ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโลกได้หมุนมาถึงยุคที่คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตในแบบที่พวกเขาใฝ่ฝัน ที่น่าสนใจคือ “แรงบันดาลใจ หรือ Passion” ของคนรุ่นใหม่นั้น ไม่ใช่แค่การให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันเป็นรูปธรรมของการพาโลกไปสู่ยุคใหม่ แต่ยังรวมไปถึงความตระหนักรู้ในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และการมุ่งหวังจะสร้างโลกที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นจริง โดยในทุกๆ ปี จะมีหนึ่งเวทีที่กล่าวได้ว่าเป็นการรวมตัวของผู้นำรุ่นใหม่มากที่สุดในโลก เป็นพื้นที่แห่งการส่งต่อแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนแนวคิดแก้วิกฤตต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะนำไปสู่การสานพลังเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เวทีดังกล่าวมีชื่อว่า “One Young World” การประชุมสุดยอดผู้นำคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อว่าโลกเราสามารถดีกว่านี้ได้
One Young World คือเวทีการประชุมระดับโลกที่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดล้วนเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18-30 ปี รวม 2,000 คน จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเหล่าบุคคลต้นแบบ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ และผู้นำประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของพลังคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกภาคส่วนจะมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและหาทางออกให้กับโลก โดยในปีนี้เวที One Young World ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-5 ตุลาคม พ.ศ.2566 ณ เมืองเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์เหนือ โดย 5 ประเด็นที่เป็นหัวใจหลักในการประชุมครั้งนี้ได้แก่ 1. สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) 2. วิกฤตอาหาร (Food Crisis) 3. การศึกษา (Education) 4. สันติภาพและความปรองดอง (Peace and Reconciliation) และ 5. สุขภาพจิต (Mental Health) ซึ่งไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตัวแทนเข้าร่วมงานเสมอมา อย่างไรก็ตามหากเป็นการเข้าร่วมในฐานะองค์กร “เครือซีพี” คือหนึ่งในภาคเอกชนไทยที่ให้ความสำคัญกับเวที One Young World เป็นอย่างยิ่ง จากการที่บริษัทมีนโยบายให้การสนับสนุนพลังของคนรุ่นใหม่มาโดยตลอด ทั้งภายในองค์กรและการขับเคลื่อนสู่สังคมภายนอก สะท้อนชัดผ่านการส่งตัวแทนเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน โดยในครั้งนี้ตัวแทนทั้ง 20 คนจากบริษัทในเครือก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังในงาน โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นต่างๆ ตลอดทั้ง 7 วัน
ไทยรัฐออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับสองตัวแทนจากเครือซีพีฯ ที่บินลัดฟ้าไปร่วมถกแนวคิดในสองประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ได้แก่ เรื่องของ วิกฤตอาหาร และ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่นับว่าเป็นประเด็นสำคัญในช่วงรอยต่อปัจจุบันสู่อนาคต และจากการพูดคุยครั้งนี้ก็ทำให้เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนถึงแรงบันดาลใจที่เอ่อล้นของคนรุ่นใหม่จากเครือซีพีฯ ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกด้วยสองมือ
“วิกฤตอาหาร” ภัยใกล้ตัวที่อาจลุกลามเกินคาด
