• Future Perfect
  • Articles
  • ปลัด มท. เดินหน้าแก้ปัญหาความยากจน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ปลัด มท. เดินหน้าแก้ปัญหาความยากจน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน7 พ.ย. 2566 17:10 น.

ปลัด มท. นำถกแนวทางขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนปี 2567 ภายหลังดำเนินการแก้ไขในปี 2565-2566 แล้วกว่า 11.35 ล้านปัญหา พร้อมเตรียมเดินหน้า Re X-ray ติดตามผลการแก้ไขปัญหาและสำรวจเพิ่มเติมรวมกว่า 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.45 น. ที่ห้อง War room ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการหารือแนวทางการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2565 รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้ารายครัวเรือน

โดยมีข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนรวม 619,111 ครัวเรือน จำแนกเป็น 5 ด้าน คือ 1. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2. การศึกษา และทักษะที่จำเป็น 3. สถานะทางสุขภาพ 4. คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ 5. การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม 

จากข้อมูลดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM ขึ้นเพื่อ Re X-ray สำรวจสภาพปัญหาเพิ่มเติม โดยนิยามความหมายของคำว่า “ยากจน” คือ ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่ และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง อาทิ มีบ้านแต่ไม่มีเลขที่บ้าน บ้านชำรุดทรุดโทรม ไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีคนในบ้านติดยาเสพติด เงินกู้นอกระบบ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในการสำรวจมีนายอำเภอเป็นผู้นำภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้าทำการ Re X-ray เป็นรายครัวเรือน ตามเป้าหมาย จำนวน 14,562,655 ครัวเรือน พบสภาพปัญหา 3,810,466 ครัวเรือน 12,143,656 สภาพปัญหา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนส่วนราชการและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วทั้งสิ้น 11,357,962 ปัญหา คิดเป็นร้อยละ 93.53

จากนั้น ที่ประชุมได้นำเสนอและหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการข้อมูล Big Data เพื่อให้สามารถรวบรวมสภาพปัญหา และมีระบบการติดตามการแก้ไขปัญหาในลักษณะ Real time โดย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นในการบูรณาการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเข้ากับผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและตอบโจทย์เชื่อมโยงได้ทุกมิติ 

ในขณะที่ ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร ได้นำเสนอตัวอย่างแพลตฟอร์มการรายงานข้อมูลสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านการทำประชาคมแผนในระดับชุมชนของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร 17 ชุมชน เพื่อบรรจุในเทศบัญญัติ โดยพบว่าในปี 2565 มีจำนวน 205 เรื่อง และระบบสามารถแสดงผลความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนในแต่ละชุมชนสามารถเข้าไปอัปเดตได้ทันที

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ผ่านมา เรามี Big Data ขนาดใหญ่ คือ ThaiQM ที่ได้ทำการสำรวจไว้แล้วเป็นฐานการขับเคลื่อนงาน ซึ่งหลายปัญหาก็ได้แก้ไขแล้วเสร็จ หลายปัญหาก็ได้แก้ไขสำเร็จ และเรายังพบ “สภาพปัญหาเพิ่มเติม” สิ่งสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป คือ ต้อง Re X-ray ทั้งการติดตามผลการแก้ไขปัญหาของครัวเรือนเป้าหมายเดิมที่ได้แก้ไขไปแล้ว รวมทั้งสำรวจสภาพปัญหาอีก 6 ล้านครัวเรือนเพิ่มเติม เพราะเจตนารมณ์ของคนมหาดไทยและข้าราชการทุกคน คือ “เราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind)” ซึ่งทุกวันนี้เรายังพบว่าคนในชุมชนเมืองมีสภาพปัญหามากกว่าคนในชนบท 

ดังนั้น การดำเนินการสำรวจข้อมูลความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ ใน “ระยะต้น” ขอให้กรมการปกครองได้บูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้มีข้อมูล โดยประสานเทศบาลทั่วประเทศ เพื่อให้นายกเทศมนตรีนคร นายกเทศมนตรีเมือง เป็นผู้นำในการสำรวจข้อมูลความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลทุกเรื่องควบคู่ไปกับการทำประชาคมแผนในระดับชุมชนของเทศบาล 

สำหรับใน “ระยะกลาง” ให้ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครองได้ศึกษาและพัฒนาระบบ ThaiQM โดยนำฟังก์ชันการใช้งานแฟลตฟอร์มของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารมาต่อยอด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลแก้ไขปัญหาความยากจน และแจ้งให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้เป็นแฟลตฟอร์มกลางสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อนำไปสู่ “ขั้นปลาย” คือ การพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องให้กับพี่น้องประชาชนแบบบูรณาการ ทั้งนี้ การประชาคมแผนและ Re X-ray 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มกราคม 2567

“แพลตฟอร์มการสำรวจข้อมูลที่จะได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อทำการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมนี้เป็นหลักประกันของความยั่งยืน เราต้องทำให้การสำรวจและติดตามการแก้ไขปัญหาความยากจนในแพลตฟอร์ม ThaiQM เป็น Real time ให้ได้ ทำให้กลุ่มเป้าหมาย 20 ล้านครัวเรือนมาอยู่ในฐานข้อมูล ThaiQM ได้ โดยมีประชาชนเป็นผู้นำเข้า (input) ข้อมูลในระบบได้เอง และส่วนที่สำคัญต่อมา คือ กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน และสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต้องทบทวน (review) แนวทางการพัฒนาข้อมูลการแก้ไขปัญหาความยากจนในปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้การพูดคุยและซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นไปตามเป้าหมาย ต้องสื่อสารถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจได้ เพื่อได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน 

นอกจากนี้ในส่วนของจุดอ่อนประการหนึ่งในแง่สถิติการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา คือ สภาพปัญหาความเดือดร้อนที่ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยโดยตรงหรือเกินความสามารถของพื้นที่ เช่น เรื่องปัญหาเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน หรือแม้แต่เรื่องเด็กไม่ได้เข้าเรียน หรือประชาชนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ไม่สามารถคิดเลขง่ายๆ ได้ เป็นต้น เราต้องประมวลรวบรวมและรายงานสภาพปัญหาเหล่านั้นไปยังรัฐบาล พร้อมทั้งมีระบบการติดตามสภาพปัญหาในรูปแบบชี้เป้าหมายเชิงภูมิศาสตร์ (GIS) ที่ทางรัฐบาลสามารถมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่นำไปใช้ต่อได้ และสามารถปรับปรุงข้อมูลเพื่อรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาได้ เราก็จะปิดเคสได้เพราะ “งานจะสำเร็จ” ด้วยการบูรณาการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้เร่งปรับปรุงแนวทางและพัฒนารูปแบบแพลตฟอร์มเพื่อให้การแก้ปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนในทุกมิติเกิดความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย