- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ หรือ TGO เปิดตัว CFO Platform แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร
- การพัฒนาการรายงาน CFO ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม จะยกระดับไปสู่การรับรอง Net Zero ในระดับองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้เราเคยอธิบายไปแล้วว่า "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) คืออะไร? และหลายคนกำลังให้ความสำคัญอย่างไร ซึ่ง "คาร์บอนเครดิต" คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บ ได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ "Project Base" หรือในระดับโครงการ เป็นกลไก "ภาคสมัครใจ" มีหน่วยเป็น "ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า" เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ
กรณีของประเทศไทย คาร์บอนเครดิต คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ T-VER ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเมื่อได้รับรองผลการลดก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนได้
ซึ่งหลายคนก็มีคำถามว่า แล้วจะวัดผลอย่างไร?
ล่าสุด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ หรือ TGO ได้เปิดตัว แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization Platform: CFO Platform) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และส่งเสริมให้องค์กรมีการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ระดับองค์กร รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูล มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินปริมาณการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร นำผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางลดการใช้พลังงาน และลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า ระบบการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร หรือ CFO จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่กำหนดเป้าหมายไว้ คือ แนวทางการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ภาคเอกชน ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศไทย ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions ในอนาคต การพัฒนาการรายงาน CFO ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มนั้นจะยกระดับไปสู่การรับรอง Net Zero ในระดับองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรภาคธุรกิจ สามารถบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และต่อเนื่อง โดยการกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาในการดำเนินการได้อย่างชัดเจน
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรที่มีการประเมินและผ่านการรับรองจาก TGO แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,033 องค์กร ตลอดจนสามารถใช้ข้อมูล CFO รายงานต่อสาธารณะ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประเมิน CFO ได้สะดวกยิ่งขึ้น
การใช้งาน CFO Platform
CFO Platform เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น แต่เนื่องจากเป็นปีแรกที่เริ่มการทดลองใช้แพลตฟอร์มนี้ ทาง อบก. จะได้เก็บฟีดแบ็กเพื่อพัฒนาระบบต่อไป
มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
- ลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ https://cfo.tgo.or.th/
- กรอกข้อมูลองค์กร
- จัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- สรุปรายงานและการทวนสอบ