ประเทศไทยกับคำว่าวิกฤตอาหารอาจดูเป็นอะไรที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่เพราะเราทุกคนต่างมีภาพจำว่าไทยคือแผ่นดินแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ผลผลิตมากมายหลากหลาย ดูไม่น่ามีโอกาสจะเกิดวิกฤตได้ อย่างไรก็ตาม หากมองลึกลงไปจะพบว่าความเชื่อที่สืบทอดมานั้นอาจไม่จริงทั้งหมด และสิ่งนี้ก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ กรวิชญ์ อินทวงษ์ หรือ “เต้” ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากโลตัส เริ่มตระหนักความสำคัญของวิกฤตอาหาร และเล็งเห็นว่าเรื่องนี้อาจอันตรายกว่าที่คิดหากไม่เร่งแก้ไข
“ต้องย้อนกลับไปประมาณ 2-3 ปี ที่แล้ว ตอนนั้นผมมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องดาต้าให้กับทางกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ ผมก็ได้เห็นข้อมูลดาต้าของการผลิตของประเทศไทย แม้เราจะเป็นประเทศส่งออกที่สำคัญของโลก แต่สิ่งที่ผมเห็นจากดาต้ากลายเป็นว่าผลผลิตที่เราทำได้แต่ละปีลดลงเรื่อยๆ จากที่จริงๆ เราได้ข่าวว่าผลผลิตล้นตลาดมากมาย แต่จริงๆ แล้วมันลดลง จากนั้นผมก็สนใจว่าทำไมมันลดลง แล้วก็ไปไล่อ่านข้อมูล แล้วก็พบว่ามันก็เป็นเรื่องของ Food Crisis ซึ่งจริงๆ มันก็แบ่งออกเป็นได้หลายหัวข้อ อย่างเช่น แง่ของผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง แง่ของคุณภาพก็คือสารอาหารมันลดลง แง่ของ Food Waste รวมไปถึงราคาที่มันสูงขึ้น ทุกอย่างล้วนกระทบ Supply Chain และกระทบผู้บริโภคมากขึ้นทีละนิด เราอาจจะไม่เห็นความสำคัญตอนนี้ เพราะเราเป็นประเทศผู้ผลิตทางเกษตร แต่ในอนาคตล่ะ อีกห้าปี สิบปี เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปจริงๆ หรือ”
กรวิชญ์ อินทวงษ์ เล่าให้เราฟังต่อว่าปัญหาวิกฤตอาหารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากหลากหลายปัจจัย ซึ่งในระดับนานาชาติอาจจะยังหาทางออกได้ยาก แต่ในประเทศไทยเรามีแง่มุมที่สามารถทำได้เลยนั่นคือการจัดการอาหารที่เหลือทิ้ง หรือ Food Waste ซึ่งเครือซีพี ในฐานะองค์กรที่ผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมี Food Waste ตลอดกระบวนการ โดยเฉพาะการเป็นรีเทล เช่น โลตัสก็นับเป็นธุรกิจที่มี Food Waste จำนวนมากอยู่แล้ว บริษัทฯ จึงพยายามมองหาวิธีบริหารจัดการวัตถุดิบที่ยังมีคุณภาพดีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้กรวิชญ์และทีมยังมองไปถึงก้าวต่อไป คือการวางแผนว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่เกิด Waste หรือมีให้น้อยที่สุด ด้วยการมองหาวิธีการสั่งสินค้าหรือผลิตให้พอดีกับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดทั้งต้นทุนและช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาหารเหลือทิ้งไปพร้อมกัน
กรวิชญ์ อินทวงษ์ ได้พกพาเอาแนวคิดและกระบวนการปฏิบัติจากโลตัสไปยังเมืองเบลฟาสต์เพื่อร่วมแชร์ในงาน One Young World 2023 พร้อมแลกเปลี่ยนในเวที Discussion ในประเด็น Food Crisis ร่วมกับคนรุ่นใหม่จากนานาประเทศ โดยสิ่งที่ กรวิชญ์ สนใจเป็นพิเศษ คือการเก็บเกี่ยวเอาไอเดียหรือโมเดลการจัดการที่ประสบความสำเร็จในรูปแบบต่างๆ กลับมาไทยเพื่อมองหาแนวทางที่จะประยุกต์ใช้กับบ้านเราอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ สองแนวทางที่เจ้าตัวเชื่อว่าจะช่วยสังคมไทยได้มาก ได้แก่ สตาร์ทอัพห้องเย็นที่ลดการใช้ไฟถึง 40% และสตาร์ทอัพบริหารจัดการอาหารเหลือจากโรงแรม
“ล่าสุดผมก็มีการดีลลิ่งกับบริษัทสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ เขาเป็นบริษัทห้องแช่เย็น สิ่งที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีแช่เย็นของเขามันลดพลังงานได้ 40% อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากเอามาประยุกต์กับในเครือ เพราะในเครือเรามีเครื่องทำความเย็นเยอะมากๆ ถ้าเกิดลดได้ 40% จริง มันจะลดทั้งไฟฟ้าและมลพิษที่ปล่อยไปด้วย จะช่วยเรื่องคาร์บอนเครดิตและวิกฤตอาหารไปพร้อมกัน”
“หรืออีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจมากจะเป็นบริษัทที่เขาเอาอาหารจากโรงแรมมาแพคใส่กล่อง จริงๆ ก็คล้ายๆ กับที่เราทำอยู่แต่เป็นสเกลที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยคิดว่าเราจะสามารถประยุกต์ได้ไหม เพราะเราเองก็มีทั้งเบเกอรี่และครัวทำอาหารอยู่แล้ว ถ้าสามารถยกระดับให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้นได้ก็จะช่วยลด Food Waste ได้อย่างมาก”
ผู้นำหนุ่มจากรั้วโลตัสกล่าวเสริมเกี่ยวกับการเข้าร่วมงานครั้งนี้อีกว่าตนเองประทับใจพลังงานที่เกิดขึ้นตลอดทั้ง 7 วันของ One Young World มาก เพราะเวทีนี้คือพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างอย่างแท้จริง ทุกคนในงานต่างคิดใหญ่ มีเป้าหมายใหญ่ หลายคนไม่ได้มองเรื่องผลกำไรด้วยซ้ำ แต่มุ่งจะทำให้โลกดีขึ้นเป็นหัวใจหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ กรวิชญ์ อินทวงษ์ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในไทยก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เครือซีพีและโลตัสมีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้นถ้าบริษัทสามารถออกแบบโมเดลที่จะช่วยแก้วิกฤตอาหารหรือลด Food Waste ได้ ทำให้เป็นตัวอย่าง เป็นแบบแผน ก็จะกลายเป็นกรณีศึกษาที่ผู้อื่นสามารถนำไปประยุกต์ได้เช่นกัน ซึ่งหากหลากหลายองค์กรร่วมมือกันก็จะยิ่งส่งผลดีต่อประเทศอย่างมหาศาล
อากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
ปัญหาโลกร้อนเป็นประเด็นชวนตระหนักที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่มีทีท่าจะบรรเทา ซ้ำร้ายกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ซึ่งหนึ่งในแนวทางแก้ไขในระดับนานาชาติคือการส่งเสริมความรู้และวางรากฐานการใส่ใจสิ่งแวดล้อมสอดแทรกไปกับทุกกิจกรรมทั้งการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิตในต่างแดนจึงทำให้ วราลี มีนะนันทน์ หรือมินนี่ แห่งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พกพาเอาแนวคิดการออกแบบธุรกิจอย่างรอบด้านเพื่อลดการทำร้ายธรรมชาติกลับมาที่ไทยด้วย อีกทั้งยังมองหาหนทางใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อจะทำให้บ้านเราก้าวสู่สังคมที่ทุกคนเห็นคุณค่าของการรักษ์โลก และสิ่งนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกจะเดินทางไปเรียนรู้ประเด็น Climate Change เพิ่มเติมที่เวที One Young World
“มินเรียนวิศวะที่อเมริกา แล้วหลักที่สำคัญมากตอนเรียนคือเราไม่ได้แค่ออกแบบเพื่อขาย แต่เราต้องออกแบบทั้งกระบวนการว่าผลิตภัณฑ์นั้นตลอดอายุขัยของมันจะถูกใช้งานยังไง กำจัดยังไง ซึ่งอันนี้เป็นวิธีคิดกระบวนการออกแบบที่เราเห็นมาจากต่างประเทศเป็นปกติ แต่ว่าที่ไทยยังไม่ได้มีการผลักดันขนาดนั้น แล้วที่ต่างประเทศคนก็มีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็คำนึงถึงผลกระทบที่สิ่งสิ่งนั้นจะไปส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติของโลก พอเรากลับมาแล้วเห็นถุงพลาสติกเต็มไปหมด เห็นแพคเกจจิ้งต่างๆ ก็รู้สึกว่าเรามีปัญหาด้านพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากๆ เราก็เลยคิดว่าอยากทำงานในเรื่องนี้ แต่การจะทำให้สำเร็จมันต้องร่วมแรงกันทั้ง รัฐ เอกชน และผู้บริโภค”
จากความสนใจเรื่องวิกฤตอากาศเปลี่ยนแปลง วราลี มีนะนันทน์ ที่ได้รับโอกาสครั้งสำคัญจึงเดินทางไปยังเมืองเบลฟาสต์พร้อมกับหลักคิดและวิธีการที่ได้มาจากการทำงานร่วมกับกันเครือซีพีและทรู เพื่อนำไปร่วมแลกเปลี่ยนกับนานาชาติว่าในฐานะองค์กรเอกชนได้ทำอะไรบ้างเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง
อันดับแรกที่ วราลี มีนะนันทน์ เล่าให้เราฟังคือเรื่องการผลักดันองค์กรไปสู่ความยั่งยืน โดยมีพันธกิจหลักคือการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Zero Carbon) ภายในปี 2593 โดยบริษัทจะดูแลในส่วนของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดให้ห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนเรื่องของแพคเกจจิ้งที่ปัจจุบันทรูได้เปลี่ยนถุงและบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้กลายเป็นแบบที่ย่อยสลายได้เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งมีการรับเอาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อลดการสร้างมลภาวะ นอกเหนือไปกว่านั้นยังมองหาช่องทางจะลด Waste อย่างต่อเนื่อง ด้วยความตระหนักว่าทุกกิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นล้วนต้องดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้
ในส่วนถัดไปคือการผลักดันแนวคิดของการลงมือทำ กล่าวคือเครือซีพีเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีหลากหลายธุรกิจ บริษัทจึงมีความตั้งใจจะเป็นต้นแบบ ทำให้เห็นว่าการลงมือทำเพื่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้จริง ทั้งยังไม่ได้มีต้นทุนที่เกินเอื้อม ซึ่งการลงมือทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการผลักดันตลาดไปในทิศทางที่ช่วยบรรเทาปัญหา Climate Change มากขึ้นทีละน้อย แล้วสุดท้ายมันก็จะไปผลักดันภาครัฐให้เกิดการปรับตัวร่วมกัน เพราะเครือซีพีเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องเริ่มจากส่วนกลาง เอกชนและประชาชนก็สามารถเป็นผู้เริ่มต้นได้
นอกจากแง่มุมที่นำไปแลกเปลี่ยน วราลี มีนะนันทน์ ยังได้เก็บเกี่ยวเรื่องราวน่าสนใจที่ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เธอกลับมาลงมือทำในบ้านเกิด ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน หรือโซลูชั่นช่วยโลกจากพลังไอเดียของคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมบอกเล่าในงาน
“ปัจจุบันมันจะมีความน่ากังวลในเรื่องการล่มสลายของระบบนิเวศต่างๆ ทั่วโลกอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้รู้เพราะเราอยู่ค่อนข้างไกลจากธรรมชาติ แต่ประเทศแรกๆ ที่จะรับรู้และรับผลกระทบตรงนี้คือประเทศที่อยู่ใกล้ๆ และต้องพึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งหัวใจสำคัญที่เขาเน้นย้ำในปีนี้ คือ Climate Change ได้เปลี่ยนเป็นขั้น Emergency แล้ว เป็นวิกฤตแล้ว ไม่ใช่แค่ปัญหาโลกร้อน ก็คือตอนนี้ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแค่ 1-2 องศา ก็จะมีสายพันธุ์ที่ต้องสูญพันธุ์ประมาณ 100-200 สายพันธุ์ แล้วถ้าขึ้นถึง 5 องศา ก็จะเพิ่มจำนวนมากถึง 500 สายพันธุ์ ซึ่งอันนี้จะส่งผลต่อสมดุลทุกอย่าง เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์เองก็ยังเป็นแค่ส่วนประกอบเล็กๆ ภายใต้ร่มเงาที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ เรายังต้องพึ่งพาธรรมชาติอยู่ แล้วผลกระทบก็ยังเป็นอะไรที่เราประมาณการไม่ได้เลย”
“ปัจจุบันจึงมีการมองหาโซลูชั่นช่วยโลกใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่นเทรนด์อย่างหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือในส่วนของท้องทะเล หรือการศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมทางทะเล (Marine Environment Ecosystem) รวมไปถึงการทำ Marine Farming ที่จะย้ายการทำกิจกรรมทางเกษตรบนดินไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเลแทน ซึ่งจะช่วยทั้งลดความเสียหายต่อดินและยังช่วยทำให้ชายฝั่งปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผลผลิตบางอย่างที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวก็ถูกนำไปแปรรูปเพิ่มเติมได้อีก เช่นการนำสาหร่ายไปทำเป็นแพคเกจจิ้งแทนพลาสติก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมาก”
จากเรื่องราวที่ วราลี มีนะนันทน์ เล่า สะท้อนชัดว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ เหตุนี้ทางทรูในฐานะองค์กรเทคโนโลยีที่มีบทบาทในการเป็นกระบอกเสียงจึงมีความพยายามจะส่งต่อความตระหนักพร้อมช่วยวางรากฐานปลูกฝังการรักษ์โลกให้แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยคือในส่วนของ CONNEXT ED ซึ่งเป็นการเข้าไปจับมือกับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อช่วยบริหารจัดการและออกแบบหลักสูตร
“กลไกที่สำคัญของการที่จะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นจริง คือการที่เราจะให้ความรู้ ให้การศึกษา และความตระหนักรู้ในเรื่องของปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างชาติที่เราเห็นเขาประสบความสำเร็จมากคือเขาได้ทำหลักสูตรโค-พาร์ทเนอร์กับภายนอกเพื่อนำมาสอนเด็กรุ่นใหม่ด้วย ไม่ใช่บอกแค่คนวัยทำงานขึ้นไป ซึ่งถ้าเราทำหลักสูตรได้แบบ Fun Learning หรือ Activity Learning ได้มันก็จะช่วยอีกทางค่ะ”
“พลังคนรุ่นใหม่” พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่อัดแน่นด้วยแรงบันดาลใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเราลองหลับตาแล้วจินตนาการถึงอนาคตข้างหน้า หนึ่งในภาพชัดเจนที่สุดที่ปรากฏขึ้นในหัวคือวิกฤตการณ์ในด้านต่างๆ ที่จะทวีความรุนแรงไปอีกหลายขั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากเราได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่คุณภาพทั้ง เต้-กรวิชญ์ อินทวงษ์ และ มินนี่-วราลี มีนะนันทน์ ก็ทำให้ความหวาดหวั่นเบาบางลง และเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตอบของคำถามทิ้งท้ายที่เราเอ่ยถามกับทั้งสองคนว่า “คิดว่าคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร” นั้นก็ยิ่งทำให้เราเห็นสัญญาณของความหวังที่กำลังจะเบ่งบานในอนาคต
วราลี มีนะนันทน์ เอ่ยขึ้นก่อนว่า “มินคิดว่าเปลี่ยนแปลงได้มากเลยค่ะ ปัจจุบันเรามีอินเตอร์เน็ต เราไม่ได้เสพข่าวข้างเดียวแล้ว สามารถหาข้อมูลได้หลายๆ มุม ซึ่งมินก็เห็นว่าคนรุ่นใหม่เราค่อนข้างใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม และผลกระทบหลายๆ อย่างมากขึ้น ไม่ใช่แค่ Climate Change อย่างเดียว เราพร้อมตั้งคำถามกับทุกๆ อย่าง กล้าเสนอโซลูชั่นใหม่ๆ กล้าคิดนอกกรอบ ซึ่งอันนี้ก็คือ Growth Mindset และเป็นวิธีคิดที่สำคัญมาก อย่างมินเองตอนแรกก็คิดว่าอาจจะไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ก็ได้ แล้วเราที่เป็นคนรุ่นใหม่เสียงน้อยๆ จะทำอะไรได้ ปรากฏว่าการไปงานนี้ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่อายุ 20 กว่าก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลก เราแค่ต้องหาคนที่เข้าใจและเห็นสิ่งเดียวกัน เพื่อเป็นกระบอกเสียงต่อไปในสังคม แล้วมันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ จนสำเร็จ มินโชคดีที่บริษัทให้การสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น ตอนมินมาทำงานแรกๆ ที่ต้องทำกิจกรรมเพื่อทำโปรเจ็คท์ ตอนแรกมินก็คิดว่ามันต้องเป็นการลงทุนที่ไม่ให้เสียเปล่า เพราะเราคิดในแง่ของกลยุทธ์ธุรกิจ แต่ผู้ใหญ่ก็บอกเราว่าไม่ใช่ เราต้องคิดว่าเป็นการลงทุนเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อองค์กรอย่างเดียว มันเป็นอะไรที่ใหญ่กว่านั้น”
“ส่วนผมมองว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้วตอนนี้ คือการที่เราเล่นกับสื่อเป็น ปัญหาบางปัญหาที่เคยถูกซุกไว้ พอคนรุ่นใหม่ไปเจอ เรามีความกล้า เรามีความบ้า เรามีแพสชั่น เรามีสื่อในมือ เราสามารถเปิดเผยมันออกมาได้ เราทำให้โลกรับรู้ได้ว่ามันมีปัญหานี้อยู่นะ เรากำลังจะแก้มันอยู่นะ ผมว่านี่คือหนึ่งใน Energy ของคนรุ่นใหม่ แล้วผมก็มองว่าอีกสิ่งสำคัญและยังขาดไม่ได้คือพลังของผู้ใหญ่ที่เห็นค่าของคนรุ่นใหม่ เรามีแค่ Energy แต่ผู้ใหญ่เขามีความรอบคอบ มีคอนเนคชั่น มีโซลูชั่นเผื่อไว้ เหมือนเราตอนนี้ที่มีไอเดีย มีพลัง แต่เราก็ยังต้องการการซัพพอร์ทจากทีมเบื้องหลัง บางทีเรามีพลังมากเกิน เราโฟกัสที่การแก้ปัญหา แต่เราอาจจะลืมไปว่ามันจะไปกระแทกหรือกระทบอะไรบ้าง ซึ่งผู้ใหญ่ก็จะช่วยมองตรงนี้ได้อย่างรอบคอบกว่าเรา สิ่งนี้มันเป็นการขับเคลื่อนที่ดี ผมว่าคนรุ่นใหม่ควรไปกับคนรุ่นเก่า ควรจับมือกันและไปด้วยกัน แล้วปัญหาจะแก้ไขได้อย่างถาวรและยั่งยืนกว่า” กรวิชญ์ อินทวงษ์ กล่าวทิ้งท้าย