- การประชุม COP28 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566 ที่รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีตัวแทนจากประเทศสมาชิก 197 ประเทศเข้าร่วม
- ไทยและประชาคมโลก พร้อมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายปกป้องอุณหภูมิของโลก ไม่ให้เกิน 1.5 - 2 องศาฯ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จะมุ่งสู่ภาวะโลกเดือด
- ประเด็นการเจรจาที่สำคัญ การประชุม High-level Segment ที่จะนำโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
การประชุม COP28 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566 ที่รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยในการประชุมจะมีผู้แทนจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ องค์กรอิสระ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิก 197 ประเทศ เข้าร่วม
ขณะที่การประชุม COP28 ในปีนี้ ไทยจะร่วมกับประชาคมโลกขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเดียวกันที่จะปกป้องอุณหภูมิของโลก ไม่ให้เกิน 1.5 - 2 องศาฯ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จะมุ่งสู่ภาวะโลกเดือด
ซึ่งในปีนี้ ประเทศไทย นำโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย จะเข้าร่วมการประชุม High-level Segment ระหว่างวันที่ 9 - 10 ธันวาคม 2566 โดยมีประเด็นการเจรจาที่สำคัญ ได้แก่
- การประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST)
- การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Goal on Adaptation: GGA) ที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเอลนีโญ ลานีญา การเกิดไฟป่าต่างๆ ฯลฯ
- เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้
- การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Work Programme) ให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส
- กองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ประเทศไทย จะนำผลสำเร็จของการประชุม TCAC 2023 หรือการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เสนอต่อที่ประชุม COP28 ใน 4 ประเด็นหลัก คือ
- การร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทยทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่
- เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
- การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ อีกทั้ง ประเทศไทยยังได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ณ Thailand Pavilion ในการจัดประชุม COP28 เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยสู่ประชาคมโลก อีกด้วย
ความคาดหวังต่อการประชุม COP28
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม เผยว่า ปัจจุบันเรามีร่างแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ขณะที่คณะเจรจาเอง ก็จะไปศึกษาการปฏิบัติของประเทศสมาชิก หรือประสบการณ์ต่างๆ ที่ต่างประเทศมี พร้อมเปิดช่องให้ความร่วมมือจากต่างประเทศเข้ามาถึงประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ไทยเองได้รับความช่วยเหลือจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทั้งในส่วนของเทคโนโลยี กองทุนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับพื้นที่
ซึ่งในระดับของความช่วยเหลือจากต่างประเทศนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะไปชักชวน หรือพูดคุยในเวทีต่างๆ เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ในปี 2030
นอกจากเชิงนโยบายแล้ว ภาคประชาชนเอง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเครือข่ายมากมาย ทำงานอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด เราจะชูเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นหลัก แต่ก็ยังดูแลงานสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย
จากการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC 2023) เราได้เชิญภาคประชาสังคม ภาคเยาวชน ภาคการศึกษา มาพูดคุยถึงความต้องการต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต รวมถึงสะท้อนไปยังเวที COP28 ด้วยว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องพูด หรือเน้นย้ำอะไรบนเวทีโลกบ้าง
ข้อเสนอจาก TCAC 2023 สู่เวที COP28
ประเทศไทยจะนำผลการประชุม TCAC 2023 ที่เป็นประโยชน์ ความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ไปเสนอให้ประเทศต่างๆ บนเวที COP28 ทราบถึงเป้าหมายของประเทศไทย ในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือนโยบายต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เราเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา