• Future Perfect
  • Articles
  • "Circular Fashion" เปลี่ยนกระแสแฟชั่นหมุนเร็ว ให้กลายเป็น "แฟชั่นหมุนเวียน"

"Circular Fashion" เปลี่ยนกระแสแฟชั่นหมุนเร็ว ให้กลายเป็น "แฟชั่นหมุนเวียน"

Sustainability

ความยั่งยืน2 ต.ค. 2566 08:00 น.
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอ และความนิยมของ "Fast Fashion" แม้จะสร้างสีสันให้กับผู้บริโภค แต่กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างขยะเป็นอันดับต้นๆ
  • การใช้แนวคิด "แฟชั่นหมุนเวียน" มาพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จะช่วยแก้ต้นเหตุของปัญหา "ขยะเสื้อผ้าล้นโลก" ได้
  • เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย ของแนวคิด "แฟชั่นหมุนเวียน" และแนวทางพัฒนาเพื่อมุ่งสูความยั่งยืน

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า แม้กระแสของ "Fast Fashion" จะสร้างสีสันให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น ที่ต้องการเสื้อผ้าที่โดดเด่น ในเรื่องการออกแบบ ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และเข้าถึงเทรนด์แฟชั่น ที่มีเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งต้นเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก่อเกิดมลพิษเป็นอันดับต้นๆ จากกระบวนการผลิต ไปจนถึงการทิ้งเสื้อผ้า ทำให้เกิดเป็น "ขยะสิ่งทอ" ที่มีมาก และยากจะกำจัด ทั้งยังส่งผลกระทบ ในด้านธุรกิจแฟชั่น รวมไปถึงการใช้แรงงานอีกด้วย

การจัดการกับปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นภาระกิจที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพื่อเปลี่ยนอุสาหกรรมแฟชั่นแบบเดิม ไปสู่แนวทางปฏิบัติด้านแฟชั่นที่ยั่งยืน และมีจริยธรรม โดยหนึ่งในทางเลือก ที่หลายคนนึกและคาดการณ์ว่าจะมีบทบาทสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั่นคือ การขับเคลื่อนกระแสของธุรกิจ Fast Fashion ให้กลายเป็น "แฟชั่นหมุนเวียน" ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

อุตสาหกรรมแฟชั่น สร้างวิกฤติสิ่งแวดล้อม เพิ่มปริมาณขยะสิ่งทอ

มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรืออุตสาหกรรมแฟชั่นนั้น จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงประมาณ 1.2 พันล้านตันต่อปี รวมถึงสร้างขยะมหาศาล ขณะที่ สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ยังเผยข้อมูลที่ระบุว่า เสื้อผ้าที่ผลิตจากใยฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการ ปลูกฝ้ายถึง 2,700 ลิตร 

ทำให้บางประเทศ ที่เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้า อาจต้องสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า "การที่เราซื้อเสื้อผ้า ที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์ หรือเส้นใยสังเคราะห์ ไม่ต่างอะไรจากการที่เรากำลังสวมใส่เชื้อเพลิงฟอสซิล" ซึ่งนี่เป็นเพียงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ

กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับอุสาหกรรมดังกล่าว จึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยมีแนวทางปฏิบัติมากมาย อาทิ การใช้พลังงาน ที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิต, การเลือกวัสดุที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและอย่างยั่งยืน, การขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ, เสริมสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น, การทำงานร่วมกับสถาบันการเงินและผู้กำหนดนโยบาย และการขับเคลื่อนธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

แนวคิด "แฟชั่นหมุนเวียน" แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา "ขยะเสื้อผ้าล้นโลก"

สำหรับแนวคิด แฟชั่นหมุนเวียน หรือ Circular Fashion คือ แนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ที่ประยุกต์ตามแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อลดขยะ และส่งเสริมการใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการรีไซเคิลเสื้อผ้า รวมถึงเครื่องประดับ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน และมีจริยธรรมมากขึ้น

โดยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นวงจร ในระบบการผลิตและการบริโภค นั่นคือทรัพยากรที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้า จะต้องสามารถใช้งานอย่างยาวนาน และคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดขยะแฟชั่น และการถลุงทรัพยากรโดยไม่จำเป็น เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าใหม่

ซึ่งมีหลักการ และแนวปฏิบัติง่าย เช่น การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้น้ำและพลังงานในระหว่างการผลิต การยืดอายุของเสื้อผ้าด้วยการซ่อมแซม และการอัปไซเคิล หรือการดำเนินโครงการรีไซเคิล

เทียบ ข้อดี-ข้อเสีย ของแนวคิด "แฟชั่นหมุนเวียน"

แน่นอนว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอตามแนวคิด "แฟชั่นหมุนเวียน" แม้จะดูเป็นไปได้ในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก แต่ก็มีข้อดีและข้อเสีย ที่เราควรจะพิจารณาเพิ่ม ดังนี้

ข้อดี

  1. สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม แฟชั่นหมุนเวียนจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรลดลง ลดการสกัดวัตถุดิบ เป็นต้น
  2. ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากร แนวคิดของแฟชั่นหมุนเวียน ที่ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และรีไซเคิลเสื้อผ้า ถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรอันมีค่า ไม่ว่าจะเป็น น้ำ พลังงาน หรือสิ่งทอ ที่ไม่ถูกนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าใหม่เพิ่มขึ้น
  3. ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจแฟชั่นหมุนเวียน สามารถสร้างโอกาสในการทำงานใหม่ และส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ จากการส่งเสริมบริการซ่อมแซม แพลตฟอร์มการขายต่อ และสิ่งอำนวยความสะดวกการรีไซเคิล
  4. ทำให้ขยะจากการฝังกลบลดลง การยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้า ด้วยการซ่อมแซม ขายต่อ และการรีไซเคิล ช่วยลดปริมาณขยะสิ่งทอที่ต้องนำไปฝังกลบได้

ข้อเสีย

  1. สินค้ามีจำนวนจำกัด เนื่องจากแฟชั่นแบบหมุนเวียน จะต้องอาศัยเสื้อผ้า และเครื่องประดับมือสองที่มีคุณภาพสูง จึงอาจไม่ได้เข้าถึงได้ง่าย หรือเป็นที่ต้องการเสมอไป
  2. ราคาที่สูงขึ้น ในบางกรณี สินค้าแฟชั่นหมุนเวียน อาจมีราคาสูงกว่า เมื่อเทียบกับ Fast Fashion หรือ แฟชั่นหมุนเร็ว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหา ทำความสะอาด ซ่อมแซม และอัปไซเคิล
  3. มีตัวเลือกสไตล์ที่จำกัด นอกจากนี้ สไตล์ และดีไซน์ที่มีอยู่ในแฟชั่นหมุนเวียน อาจมีจำกัด เมื่อเทียบกับ Fast Fashion ที่มักจะตามกระแส และมีตัวเลือกหลากหลาย
  4. ทัศนคติของผู้บริโภค แน่นอนว่า การเปลี่ยนไปใช้แฟชั่นหมุนเวียน จำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และทัศนคติของผู้บริโภค ที่จะต้องให้ความสำคัญ กับคุณภาพมากกว่าปริมาณ และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการเลือกเสื้อผ้ามากขึ้น แนวคิดเรื่องของแฟชั่นหมุนเวียน จึงอาจจะไม่ได้รับการยอมรับ และเป็นที่นิยม

การพัฒนาสู่ "แฟชั่นหมุนเวียน" ทำได้อย่างไรบ้าง

อยากไรก็ตาม หากพิจารณาแล้ว จะพบว่าการเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบัน ให้ดำเนินตามแนวคิด "แฟชั่นหมุนเวียน" จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนได้อย่างมหาศาล แม้อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร ในการเปลี่ยนความคิด และทัศนคติของผู้บริโภค แต่ทางผู้ผลิตเอง ก็สามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาศัยหลักการ และวิธีดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมการออกแบบที่ยั่งยืน นักออกแบบสามารถมุ่งเน้นไปที่การสร้างเสื้อผ้าที่ทนทาน โดยใช้วัสดุคุณภาพสูง และสไตล์เหนือกาลเวลา ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนบ่อยๆ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคลงทุนในเสื้อผ้าที่ทนทาน
  2. ใช้โมเดลธุรกิจแบบหมุนเวียน เช่น บริการให้เช่า การแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า และทำแพลตฟอร์มการขายต่อเสื้อผ้าของคนในสังคมได้อีกด้วย
  3. การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยการสร้างความตระหนักรู้ ในหมู่ผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่น และประโยชน์ของการหมุนเวียนของแฟชั่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกอย่างมีสติ เห็นความสำคัญของการซ่อมเสื้อผ้า บริจาค หรือขายต่อสิ่งของไม่ต้องการ เพื่อเป็นการต่อยอดมูลค่าของเสื้อผ้าเหล่านั้น
  4. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิล ลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูง ที่สามารถรีไซเคิลขยะสิ่งทอ และแปลงเป็นวัสดุใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเสื้อผ้า ที่ต้องนำไปฝังกลบ และส่งเสริมระบบปิด
  5. ร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่น ผู้ค้าปลีก ผู้กำหนดนโยบาย และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาความคิดที่ส่งเสริมการหมุนเวียนของแฟชั่น ซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม การใช้สิ่งจูงใจ และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

หากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสิ่งทอ รวมไปถึงธุรกิจเครื่องประดับต่างๆ เลือกนำกลยุทธ์ที่กล่าวข้างต้นเหล่านี้ ไปใช้ในขั้นตอนการผลิต และจัดจำหน่ายสินค้า ประกอบกับผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติ และเปิดใจกับแนวคิด และวิธีการปฏิบัติของ "แฟชั่นหมุนเวียน" ได้ เชื่อว่าก็จะช่วยให้โลกของเรา สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน และลดปัญสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน.