ธุรกิจธนาคารและการเงินจะมีบทบาทอย่างไรในการสร้างแรงขับเคลื่อนทางบวกให้แก่สังคมไทย “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ชี้ว่า เราให้ความสำคัญกับผลกำไรทั้งสามด้านคือ People, Planet และ Profit โดยเชื่อว่าหากดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลัก 3P จะสามารถบรรลุสองธงชัยสูงสุด คือการขจัดความยากจน และการลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทย

โดยเฉพาะในแกน “People” การให้ความช่วยเหลือสังคม ในฐานะที่เป็นธนาคารของรัฐ ออมสินมีโครงการช่วยเหลือสังคมอยู่มากมายทั่วประเทศ เช่น การฝึกอาชีพ และการสนับสนุนการศึกษา โดยมุ่งใช้ผลกำไรจากธนาคารพาณิชย์นำมาสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มธนาคารเพื่อสังคมของเรา หลายคนอาจคิดว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนให้องค์กร แต่กลายเป็นว่าการนำกำไรจากธุรกิจใหญ่มาช่วยสนับสนุนธุรกิจเล็กถือเป็นการเพิ่มกำไรภาพรวมให้ธนาคารด้วยซ้ำ ทุกครั้งที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการธนาคาร จึงเป็นการช่วยสังคมไปในตัวด้วย เมื่อเราตั้งเป้าว่าจะทำเพื่อสังคม จึงศึกษาทุกความเป็นไปได้เพื่อเริ่มลองทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น การจัดตั้งธุรกิจ Non-Bank เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถขอสินเชื่อผ่านธนาคารทั่วไปได้

ในฐานะหัวเรือใหญ่ของแสนสิริ “อภิชาติ จูตระกูล” ชวนเปลี่ยนโลก สร้าง “Green Ecosystem” สู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนร่วมกัน โดยชี้ว่า สิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่ใช่แค่จำนวนตัวเลขของเป้าหมายอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเข้าไปดูแลรายละเอียดทุกด้านครบทุกมิติของความยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนตามหลัก ESG (Environment, Social and Governance) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) แสนสิริประกาศพันธกิจร่วมกู้วิกฤติภาวะโลกร้อน

โดยอาสาเป็นผู้นำในการสร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯรายแรกของไทยที่ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 มีการนำนวัตกรรมบ้านสีเขียวมาใช้นำร่องในโครงการเศรษฐสิริ 11 โครงการใหม่ สามารถลดการใช้พลังงานได้สูงสุด 18% ต่อ 1 ครัวเรือน ภายใน 1 ปี รวมทั้งสร้างสังคมที่ดีเพื่อการอยู่ร่วมกันที่ดีขึ้น โดยให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เช่น โครงการ “ZERO DROPOUT” เด็กทุกคนต้องได้เรียน นำร่องแห่งแรกที่จังหวัดราชบุรี พร้อมกับการสอดแทรกไลฟ์สไตล์ความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในทุกๆวันของการใช้ชีวิต เช่น รณรงค์ให้พนักงานและลูกบ้านคัดแยกขยะให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสังคมรอบรั้วบ้านที่มีจิตสำนึก และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ถามว่าท่าอากาศยานแห่งความยั่งยืนคืออะไร “ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลกคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่ได้เป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน อยากให้ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการในสนามบินของ AOT มั่นใจว่ากำลังใช้บริการกับองค์กรที่ให้ความสำคัญและใส่ใจในทุกมิติของความยั่งยืน ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างสูญเปล่า ไม่ก่อให้เป็นความเดือดร้อนของใคร เริ่มจากด้านสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2570 เราได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero Target สำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก Grid ให้เป็นศูนย์ และขณะนี้มีการผลิตไฟฟ้าแบบ Off-grid ใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายถึง 30% พร้อมสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยกำลังศึกษาเกี่ยวกับ “Sustainable Aviation Fuels” การผลิตน้ำมันอากาศยานจากน้ำมันพืช ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมมาก

เมื่อพูดถึงธุรกิจขนส่งหลายคนอาจนึกถึงกองพัสดุมหึมาที่สร้างขยะให้กับโลกมหาศาล “ไปรษณีย์ไทย” ภายใต้การนำของ “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” เล่าถึงพันธกิจการบริการเพื่อสังคมไทยโดยไม่ทำร้ายโลกว่า เราเน้นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลักให้ฝังลงไปในดีเอ็นเอของเรา ภายใต้วิสัยทัศน์ “Delivering Sustainable Growth through Postal Network” และวัฒนธรรมองค์กร “Sustainable POST” โดย “P” Professional เน้นความเป็นมืออาชีพ, “O” Over Deliver บริการให้เหนือความคาดหวัง, “S” Speed บริการด้วยความรวดเร็วและ “T” Trendy ตอบสนองความต้องการในยุคปัจจุบัน นอกเหนือจากโลจิสติกส์แบบเดิม เราใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อสร้างบิสซิเนสโมเดลใหม่มาสนองให้ทันความต้องการของคนยุคใหม่ และครบทุกมิติของความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักคือให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและสะดวกสบาย พร้อมเติบโตไปกับสังคมไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือกเพียงเพื่อตัวเราเองอีกต่อไป แต่ถือเป็นมรดกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า และเต็มไปด้วยความหวัง.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่