วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมมือกับ สถาบันคาร์บอนฯ เปิดตัว "CFiD" แอปพลิเคชันลดโลกร้อน ใช้ชีวิตแบบไม่รู้สึกผิดต่อโลก
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนในสังคมโลกต้องปรับตัว เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญของปัญหา และต้องการให้คนไทยมีส่วนร่วมต่อการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จึงร่วมมือกับสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) เปิดตัวแอปพลิเคชัน CFiD (Carbon Footprint in Daily life) ภายใต้ความร่วมมือกับ บริษัท อโยเดีย จำกัด เพื่อให้บุคคลที่สนใจสามารถบันทึก และติดตามคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมการปรับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมประจำวัน ที่เชื่อมโยงไปยังการลดคาร์ บอนฟุตพริ้นท์องค์กร และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้จัดกิจกรรมเปิดตัว แนะนำแอปพลิเคชัน Carbon Footprint in Daily life หรือ CFiD
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน กล่าวว่า แอปพลิเคชัน CFiD จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของทุกคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเดินหน้าไปยังเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ในการทำให้ทุกคนสามารถเห็นข้อมูลที่จับต้องได้ ตรวจสอบได้ และเมื่อรู้ว่าการปรับพฤติกรรมอย่างไรที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตัวเอง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องดำเนินการในเร็ววัน ก่อนที่ผลเหล่านี้จะสะท้อนไปยังคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศในท้ายที่สุด ซึ่งการใช้งานแอปพลิเคชันนี้ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยโลก โดยเริ่มต้นที่ตัวเราในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลชัดเจน
ด้าน นายอานนท์ ตั้งสถิตพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อโยเดีย จำกัด ได้กล่าวถึงที่มาของการร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน CFiD ว่า เราอยู่ในยุคที่ทุกคนพูดถึง Data analytics หรือก็คือ Data driven ที่เรานำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และตัดสินใจ แต่เรื่องของการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ กลับพบว่าเรายังไม่มีข้อมูลที่จะนำเข้ามาวิเคราะห์ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเก็บข้อมูลเพื่อสร้าง Self-awareness (การตระหนักรู้ตนเอง) ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่จะทำอย่างไรที่วิธีการเก็บข้อมูลนี้จะไม่สร้างภาระให้กับผู้ใช้งานจนเกินไป จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชัน CFiD ที่มีระบบ Automation ในบางส่วนเพื่อลดความยุ่งยากในการใช้งาน และผู้ใช้งานก็สามารถใช้งานเพื่อพิจารณาการปรับพฤติกรรมที่สามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้
แอปพลิเคชัน CFiD ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย สามารถบันทึกกิจกรรมที่ทำประจำได้โดยไม่ต้องบันทึกใหม่ทุกวัน เช่น การเดินทางไปยังที่ทำงาน การใช้ไฟฟ้า เพื่อความสะดวก และประหยัดเวลาในการบันทึกข้อมูล
นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มกิจกรรมที่ชดเชย (offset) การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่น การปลูกต้นไม้ และแสดงผลภาพรวมการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมต่างๆ (Total Carbon Footprint emission) พร้อมสถิติการเปลี่ยนแปลง และเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ เพื่อสร้างการปรับตัวในชีวิตประจำวันสำหรับการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคล อีกทั้งยังมีภารกิจเพื่อการสะสม Coin จากการอัปเดตข้อมูลกิจกรรมที่ลด และชดเชยคาร์บอนสำหรับนำไปแลกเป็นของรางวัลได้
ซึ่งคนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานได้ฟรี ทั้งระบบ iOS และ Android.