• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จัก Green City "เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน" แนวคิดพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง

รู้จัก Green City "เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน" แนวคิดพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง

Sustainability

ความยั่งยืน19 ก.ย. 2566 18:02 น.

รู้จัก "เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City)" แนวคิดพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง

ประเทศไทยตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065-2070 ตามแนวนโยบายแผนพลังงานชาติ ของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประกอบกับในปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยคาดว่าในปี 2026 ประเทศไทยจะมีประชากรที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัย และกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไปพร้อมๆ กับ "สิ่งแวดล้อม"

เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

สำหรับ เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) ถือเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้เมืองและสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน มีเป้าหมายหลักคือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานและพัฒนา โดยมีองค์ประกอบ 4 ด้าน และตัวชี้วัดในการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จะจัดพิธีมอบรางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ดังนี้

1. เมืองอยู่ดี 

คือการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม โครงสร้างพื้นฐานเพียงพอสำหรับคนทุกกลุ่ม มีความมั่นคง ด้านที่อยู่อาศัยปลอดภัย และเศรษฐกิจมั่นคง โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้

  • การกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ที่ดินตามบริบทของเมือง
  • การพัฒยาเมืองและชุมชนให้เป็นไปตามผังเมืองรวม
  • การพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม และเหมาะสมกับผู้ใช้ประโยชน์
  • การยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส
  • การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ใสนชีวิตประจำวัน
  • การจัดการภัยพิบัติ และสาธารณภัย
  • การป้องกัน และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัย์สิน

2. คนมีสุข 

สุขภาพดีถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้คนในเมือง ครอบคลุมการรักษา รวมทั้งส่งเสริมด้านการศึกษา นอกจากนี้ทุกคนจะต้องได้รับสวัสดิการ และการพิทักษ์สิทธิที่เหมาะสมและเท่าเทียม มีกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ดำรงประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้

  • การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของคนในเมือง
  • การคุ้มครองสุขภาพอนามัย
  • การส่งเสริมการศึกษาอย่างหลากหลาย และเท่าเทียม
  • การจัดสวัสดิการที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน
  • การป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุรา บุหรี่ ยาเสพติด และอบายมุข
  • การส่งเสริมความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ความสามัคคี และเอื้ออาทร ระหว่างคนในชุมชน
  • การส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม
  • การพิทักษ์สิทธิของเยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
  • การอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น


3. สิ่งแวดล้อมยั่งยืน 

ทรัพยากรธรรมชาติมีความสมบูรณ์ มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอ ภูมิทัศน์สวยงาม ของเสียหรือมลพิษถูกจัดการอย่างเหมาะสม และประชาชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้

  • การดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงไว้ซึ่งระบบนิเวศที่ดี
  • การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจร และเหมาะสม
  • การจัดการน้ำเสีย หรือมลพิษทางอากาศอย่างเหมาะสม
  • การอนุรักษ์ และพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต
  • การปรับภูมิทัศน์เมืองให้มีความสวยงาม และสอดคล้องกับสภาพเมือง
  • การส่งเสริมการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การส่งเสริมการใช้พลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

4. เทศบาลแห่งการเรียนรู้ และการบริหารจัดการที่ดี 

มีวิสัยทัศน์ และแผนงานชัดเจน บุคลากรมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญระบบการทำงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมการบริหารจัดการที่ดี และมีนวัตกรรมการพัฒนาเมือง โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้

  • การกำหนดวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ พร้อมแปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
  • การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรอบรู้ และเชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบ
  • การสร้างองค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
  • การสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อม และบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดี
  • การส่งเสริมให้ผู้บริหาร และบุคลากรมีคุณธรรมจริยธรรมในการบริหาร และทำงานตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมขององค์กรปกครองท้องถิ่น
  • การมีกระบวนการตอบสนองให้การบริการขอรับบริการ และการจัดการข้อร้องเรียนของประชาชนอย่งครบถ้วนเป็นระบบ
  • การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และผลงานของเทศบาล
  • ความร่วมมือในการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่น
  • การจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย การลดรายจ่าย หรือความพยายามในการหารายได้อื่น
  • ความพยายามในการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามคาดการณ์ และมีเหตุผลอันควรในการโอนงบประมาณ
  • นวัตกรรมด้านต่างๆ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบทั้ง 4 มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่า แนวคิดการพัฒนา "เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน" นี้เป็นแนวคิดที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ และมีความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการ ทั้งการใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบาย การพัฒนาท้องถิ่น และเป็นกรอบในการดำเนินงานพัฒนาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions).