• Future Perfect
  • Articles
  • "เดอะ สตรีท รัชดา" เดินหน้าจัดการปัญหาขยะ ตั้งเป้าหมายสู่ Zero Waste to landfill

"เดอะ สตรีท รัชดา" เดินหน้าจัดการปัญหาขยะ ตั้งเป้าหมายสู่ Zero Waste to landfill

Sustainability

ความยั่งยืน23 พ.ย. 2566 14:17 น.

"เดอะ สตรีท รัชดา" เดินหน้าจัดการปัญหาขยะ จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายผล-ต่อยอดการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายพงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์การค้าฯ ได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี มีการรองรับและมีการดำเนินการจัดการขยะมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ได้เคยจัดกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่โดยรอบ และนำมาคัดแยกประเภทขยะมาแล้ว

ต่อมา ได้เข้าร่วม โครงการ Care the Whale ซึ่งเป็นโครงการร่วมภาคสังคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในย่านรัชดา เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุล มีแนวคิดและแนวปฏิบัติตรงกันกับภารกิจที่ศูนย์การค้าฯ ดำเนินการอยู่ นั่นคือความตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ในการเพิ่มขยะรีไซเคิล ลดขยะทั่วไป และนำขยะย่อยสลายไปใช้ประโยชน์ต่อ (Zero Waste) เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกของคนในสังคมต่อเรื่องนี้ ต้องมีการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน จะทำให้สิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้น เห็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วกว่าการลงมือทำแต่เพียงลำพัง

เพราะขยะคือประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่หลายองค์กรทั่วโลกให้ความสนใจ และมีเป้าหมายร่วมกันในการลดผลกระทบจากปัญหาขยะ การจัดการขยะจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน การคัดแยกขยะนอกจากจะทำให้ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดทิ้งลดลงแล้ว ยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการช่วยลดปัญหาโลกร้อนด้วย

ศูนย์การค้าฯ จึงเริ่มจากการให้ความรู้ร้านค้าผู้เช่า ผู้มาใช้บริการ ตลอดจนประชาชนที่พำนักอาศัย หรือทำงานในพื้นที่โดยรอบ ให้รู้จักการทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ด้วยการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับศูนย์การค้าฯ ได้แล้วนั้น ในอนาคตยังมองไปถึงการขยายผลไปสู่เป้าหมาย Zero Waste to landfill ในย่านถนนรัชดาภิเษกอีกด้วย พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานการจัดการขยะอย่างชัดเจน โดยพนักงานแต่ละฝ่ายจะมีส่วนร่วม ที่ไม่เพียงแค่จัดการขยะภายในศูนย์การค้าฯ เท่านั้น แต่ยังมีการขยายวงออกไปสู่ชุมชนโดยรอบ และยังมีการต่อยอดโครงการกับหน่วยงานอื่นๆ อีกถึง 8 โครงการ ด้วยกัน ได้แก่

1. โครงการแยกก่อนทิ้ง ไม่เทรวม (เก็บขยะตั้งแต่ต้นทาง) ร่วมมือกับสำนักงานเขตดินแดง จัดส่งนักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการ อบรมให้ความรู้เรื่องสุขาภิบาลอาหารและการคัดแยกขยะให้ร้านค้า รณรงค์ให้คัดแยกขยะตามร้านค้า รับขยะตั้งแต่ต้นทาง เน้นเศษอาหารและขยะกำพร้า (ขยะที่ขายไม่ได้) ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถึงปัจจุบัน สามารถคัดแยกขยะได้น้ำหนักรวม 14,250 กก.

2. โครงการธนาคารขยะ จัดให้ร้านค้าภายในศูนย์การค้าฯ นำขยะ 4 ประเภทคือ กระดาษ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว อะลูมิเนียม มาแลกเป็นคะแนนสะสม และนำไปใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าของทางร้านค้า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยมีร้านค้านำขยะมาแลกแล้ว 25,084 คะแนน และนำคะแนนมาแลกเป็นค่าไฟฟ้าแล้ว 9,148 คะแนน ในอนาคตจะเพิ่มประเภทขยะที่จะรับแลกอีก คือเศษอาหารและน้ำมันทอดอาหาร

3. โครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด รับวัสดุรีไซเคิลจากโครงการธนาคารขยะ เริ่มโครงการมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการส่งมอบวัสดุรีไซเคิลไปแล้ว 15,569 กก. 

4. โครงการวน ร่วมกับบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ตั้งจุดรับบริจาคพลาสติกชนิดอ่อน ที่สะอาดและแห้ง

5. โครงการขวดแก้วล่องหน ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) จัดตั้งจุดรับขวดแก้วเพื่อแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ของโอสถสภา พร้อมทั้งสมทบผลิตภัณฑ์มูลค่าตามปริมาณขยะที่ได้รับคือ 1 บาท ต่อขยะขวดแก้ว 1 กก. สนับสนุนเข้าโครงการ Care the Whale

6. โครงการเหลือ-ขอ ร่วมกับมูลนิธินกขมิ้น เปิดรับวัสดุเหลือใช้ที่ยังสามารถใช้งานได้ ส่งต่อโครงการเหลือ-ขอ ของมูลนิธินกขมิ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน ได้รวบรวมวัสดุเหลือใช้ส่งมอบไปแล้ว 9,560 กก.

7. โครงการแยกก่อนทิ้ง ไม่เทรวม (เก็บขยะชุมชน) เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการแยกก่อนทิ้ง ขยายการจัดเก็บขยะเศษอาหารของชุมชนรอบข้างศูนย์การค้าฯ มุ่งเน้นให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ถึงปัจจุบัน ได้ขยะชุมชนรวม 2,609 กก.

8. โครงการขยะกำพร้า ร่วมกับ บริษัท เอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด เปิดรับขยะกำพร้าจากบุคคลทั่วไป ร้านค้า ลูกค้า และชุมชนรอบข้างศูนย์การค้าฯ เพื่อส่งต่อขยะกำพร้าไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน ตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึงปัจจุบัน ได้ส่งมอบขยะกำพร้าไปแล้ว 49,140 กก. และในอนาคตยังมีแผนจะรับบริจาคขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงรับบริจาคยาที่ยังไม่หมดอายุเพื่อส่งต่อ รพ. ที่ห่างไกลด้วย

"เริ่มแรกที่ศูนย์การค้าฯ ทำโครงการเกี่ยวกับขยะเรายังไม่ได้ทำอะไรใหญ่โต แต่ทำเพราะมองเห็นว่ามีความสำคัญและต้องกำจัดปัญหานี้ให้ได้ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโครงการ Care the Whale ขึ้นมา และได้เชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก เรื่องนี้ได้จุดประกายให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมากขึ้น และทำให้อยากทำอะไรที่ต่อยอดในเรื่องนี้ไปอีกเรื่อยๆ อยากจะฝากถึงธุรกิจอื่นๆ หากมีโอกาสก็อยากให้เริ่มลงมือทำ หากทุกธุรกิจร่วมมือร่วมใจกันจัดการปัญหาขยะอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปริมาณขยะลดน้อยลงได้ในที่สุด" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา ยังได้รับใบประกาศเกียรติคุณ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme LESS) ในงาน "Climate Care Forum 2023" Time To REDUCE ลด-เพื่อ-โลก ซึ่งจัดขึ้นโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เนื่องในการเป็นสมาชิก Climate Care Platform องค์กรที่ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น โดยศูนย์การค้าฯ ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมแล้วกว่า 255,118 kgCO2e.