• Future Perfect
  • Articles
  • เตรียมรับมือสถานการณ์ "เอลนีโญ" ปี 2567 ไทยเจอวิกฤติ ร้อนขึ้น แล้งนาน

เตรียมรับมือสถานการณ์ "เอลนีโญ" ปี 2567 ไทยเจอวิกฤติ ร้อนขึ้น แล้งนาน

Sustainability

ความยั่งยืน11 ธ.ค. 2566 20:30 น.

เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเฝ้าระวัง และเตรียมรับมือสำหรับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่ในตอนนี้ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

และยิ่งในปี 2567 มีการคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะก่อให้เกิด "ความแห้งแล้ง" อันอาจกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เป็นภารกิจสำคัญที่ทางภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องหาทางออกในการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

"เอลนีโญ" คืออะไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง

คำว่า เอลนีโญ (el niño) หมายถึง เด็กชายเล็กๆ แต่หากเขียนนำด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ เอลนีโญ (El Niño) จะหมายถึง ทารกพระเยซูคริสต์ สำหรับชาวเปรูจะมีความหมายเพิ่มเติมคือ กระแสน้ำอุ่นที่ไหลเลียบชายฝั่งเปรูลงไปทางใต้ทุกๆ 2-3 ปี หรือกว่านั้น โดยได้ตั้งชื่อกระแสน้ำอุ่นนี้ว่า เอลนีโญ ก่อนเริ่มศตวรรษที่ 20 

แม้ว่าที่ผ่านมา เอลนีโญ จะมีความหมายมากมาย แต่ความหมายอันเป็นที่รับรู้ และเข้าใจกันโดยทั่วไปในปัจจุบันคือ การอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของน้ำทะเลบริเวณตอนกลาง และตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ซึ่งเกิดจากการอ่อนกำลังลงของลมค้า (trade wind) โดยลักษณะปกติของเอลนีโญที่จะปรากฏให้เห็น ได้แก่

  • การอุ่นขึ้นผิดปกติของผิวน้ำทะเล
  • กระแสน้ำอุ่นที่ไหลลงทางใต้ตามชายฝั่งประเทศเปรู
  • เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นทางด้านตะวันออก และตอนกลางของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร
  • ปรากฏตามชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ และเปรูเหนือ (บางครั้งประเทศชิลี)
  • เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเล
  • เกิดร่วมกับการอ่อนกำลังลงของลมค้าที่พัดไปทางทิศตะวันตกบริเวณแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร
  • เวียนเกิดซ้ำแต่ช่วงเวลาไม่สม่ำเสมอ
  • เกิดแต่ละครั้งนาน 12-18 เดือน

ผลกระทบของ "เอลนีโญ" ต่อปริมาณฝน และอุณหภูมิในประเทศไทย

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยผลการศึกษาสภาวะฝน และอุณหภูมิของประเทศไทยในปีเอลนีโญ โดยใช้วิธีวิเคราะห์ค่า composite percentile ของปริมาณฝน และ composite standardized ของอุณหภูมิในปีเอลนีโญ จากข้อมูลปริมาณฝน และอุณหภูมิรายเดือน ในช่วงเวลา 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2494 ถึง 2543 พบว่า ในปีเอลนีโญปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่ต่ำกว่าปกติ (rainfall Index น้อยกว่า 50) โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูฝน และพบว่าเอลนีโญขนาดปานกลางถึงรุนแรง มีผลกระทบทำให้ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติมากขึ้น

สำหรับอุณหภูมิ ปรากฏว่าสูงกว่าปกติทุกฤดูในปีเอลนีโญ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูฝน และสูงกว่าปกติมากขึ้นในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดปานกลางถึงรุนแรง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าในช่วงกลาง และปลายฤดูฝน ไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับสภาวะฝนในปีเอลนีโญได้ชัดเจน

นั่นคือปริมาณฝนของประเทศไทยมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสูงกว่าปกติ และต่ำกว่าปกติ หรืออาจกล่าวได้ว่าช่วงกลาง และปลายฤดูฝน เป็นระยะที่เอลนีโญมีผลกระทบต่อปริมาณฝนของประเทศไทยไม่ชัดเจน จากผลการศึกษาพอสรุปได้กว้างๆ ว่า หากเกิดเอลนีโญ ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อน และต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญเผย ตั้งแต่ "คริสต์มาส" ถึงปีใหม่หน้า อุณหภูมิจะร้อนขึ้น

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาระบุว่า ช่วงวันที่ที่ 9-15 ธันวาคม 2566 สภาพอากาศจะร้อนกว่าปกติ จากผลพวงจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีกำลังแรงในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีหน้า และแม้ในช่วง 18-25 ธันวาคม อากาศเย็นลงมาชั่วคราวจากความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่ แต่จะไม่หนาวเหมือนช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และจะไม่หนาวเหมือนในอดีตอีกด้วย

นอกจากนี้ตั้งแต่วันคริสต์มาสปีนี้จนถึงปีใหม่ ตลอดทั้งเดือนมกราคม ปี 2567 สภาพอากาศจะร้อนขึ้นมาอีก และจะร้อนที่สุดเดือนเมษายน ทั้งร้อน และแล้ง ทั้งฝุ่น PM 2.5 ทั้งไฟป่า ต้องเตรียมรับมือกันให้พร้อม โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพตามที่ COP28 มีการหารือกัน ชาวนา เกษตรกร วางแผนการใช้น้ำ ชุมชนเมืองเตรียมจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

9 มาตรการรองรับ "ฤดูแล้ง" ปี 2566 และ 2567

สำหรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยแผนงาน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านน้ำต้นทุน (Supply) ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand) และ ด้านการบริหารจัดการ (Management) รวม 9 มาตรการ

เช่น การเฝ้าระวัง และเตรียมการจัดการแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังการขาดน้ำ ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูก บริการจัดการให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำ ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด สร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัด และลดการสูญเสียน้ำ

ขณะที่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ก็มีแผนงานที่เกี่ยวข้องหลายด้าน อาทิ การซ่อม และปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อรองรับภัยแล้ง และการเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร.

 

อ้างอิงข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา, รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์